ตราดวิกฤตส่งออก “ไม้กฤษณา” สภาอุตฯ ชงศุลกากรลดภาษี 40% เหลือ 0%

สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราดชง ส.อ.ท.ผลักดันกรมศุลกากร “ลดภาษี” ส่งออก “ไม้กฤษณา” จาก 40% ให้เหลือ 0% เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันกับมาเลย์-อินโดฯ-ฟิลิปปินส์ เก็บอัตรา 0% แก้วิกฤตส่งออกซบ ราคาน้ำมันกฤษณาดิ่ง 50-60%ต่อเนื่องมา 4 ปี พร้อมหนุนกลุ่มคลัสเตอร์ไม้กฤษณา จ.ตราด สร้างมาตรฐานคุณภาพหวังเพิ่มมูลค่าน้ำมันกฤษณา

นายสุทธิลักษณ์ คุ้มครองรักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตราด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดตราดเป็นแหล่งผลิตน้ำมันกฤษณาใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกประมาณ 4.1 ล้านต้น มูลค่าส่งออกน้ำมันกฤษณา ประมาณ 5,000 ล้านบาท/ปี

แต่ปัญหาราคาน้ำมันกฤษณาได้ลดลงตั้งแต่ช่วงปี 2560 และมีผลชัดเจนช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทั้ง 2 รอบ และเมื่อต้นปี 2564 กรมศุลกากรได้ปรับการจัดเก็บภาษีส่งออกไม้กฤษณาไปประเทศจีนสูงถึง 40% เป็นอัตราที่สูงมาก

ผู้ประกอบการค้าประสบกับภาวะขาดทุนไม่สามารถส่งออกได้ สภาอุตสาหกรรม จ.ตราดจึงเสนอเรื่องผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขอให้กรมศุลกากรจัดเก็บภาษีในอัตรา 0% เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

เนื่องจากกรมศุลกากรเรียกเก็บภาษีส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มาจากไม้กฤษณา อยู่ในประเภท 5 ภาค 3 แห่งพระราชกำหนดพิกัดศุลกากร พ.ศ. 2530 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484

โดยกรมวิชาการเกษตรได้อนุญาตให้ไม้กฤษณาที่ส่งออกขึ้นทะเบียนได้ถูกต้องกับกรมวิชาการเกษตรตามอนุสัญญาไซเตส (CITES) ไม่ใช่มาจากป่าหวงห้าม และมีใบรับรองปลอดศัตรูพืช (Phytosanitary certificate : PC)

จากข้อมูลศุลกากร มูลค่าส่งออกชิ้นไม้เดือนมกราคม 2564 มีมูลค่า 914,962 บาท จากปี 2560 มูลค่าการส่งออก 49,048,605 บาทปี 2561 มูลค่า 18,705,492บาท ปี 2562 มูลค่า 19,171,890 บาท และปี 2563 มูลค่า 23,118,008 บาท

สภาอุตสาหกรรม จ.ตราดเสนอผ่าน ส.อ.ท. ให้กรมศุลกากรจัดเก็บภาษีไม้กฤษณา แบ่งเป็น 5 ประเภท คือ ไม้ชิ้น ไม้สับ ขี้เลื่อยผงไม้-ที่ยังไม่ได้สกัดน้ำมัน และที่ผ่านการสกัดน้ำมันแล้ว

และไม้สับขาวหรือไม้ท่อนขาวในอัตรา 0% ซึ่งมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เก็บอัตรา 0% เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านการตลาดและให้เกษตรกรมีรายได้จากมูลค่าไม้กฤษณา

จากการส่งออกปี 2560 มีมูลค่าปีละเกือบ 50 ล้านบาท ซึ่งชิ้นไม้สับขาวเริ่มมีการส่งออกปี 2560-2561 แต่ปี 2564 เพิ่งจัดเก็บภาษีศุลกากรอัตรา 40% ของมูลค่าสินค้า โดยวิธีคำนวณไม้กฤษณา จำนวน 5,000 กิโลกรัม อัตรากิโลกรัมละ 10 บาท มูลค่า 50,000 บาท จะเสียภาษีสูงถึง 20,000 บาท

ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถส่งออกได้ ไม้กฤษณาประเภทไม้สับขาวส่งออกมากที่สุด เป็นเศษไม้สับคัดแยกเอาส่วนที่มียางเนื้อไม้ที่สกัดน้ำมันออกแล้วเหลือทิ้ง แต่ละโรงงานมีตั้งแต่ 1,000-10,000 ตัน โดยมีผู้รับซื้อต่างประเทศราคากิโลกรัมละ 3 บาท เพื่อนำไปสกัดเพิ่มมูลค่า

“ทั้งนี้ ได้นำเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการกฎหมายและภาษีอากร และคณะกรรมการส่งเสริมสายงานจังหวัดของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564

ซึ่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะเร่งดำเนินการเสนอให้ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร พิจารณาลดอัตราภาษีจาก 40% เหลือ 0% น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน

ทั้งนี้ เพื่อขยายช่องทางการส่งออกชิ้นไม้กฤษณาได้มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ ประธานวิสาหกิจชุมชน ชมรมไม้กฤษณา (ไม้หอม) แห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิก 200,392 คน ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาเช่นเดียวกัน

เนื่องจากผู้ประกอบการไม้กฤษณาได้รับความเดือดร้อนและมีผลกระทบต่อเกษตรกร โดยเฉพาะในภาวะโควิด-19” นายสุทธิลักษณ์กล่าว

นายสุทธิลักษณ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับราคาน้ำมันกฤษณาได้ปรับลดลงตั้งแต่ปี 2560 ราคาโตร่าละ 2,700-3,000 บาท (โตร่า เป็นหน่วยที่ใช้เรียกน้ำมันกฤษณา มีปริมาณ 12 กรัม) ปี 2561 โตร่าละ 2,000-2,500 บาท ปี 2562 โตร่าละ 1,700-1,900 บาท และปี 2563-2564 ที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 เหลือเพียงโตร่าละ 1,100-1,200 บาท

ซึ่งที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรม จ.ตราดได้สนับสนุนให้กลุ่มคลัสเตอร์ไม้กฤษณา จ.ตราด จัดตั้งเป็นสมาคม และเสนอให้มีการขึ้นทะเบียนสารสกัดน้ำมันกฤษณา และขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)

โดยมีใบรับรองมาตรฐานส่งออกตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อถือให้มาตรฐานสินค้าและไม่ให้ถูกกดราคา ที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งสมาคมการค้าน้ำมันกฤษณาไทย และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้เห็นชอบ มอก.แล้ว อยู่ในระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ขณะนี้ด้านการตลาดยังติดสถานการณ์โควิด-19 ชาวต่างประเทศยังเข้ามาประเทศไทยไม่ได้ และยังส่งออกไม่ได้ มีแต่พ่อค้าชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยมาซื้อจำนวนน้อย ตลาดไม่มีการแข่งขัน

จึงเป็นลักษณะการกดราคา ผู้ประกอบการรายย่อยจำเป็นต้องขายแม้จะได้ราคาต่ำ เพราะต้องใช้เงินทุนมาหมุนเวียนและจ่ายค่าจ้างแรงงาน

แหล่งข่าวจากสมาคมการค้าน้ำมันกฤษณาไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ทำไม้กฤษณา จ.ตราด มี 3 ประเภท คือ เกษตรกรปลูกไม้กฤษณา เกษตรกรซื้อไปแปรรูปน้ำมัน เกษตรกรที่ปลูก ซื้อ แปรรูป สถานการณ์โควิด-19ผู้ซื้อรายใหญ่ ๆ จากโอมาน อาหรับ ตะวันออกกลาง เข้ามาซื้อไม่ได้ ไทยนำสินค้าไปขายต่างประเทศไม่ได้เหมือนทุก ๆ ปี

การค้าออนไลน์หยุดชะงัก เพราะสายการบินบางประเทศหยุดให้บริการ ที่มีบริการค่าขนส่งแพง ราคาน้ำมันกฤษณาเกรดทั่ว ๆ ไปราคาโตร่าละ 2,000-2,100 บาท เหลือเพียงโตร่าละ 1,200-1,300 บาท พ่อค้าต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยซื้อไปกักตุนไว้แบบกดราคา


ปริมาณซื้อครั้งละ 5-10 โตร่า บางราย 1-2 โตร่าเท่านั้น ผู้ประกอบการโรงต้มรายย่อยขายเพื่อนำเงินไปใช้เป็นทุนหมุนเวียน ตอนนี้โรงต้มปิดตัวลงไปถึง 60-70%