ผู้ส่งออกทุเรียนยื่น 4 ข้อเสนอรัฐ แก้ปมทุเรียนอ่อน หยุดซื้อชั่วคราว 8-15 เม.ย.

ผู้ส่งออกทุเรียนป่วนยื่น 4 ข้อเสนอรัฐ แก้ปม ทุเรียนอ่อน พร้อมหยุดซื้อชั่วคราว 8-15 เม.ย.นี้

ผู้สื่อข่าว ”ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในการประชุมสมาคมผู้ส่งออกทุเรียน มังคุด (DMA) วานนี้ (4 เม.ย. 2564) เรื่องมาตรการคุณภาพทุเรียนเพื่อการส่งออก “นายภาณุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ทุเรียนภาคตะวันออกประสบปัญหาตรวจพบทุเรียนอ่อนจำนวนมาก และจากการดำเนินงานที่ภาครัฐเข้ามาตรวจสอบล้งต่าง ๆ มีการจับกุมดำเนินคดีแล้วหลายราย

เพื่อป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด การควบคุมคุณภาพส่งออก ตามนโยบาบภาครัฐและจังหวัด ซึ่งจะทำให้ราคาตกต่ำ จึงได้ประชุมสมาชิกสมาคมโรงคัดบรรจุ และภาคเกษตรกรกว่า 100 ราย หารือถึงปัญหาและการส่งออกทุเรียนคุณภาพ โดยสรุปปัญหามี 3-4 ประเด็น และที่ประชุมมีมติให้หยุดการรับซื้อทุเรียนชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 8-15 เมษายนนี้ ยื่นหน่วยงานพิจารณาหาทางออกวันที่ 8 เมษายนนี้

ปัญหาสำคัญคือ ทุเรียนอ่อนและการส่งออกทุเรียน ผู้ประกอบการแจ้งว่าตลาดการรับซื้อส่งออกทุเรียนของโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ที่ต้องการให้หน่วยงานที่ตรวจสอบหาทางออกร่วมกัน คือ 1) เปอร์เซ็นต์แป้งหมอนทองมาตรฐาน 32% นั้นเห็นด้วย แต่สภาพอากาศแปรปรวนผลผลิตปีนี้ออกหลายรุ่น การแตกใบอ่อนมีผลต่อ % แป้ง ซึ่งเชิงปฏิบัติมีปัญหาการวัดเปอร์เซ็นต์เนื้อแป้งไม่ผ่าน ต้องการให้ดูที่เจตนาของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ หากเนื้อเหลือง หวาน ควรลดลงมา 28%-32%

2) การยกเลิกข้อกำหนดทุเรียนส่งออก ต้องซื้อจากสวนที่ผ่านการรับรองมีใบ GAP ไปก่อนจนกว่าเกษตรกรจะสามารถทำได้ 100% เนื่องจากการกำหนดทุเรียน 5 ไร่ต่อตู้ ต้องมีใบรับรอง GAP นำมาซึ่งการสวมสิทธิ์และมีปัญหาทางการปฏิบัติ 3) การตรวจตู้-ปิดตู้ใช้เวลานานทำให้ทุเรียนเสียหาย เจ้าหน้าที่มีกำลังไม่เพียงพอกับจำนวนล้งที่มีมากกว่า 500 ล้ง

และ 4) การสุ่มตัวอย่างตรวจทุเรียนอ่อน เป็นการเจาะจงมากกว่า และ 5) มติที่ประชุมจะหยุดการซื้อทุเรียนชั่วคราว 8-15 เมษายน 2564 เพื่อลดปัญหาทุเรียนอ่อน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาข้อเสนอทั้ง 4 ข้อ

“การหยุดซื้อช่วงระหว่างวันที่ 8-15 เมษายน 2564 ล้งที่ทำสัญญา วางมัดจำกับชาวสวนไว้แล้ว ต้องรีบเคลียร์ภายใน 3 วัน มีทั้งสวน จ.ระยอง จันทบุรี ตราด ส่วนล้งที่ยังมีของไม่เต็มตู้ สมาชิกด้วยกันจะแบ่งทุเรียนให้รับซื้อได้ 3-5 ตันตามราคาตลาด เพื่อบรรจุให้เต็มตู้ กำหนดวันเก็บเกี่ยวหมอนทองวันที่ 10 เมษายน ถ้าตัดก่อนหน้านี้ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ตรวจแป้ง จริงๆ แล้วทุเรียนยังออกสู่ตลาดไม่มาก

จากนี้ไปจะมีการนำเสนอมติที่ประชุมให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ. 6) เกษตรจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบให้เร็วที่สุดภายในวันที่ 8 เมษายนนี้ เพื่อพิจารณาแก้ไขข้อเสนอสมาคม เพราะโรงคัดบรรจุได้รับความเดือดร้อนกันจริง ๆ และมีผลกระทบเชื่อมโยงไปถึงเกษตรกรด้วย” นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุดกล่าว

นายทรงกฤช ศรีเทวินทร์ ผู้ประกอบการกลุ่มรับซื้อไทยมงกุฎกรุ๊ปกล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีเปอร์เซ็นต์แป้ง 32% ถ้าส่งออกจำนวนมาก กลุ่มรับซื้อไทยมงกุฎกรุ๊ปมี 14 ล้งทำ ถ้าส่งออกวันละ 140 ตู้ไม่มีปัญหาตลาดปลายทาง ถ้าส่งออกมากวันละ 200 ตู้ เมื่อถึงตลาดปลายทางขายไม่หมดในวันเดียว ทุเรียนแตกเสียหายขาดทุน ต้องมาชะลอการซื้อจากวันละ 3 ตู้ เหลือวันละ 1 ตู้ ส่วนการสุ่มตรวจทุเรียนอ่อน เจ้าหน้าที่สุ่มตรวจขอให้สุ่มจริง ๆ ขออย่าเจาะจงเลือก

นายมณฑล ปริวัฒน์ นายกสมาคมการค้ายุคใหม่ กล่าวว่า การให้แต่ละสวนต้องผ่านมาตรฐาน GAP เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ชาวสวนยังมีไม่ครบ 100% มีประมาณ 70% บางคนมีแต่ไม่ครอบคลุมทั้งแปลง และเกณฑ์ 5 ไร่ต่อ 1 ตู้ ถือเป็นแนวทางปฎิบัติที่ยุ่งยาก ทำให้เกิดปัญหาการนำมาสวมสิทธิ์ หรือเวียนไปใช้ ควรยกเลิกไปก่อน ตอนนี้ทุเรียนเพิ่งออก 5%, วันที่ 10 เมษายน ออกเพียง 15% แต่ใบ GAP นำไปใช้มีปัญหาการสวมสิทธิ์ เกษตรกรบางรายมี GAP แต่ไม่ครอบคลุมทั้งแปลง

ทางด้าน นายชลธี นุ่มหนู ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ. 6) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจทุเรียนส่งออกโรงคัดบรรจุหลายแห่งพบทุเรียนอ่อน โดยที่สีและหนามได้แต่เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ หรือครบกำหนดวัน แต่ยังตัดไม่ได้นั้น การนับอายุวัน สีเนื้อหรือลักษณะภายนอกใช้เป็นตัวตัดสินความอ่อนแก่ของทุเรียนไม่ได้ เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการสุกแก่ของทุเรียน จึงต้องใช้การวัดค่าเปอร์เซ็นต์แป้งหรือเปอร์เซ็นน้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนมาเป็นเกณฑ์ตัดสิน

และการตรวจวัดผ่าน 2 ใน 3 ปีนี้อากาศแปรปรวนการสะสมแป้งและน้ำตาลของทุเรียนช้าลง และชาวสวนบางรายใช้กรดอมิโนบางชนิดฉีดพ่นเร่งสี แต่ไม่ได้ทำให้เกิดการสะสมแป้งและน้ำตาล การกำหนดเปอร์เซ็นต์แป้งของทุเรียนเป็นมาตรฐานเกณฑ์ขั้นต่ำไม่ควรให้ต่ำกว่านี้ เพราะนั่นคือความด้อยคุณภาพของทุเรียนไทยในสงครามทุเรียนโลก

เร็ว ๆ นี้ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจฯ ของจังหวัดจันทบุรี ร่วมกับชุดปฏิบัติการฯ ของอำเภอท่าใหม่ เข้าตรวจสอบทุเรียนพันธุ์หมอนทองในล้ง รับซื้อทุเรียนส่งออกในบริเวณตลาดเนินสูง หลังจากที่เจ้าหน้าที่ของ สวพ.6 ได้ตรวจ % น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนแล้วมี % น้ำหนักแห้ง 15 และ 27% ซึ่งชุดปฏิบัติการฯ ได้ให้มือคัดของล้งคัดทุเรียนอ่อนจำนวน 300 ลูก 989 กิโลกรัม และเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการฯ ได้พ่นสีทำตำหนิและได้นำส่ง สภ.ท่าใหม่ เพื่อดำเนินคดีที่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 และตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47

“จากปัญหาทุเรียนอ่อนที่ตรวจพบจำนวนมาก สวพ.6 ขอความร่วมมือสมาคมผู้ประกออบการส่งออกทุเรียน มังคุดช่วยควบคุมไม่ซื้อ ไม่ตัดทุเรียนอ่อน ไม่ใช่เป็นการสั่งการให้หยุดรับซื้อ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือหน่วยงานอื่น หน้าที่ สวพ.6 คือตรวจอบควบคุมคุณภาพทุเรียนในโรงคัดบรรจุป้องการการส่งออกทุเรียนอ่อนที่ทำลายตลาดทุเรียนไทย และคาดว่าทุเรียนในวันที่ 5-7 เมษายน ล้งที่รับเหมาจะรีบตัด เพราะส่วนใหญ่จะหมดสัญญาวันที่ 15 เมษายน และการประกาศหยุดวันที่ 8-15 เมษายนเป็นช่วงสงกรานต์ ส่วนใหญ่ล้งหยุดเป็นปกติ เพราะไม่มีคนงาน” ผอ.ชลธีกล่าว

วันที่ 6 เมษายน คณะทำงานจังหวัดจันทบุรี และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง นำโดย นายฤหัส ไชยศักดิ์ รองผวจ.สส.จันทบุรีเขต 1 ดร.ฐนภัทร กิตติวงศา นายเฉลิม ศักดิ์คำนายกเทศบาลเมืองท่าช้าง นายชลธี นุ่มหนู ผอ.สวพ.6 นางปัทมา นามวงศ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี นายภาณุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนมังคุด นายมณฑล ปริวัฒน์ นายกสมาคมการค้ายุคใหม่ พร้อมตัวแทนจากองค์กร เกษตรกร

ได้ประชุมเพื่อนำเสนอปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ จากการทำงานในล้งทุเรียนเพื่อการส่งออก และมีข้อตกลงให้ขั้นตอนปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ว่าด้วยการ ตรวจคุณภาพทุเรียนอ่อน การตรวจปล่อยตู้ ให้มีความยืดหยุ่นและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีความพร้อมในการรับซื้อทุเรียนจากการเกษตรกรอย่างเต็มประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น


ที่ประชุมมีมติว่ารับตามข้อตกลงสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุดจึงประกาศยกเลิกมติการหยุดรับซื้อทุเรียน 8-15 เมษายน 2564 ให้ทุกล้งรับซื้อทุเรียนตามปกติ แต่ยังคงรักษามาตรฐานการตัดทุเรียน % แก่ตามกำหนด เพื่อรักษาคุณภาพทุเรียนต่อไป รวมถึงขอความร่วมมือให้เกษตกรยื่นใบรับรองสวน GAP ในการซื้อขายทุกครั้ง