วิเชียร เจนตระกูลโรจน์ ประธานหอฯกาญจน์คนใหม่ ผนึกพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

สัมภาษณ์

ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ “วิเชียร เจนตระกูลโรจน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีฟ้าโฟรเซนฟู้ด จำกัด จ.กาญจนบุรี ผู้ผลิตและจำหน่ายเบเกอรี่รายใหญ่ ได้ก้าวขึ้นมา “รับไม้ต่อ” ในฐานะ “ประธานหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี” คนใหม่ แทน “บุญชู วิวัฒนาทร” ที่เพิ่งจะครบวาระไป ได้ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงภาระอันหนักหน่วง พร้อมการเปลี่ยนองคาพยพองค์กรใหม่

นโยบายและงานเร่งด่วน

การทำงานในหอการค้ากาญจนบุรีถือว่าเป็นบทบาทสำคัญ เพราะต้องดูแลผู้ประกอบการตั้งแต่ขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดใหญ่ รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในจังหวัด ดังนั้น ในช่วง 3 เดือนแรกได้มีการวางแผนปรับโครงสร้างขององค์กรให้มีความแข็งแรงมากขึ้น แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.จัดโครงสร้างใหม่ ปรับปรุงวิธีการทำงาน โดยสมาชิกที่มานั่งในตำแหน่งรองประธานหอการค้ามีหน้าที่รับผิดชอบงานในแต่ละสายอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อไปประชุมเรื่องต่าง ๆ ต้องสรุปประเด็นรายงานให้ที่ประชุมรับทราบ 2.ดึงทายาทสมาชิกของหอการค้า ซึ่งเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันในนาม Young Enterpreneur Chamber of Commerce-YEC มาทำงานร่วมกับคณะกรรมการหอการค้าชุดปัจจุบันในทีมงานทุกชุด โดยให้ YEC เลือกสายงานตามความสนใจ ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้จะต้องก้าวขึ้นมาสานต่องานจากกรรมการหอการค้าในอนาคต 3.จัดระบบหลังบ้านเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดเก็บข้อมูล

รวมถึงจัดระเบียบการจัดเก็บเอกสาร เช่น การทำโครงสร้างในเว็บไซต์ เพื่อให้สมาชิกสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ และเปิดกว้างให้ประชาชนได้รับรู้ข่าวสาร 4.ตกแต่งสำนักงานหอการค้าให้ทันสมัยมากขึ้น เนื่องจากสำนักงานถูกใช้งานมาไม่น้อยกว่า 30 ปี

ทั้งหมดเพื่อทำให้หอการค้าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการเชื่อมโยงการทำงานกับสมาชิก เพื่อผลักดันโครงการต่าง ๆ ไปร่วมมือกับภาครัฐ

หอการค้ากาญจนบุรีในยุคหน้านี้ จะเป็นหอการค้าที่จะต้องจับมือกับภาคเอกชน สมาคม องค์กรในจังหวัดกาญจนบุรี ทั้งสภาอุตสาหกรรม องค์กรด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ ในจังหวัด เพื่อผนึกกำลังในการทำงาน ผลักดันนโยบายต่าง ๆ ในนามจังหวัด อะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์ส่วนรวมขอให้พูดเป็นเสียงเดียวกัน การเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐจะมีความแข็งแรง

ผลกระทบโควิด-19

โควิด-19 ระบาดรอบแรก กาญจนบุรีกระทบมากที่สุดด้านการท่องเที่ยว จากข้อมูลสำนักงานสถิติ หรือสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา (ททท.) ปี 2562 ระบุว่า มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวเมืองกาญจน์ประมาณ 7 ล้านคน โดยใช้จ่ายเฉลี่ย 800-1,000 บาท/คน รวมรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท แต่เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้เท่ากับ 0 บาท โดยเฉพาะเมื่อมีการล็อกดาวน์ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ โรงแรม รีสอร์ตถูกยกเลิกหมด กระทบถึงร้านอาหาร ร้านของฝากของที่ระลึก ร้านกาแฟ โดนหมด

หลังจากการคลายล็อกดาวน์เดือนกรกฎาคม 2563 คนยังอยู่ในความกลัวที่จะเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะเครื่องบิน คนนิยมเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถยนต์ส่วนตัว และรถตู้เพิ่มขึ้น และมองหาสถานที่ท่องเที่ยวในรัศมี 100 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ทำให้นิยมหลังจากโควิดรอบแรกเบาบางลง จังหวัดกาญจนบุรีได้รับการโหวตมีคนเดินทางมาท่องเที่ยวมากเป็นพิเศษอันดับ 1 เพราะว่ากาญจน์มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวอยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศ ป่า ภูเขา อากาศปลอดโปร่ง แต่หลายปีที่ผ่านมา คนที่มาเที่ยวเมืองกาญจน์กลับอยู่อันดับ 10 กว่าของประเทศ ลูกค้าหลักที่มาท่องเที่ยวเป็นคนไทย มีชาวต่างชาติบ้างเล็กน้อย

แต่เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง ช่วงวันที่ 19 ธันวาคม 2563 ที่จังหวัดสมุทรสาครถูกประกาศเป็นพื้นที่สีแดงภายใน 3 วัน จังหวัดกาญจนบุรียังไม่ได้เป็นพื้นที่สีแดง แต่การท่องเที่ยวกลายเป็น 0 บาท เพราะถูกยกเลิกหมด ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวลง ทำให้กำลังซื้อของคนลดน้อยลงด้วย และการระบาดรอบ 2 ประชาชนไม่กักตุนสินค้าในการอุปโภคบริโภคเหมือนการระบาดระลอกแรก จะซื้อเท่าที่จำเป็น การกลับมาของเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกสองล่าช้ากว่าเดิม เพราะตอนนี้เงินไม่หมุนเวียน คนเก็บเงินไว้มากขึ้น การลงทุนชะลอตัว แต่ภาพรวมค่อย ๆ ดีขึ้น คนยังคงตั้งการ์ดอยู่เท่าเดิม โครงการจากรัฐบาลก็ช่วยได้บ้าง แต่ก็ยังไม่กระเตื้องขึ้น อย่างเราเที่ยวด้วยกันก็คือการดึงคนชนชั้นกลางที่พอมีเงินไปเที่ยว

แต่การระบาดรอบล่าสุดตอนนี้กำลังซื้อภายในจังหวัดได้รับผลกระทบไม่มากนัก ประมาณ 10% ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบชัดเจน คือ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว โดยโรงแรม รีสอร์ตถูกยกเลิกการจองที่พักในช่วงวันหยุดสงกรานต์ประมาณ 10% ส่วนกิจกรรมวันสงกรานต์ที่จังหวัดจะจัดขึ้นถูกยกเลิกทั้งหมดในตอนนี้

การช่วยเหลือสมาชิก

สำหรับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกได้รับผลกระทบหมด ค่อนข้างแรง หอการค้าช่วยอะไรได้ไม่มาก นอกจากการให้ความรู้ ติดอาวุธให้ผู้ประกอบการจัดกิจกรรมเหล่านี้ให้มากขึ้น ส่วนมาตรการช่วยเหลือด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่ผ่านมามีสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ขอได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะติดเงื่อนไขต่าง ๆ ก็มีการหารือกันอยากให้หอการค้าผลักดันเรื่องให้ภาครัฐผ่อนปรนเงื่อนไขต่าง ๆ ลงบ้าง ต้องไปแก้ระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำหรับมาตรการเรื่องโกดังพักหนี้ที่ออกมาคงต้องรอดูรายละเอียดของกฎหมายที่จะออกมาอีกที

หอการค้ามีหลายบทบาท นอกจากการช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของ SMEs ที่เป็นสมาชิกแล้ว อีกมุมหนึ่งหอการค้าต้องไปติดตามเรื่องของภาครัฐว่าออกกฎระเบียบอะไรมา หรือภาครัฐจะสนับสนุนอะไร หอการค้าจะเข้าไปช่วยให้สมาชิกได้รับทราบ เพื่อเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เช่น การส่งเสริมสินค้าชุมชน บทบาทที่จะไปช่วยเกื้อหนุนทางด้านแนวคิด ตัวผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การตลาด รวมถึงการเอื้อเฟื้อให้สมาชิกสามารถดำเนินธุรกิจไปได้อย่างราบรื่น ช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดกาญจนบุรี ไปได้อย่างมีการเจริญเติบโตและมั่นคง