ตราดจี้จัดโซนจับหอยเม่น หวั่นทำลายระบบนิเวศพัง

“เกาะกูด” ตราด หวั่นกระแส นักท่องเที่ยวแห่ลิ้มลอง “หอยเม่น” ตัวละ50-100 บาท นายก อบต.ค้านจับขายเชิงธุรกิจ กลุ่มอนุรักษ์เตรียมประชาคมหมู่บ้านหาทางออก กำหนดโซนนิ่งของแต่ละหมู่บ้านแบบสมดุล

นายเดชาธร จันทร์อบ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะกูด อ.เกาะกูด จ.ตราด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวไทยโพสต์คลิปวิดีโอ แนะนำเมนูหอยเม่นที่เกาะกูด จังหวัดตราด เกรงว่าอาจจะมีกระแสนิยมรับประทานหอยเม่นแพร่ออกไปกว้างขวาง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบเชิงนิเวศในทะเล เพราะหอยเม่นช่วยกำจัดน้ำและของเสียในทะเล หรือหากจับมาบริโภคมาก ๆ อาจจะทำให้สูญพันธุ์ได้เพราะนิยมบริโภคไข่หอยเม่น

ทั้งนี้ อบต.เกาะกูดได้มีหนังสือ การพูดคุยขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการร้านอาหาร นักดำน้ำ ให้งดการจับหอยเม่นให้นักท่องเที่ยวบริโภคสดเป็นเชิงธุรกิจ ซึ่งหลังจากการขอความร่วมมือ ผู้ประกอบการร้านอาหารประเภทซีฟู้ดที่มีขายอยู่จำนวนไม่มากนักให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ยังต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ชาวประมง เนื่องจากหอยเม่นพบอยู่ทั่วไปทุกหมู่บ้าน รวมทั้งการเผยแพร่ทางโซเชียลที่ทำให้เกิดกระแสต้องการลิ้มลอง

“พื้นที่เกาะกูดไม่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ไม่มีกฎหมายห้าม ควบคุมกำหนดโทษ ไม่มีหน่วยงานทางการประมง และหอยเม่นไม่ใช่สัตว์สงวนห้ามจับ ห้ามมีไว้ในครอบครอง มีเพียงธรรมนูญเกาะกูดที่ไม่ใช่กฎหมาย ไม่มีบทลงโทษ อาศัยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของอำเภอตักเตือน และขอความร่วมมือ

หอยเม่นพบทั่วไปเขตชายฝั่งรอบเกาะที่มีจำนวนมาก คือ หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 6 แหล่งอาศัยอยู่ในเขตดำน้ำดูปะการัง บริเวณอ่าว เกาะห่างไกล การควบคุมจึงเป็นไปค่อนข้างยาก ความนิยมลิ้มลองหอยเม่นที่มีไข่มาจากกระแสโลกโซเชียล เริ่มจากนักท่องเที่ยวจีน ญี่ปุ่น มาถึงนักท่องเที่ยวไทยมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอช่วง 2 เดือนที่แล้ว ทำให้ร้านอาหารซีฟู้ดบางแห่งจับหอยเม่นที่มีไข่มาขังไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว หรือมีเรือบริการไปกินที่เกาะ จากที่ไม่มีราคาซื้อขาย ขายได้ตัวละ 50 บาท หรือ100 บาท” นายเดชาธรกล่าว

ทางด้านชาวบ้านท้องถิ่นเกาะกูดหมู่ที่ 3 ต.เกาะกูด กล่าวว่า การอนุรักษ์หอยเม่นในการทำประชาคมหมู่บ้าน ควรกำหนดโซนนิ่งของแต่ละหมู่บ้าน อย่างเช่น หมู่ 3 หมู่ 6 พบหอยเม่นมาก และต้องคำนึงถึงชาวบ้านให้ทำมาหากินตามวิถีชาวบ้านด้วย แต่ร้านอาหารซีฟู้ด รีสอร์ตทำเป็นธุรกิจ เมนูอาหารโพสต์ขายก็ไม่เห็นด้วย

เช่นเดียวกับชาวบ้านหมู่ที่ 6 ต.เกาะกูด กล่าวเพิ่มเติมว่า หอยเม่นหากให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลองรสชาติ ควรคำนึงถึงความพอดี ไม่ส่งเสริมให้บริโภคมากเกินไป และไม่ห้ามจับมาบริโภค โดยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ที่เป็นประมงพื้นบ้านที่มีเรือเล็ก ๆ ได้ทำมาหากิน ที่ช่วงมรสุม 4-5 เดือนออกทะเลไม่ได้ เรือประมงพื้นบ้านหมู่ 3 และหมู่ 6 ประมาณ 20-30 ลำ ถ้าจัดระบบให้มีการเช่าเหมาเรือเที่ยวละ 4-5 คนไปกินหอยเม่นในทะเล ตามเกาะต่าง ๆ จะสร้างรายได้ลำละประมาณ 2,000-2,500 บาท และเป็นการจำกัดปริมาณการกินหอยเม่นได้ด้วย

ว่าที่เรือตรีจักรกฤช หงษ์ร่อน เลขาฯกลุ่มตัวแทนภาคประชาชนตำบลเกาะกูด กล่าวว่า ร้านอาหารที่นำหอยเม่นมาประกอบอาหาร บางแห่งผู้ประกอบการไม่ใช่คนพื้นบ้าน จ้างชาวประมงจับมาขายให้นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศตัวละ 50-150 บาท ในลักษณะรับผ่ารับประทานเนื้อ และไข่ ทั้งสด ปิ้ง ย่างทานกับน้ำจิ้มซีฟู้ดคล้ายวาซาบิ แต่ในช่วง 2-3 เดือนนี้มีนักท่องเที่ยวมากินไข่หอยเม่นเลียนแบบอูนิของญี่ปุ่น และทำคลิปลง Facebook สร้างกระแสให้อยากลองชิม จึงเกรงว่าจะมีการจับหอยเม่นมาเป็นเมนูอาหารเชิงพาณิชย์ เป็นผลกระทบต่อวงจรสัตว์ทะเล เนื่องจากหอยเม่นช่วยกำจัดของเสีย น้ำเสีย ทำความสะอาดปะการัง

ดังนั้น อบต.เกาะกูด กลุ่มตัวแทนภาคประชาชน กลุ่มอาสาสมัครทรัพยากรธรรมชาติเกาะกูด ตระหนักถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศในทะเล หากมีการบริโภคเชิงพาณิชย์ โดย อบต.เกาะกูดได้ขอความร่วมมือกับชาวบ้าน ร้านอาหารที่ชูเป็นเมนูอาหารการเผยแพร่ทางโซเชียล ได้รับความร่วมมืออย่างดี “ส่วนกลุ่มภาคประชาชนทั้งหมด 6 หมู่บ้าน จะเร่งทำประชาคมภายในเดือนเมษายน แต่ละหมู่บ้านกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่อนุรักษ์ ช่วงเวลาอนุญาตทำการประมง การกำหนดโซนนิ่ง

รวมทั้งวิธีการให้บริการหอยเม่นกับนักท่องเที่ยวในท้องทะเล เกาะ เพื่อไม่ให้กระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านเกาะกูด ซึ่งจะช่วยจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวและการบริโภคหอยเม่นด้วย รวมทั้งความเห็นอื่น ๆ เพื่อเสนอให้สภาตำบล อำเภอเกาะกูด และกำหนดไว้ในธรรมนูญเกาะกูดประกาศใช้ต่อไป” เลขาฯกลุ่มตัวแทนภาคประชาชนตำบลเกาะกูดกล่าว

นายสุเทพ อยู่ลออ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล จ.ระยอง ที่ดูแลพื้นที่ จ.ระยอง จันทบุรี ตราด กล่าวถึงหอยเม่นทางวิชาการว่า เป็นสัตว์น้ำที่ช่วยทำให้น้ำทะเลสะอาด ชอบอยู่ตามแนวปะการังในทะเล การมีหอยเม่นแสดงถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่ ถ้าจับเฉพาะตัวโต ๆ ในปริมาณเหมาะสม เว้นจับในฤดูวางไข่ไม่ทำให้สูญพันธุ์

เชื่อว่าการบริโภคนี้ตามกระแสเลียนแบบญี่ปุ่น หรือกินโชว์จำนวนไม่มาก คนในท้องถิ่นไม่นิยม และบางคนอาจจะมีอาการแพ้ และการจับมีอันตรายหนามที่แหลมคมมาก จึงไม่ควรกินตามกระแส ต่างประเทศกินเพราะกุ้ง ปู ราคาแพง ด้วยหลักการนิเวศควรมีไว้บ้าง เกื้อกูลกัน ซึ่งตามกฎหมายหอยเม่นไม่ใช่สัตว์สงวน สามารถจับในพื้นที่ไม่ใช่พื้นที่อนุรักษ์ได้