เมอริโต้ ผู้ผลิตและส่งออก “กะทิกระป๋อง” รายใหญ่ภาคตะวันออก เผยธุรกิจติดกับดักปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ “มะพร้าว” แถมพ่วงปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนต้องชะลอแผนการผลิต
นายพีรโชติ จรัญวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารเมอริท จำกัด จ.ชลบุรี ผู้ผลิตน้ำกะทิบรรจุกล่องส่งออกภายใต้แบรนด์ “เมอริโต้” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลเชิงบวกให้กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง และอาหารสำเร็จรูปในระยะสั้น ทำให้ธุรกิจของบริษัทเติบโตขึ้น 20% จากปกติส่งออกประมาณ 1,290 ตู้/ปี ช่วงโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็น 1,512 ตู้/ปี ทำให้มียอดรายได้รวม 1,500 ล้านบาท/ปี
ปัจจุบันธุรกิจเน้นการส่งออกเป็นหลัก โดยมีตลาดใหญ่สุดที่สหรัฐ ประมาณ 60% โซนประเทศยุโรป 20% และเครือจักรภพ 4 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ เวลส์ ไอร์แลนด์ และสกอตแลนด์ ประมาณ 8-9%
“ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 คนต่างประเทศไม่ค่อยออกมาทานข้าวนอกบ้าน จึงจำเป็นต้องพึ่งพาอาหารสำเร็จรูปเป็นหลัก ส่งผลให้ผู้ส่งออกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องและอาหารสำเร็จรูปได้รับผลเชิงบวกในช่วงระยะสั้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารหลักของชาติตะวันออก รวมทั้งยุโรป และอเมริกา เช่น ทูน่ากระป๋อง ข้าวโพดกระป๋อง ฯลฯ
สำหรับในกลุ่มของมะพร้าว กะทิถือเป็นส่วนผสมของอาหารหลายตัว ส่วนตลาดระยะยาวในประเทศไทยกลับน่าเป็นห่วง เนื่องจากประชาชนไม่มีกำลังซื้อแม้รัฐบาลจะออกมาตรการต่าง ๆ เช่น คนละครึ่ง เรารักกัน เพื่อกระตุ้นการจับจ่าย หากอนาคตไม่มีโครงการดังกล่าวประชาชนไม่มีรายได้”
ปัจจุบันบริษัทกำลังเผชิญปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ จึงต้องชะลอกำลังการผลิต รวมถึงปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบ เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวประมาณ 2,200 ไร่ ที่จังหวัดจันทบุรีให้ผลผลิตมะพร้าวเพียงประมาณ 5 ล้านลูก/ปี ยังมีสัดส่วนน้อยสำหรับการผลิตกะทิในแต่ละปี ซึ่งปีที่ผ่านมามีการแย่งวัตถุดิบระหว่างผู้ผลิตและผู้ส่งออกหลายราย ส่งผลให้ราคามะพร้าวค่อนข้างสูง ในปี 2563 ราคาเฉลี่ยประมาณ 40.93 บาท/กก
จากข้อมูลกรมเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวประมาณ 700,000 ไร่ แต่ไม่สามารถใช้ตัวเลขนี้ยืนยันได้ เพราะในพื้นที่การเพาะปลูกที่ทำการสำรวจมีการปลูกพืชหลายอย่างรวมกัน ตอนนี้อุตสาหกรรมการทำมะพร้าวของไทยถือว่าเป็นเบอร์ 1 ในอาเซียน ทั้งเรื่องของคุณภาพ ชื่อเสียง และมีความน่าเชื่อถือ แต่ประเทศที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในอาเซียน 2 อันดับแรก คือ ฟิลิปปินส์ กับอินโดนีเซีย
และอีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองที่สุด คือ เวียดนาม เนื่องจากตอนใต้ของเวียดนามมีลักษณะภูมิอากาศใกล้เคียงประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำโขงเปิดสู่ทะเลจีนใต้ ที่เรียกว่า แม่โขงเดลต้า (DELTA) ทำให้เวียดนามเป็นผู้จัดหาลูกมะพร้าว และยังมีอุตสาหกรรมการแปรรูปที่เริ่มทัดเทียมไทย
นอกจากนี้ เวียดนามยังเข้าร่วมความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม (EU-Vietnam Free Trade Area : EVFTA) สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายในประชาคมยุโรป โดยเสียภาษีต่ำหรือไม่เสียภาษีเลย ขณะที่ไทยยังต้องเสียภาษีอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูง เพราะรัฐบาลไม่ได้มี FTA กับทางประชาคมยุโรปในสินค้าเซ็กเตอร์นี้ ดังนั้น เวียดนามถือเป็นคู่แข่งสำคัญสำหรับไทยในระยะอีก 5-10 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในปี 2562 ไทยส่งออกกะทิไปยัง 119 ประเทศทั่วโลกมูลค่า 411 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 12,766 ล้านบาท ขยายตัว 4% และในช่วง ม.ค.-พ.ค. 2563 ไทยส่งออก 5,073 ล้านบาท หรือ 163 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 4.5% ตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐ 35% รองลงมา คือ ออสเตรเลีย 9% สหราชอาณาจักร 8% แคนาดา 6% และเนเธอร์แลนด์ 5%