ชมรมโรงแรมพัฒนาหาดปากเมง ยกระดับ “การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ”

ภาคเอกชนตรังรวมพลังผุดโครงการพัฒนาหาดปากเมงสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ หวังสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

นายปองศักดิ์ ชอบทำกิจ รองประธานชมรมการท่องเที่ยวและโรงแรมหาดปากเมง ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี พ.ศ. 2524 กรมป่าไม้ได้ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมทับพื้นที่ชุมชนบ้านปากเมง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นไม่สามารถจัดทำแผนพัฒนาหาดปากเมงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพได้

ปองศักดิ์ ชอบทำกิจ
ปองศักดิ์ ชอบทำกิจ รองประธานชมรมการท่องเที่ยวและโรงแรมหาดปากเมง ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง

ในขณะเดียวกันปล่อยให้ธุรกิจท่องเที่ยวหาดปากเมงขยายตัวอย่างไร้ทิศทาง ไร้ระเบียบและระบบการบริหารจัดการ ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาในหลาย ๆ ด้านโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม หากปล่อยทิ้งไว้ต่อไป หาดปากเมงซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามของจังหวัดตรังจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เสื่อมโทรม เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวภาคเอกชนจังหวัดตรังจึงได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นจัดทำโครงการพัฒนาหาดปากเมงสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพขึ้น

ปัจจุบันการท่องเที่ยวหาดปากเมงประสบปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ปัญหาขยะและน้ำเสีย ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาสินค้าและบริการไม่มีคุณภาพและได้มาตรฐานตลอดจนปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น ภาคเอกชนจังหวัดตรังมีความต้องการที่จะพัฒนาหาดปากเมงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของจังหวัดตรัง

“ในสถานการณ์ปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวนับว่าเป็นภาคหนึ่งที่สำคัญในการนำรายได้เข้าประเทศ รัฐบาลมุ่งพัฒนายกระดับแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ เติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างความสามารถทางการแข่งขัน หาดปากเมงเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลที่สำคัญของจังหวัดตรัง ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวปีละเป็นจำนวนมาก มีการกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาคือไม่สามารถที่จะจัดทำแผนพัฒนาหาดปากเมงบรรจุไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดได้” นายปองศักดิ์กล่าว

นายปองศักดิ์กล่าวต่อไปว่า การจัดทำโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับหาดปากเมงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของจังหวัดตรัง เพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อเพิ่มรายได้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง และเพิ่ม GDP ของจังหวัดตรัง


เมื่อดำเนินโครงการนี้แล้วเสร็จจะสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นสินค้าและบริการได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานเพิ่มมากขึ้น ปัญหาขยะและน้ำเสียได้รับการแก้ไข การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ โครงการจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปี