โควิดเชียงใหม่ เพิ่มอีก 269 ราย เตรียมขยาย รพ.สนาม 2,000 เตียง

โควิดเชียงใหม่พุ่งต่อเนื่อง เพิ่มอีก 269 ราย เตรียมขยาย รพ.สนาม เป็น 2,000 เตียง

วันที่ 12 เมษายน 2564 ที่โรงพยาบาลสนาม จ.เชียงใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ แถลงความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน 2564

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการเร่งตรวจผู้เข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19 ข้อมูลการตรวจตั้งแต่หลังเที่ยงของวันที่ 11 เมษายน ถึงเที่ยงวันที่ 12 เมษายน 64 พบผู้ติดเชื้อจำนวน 269 ราย โดยทั้งหมดจะนำมามายังโรงพยาบาลสนามเพื่อทำการจำแนก หากอาการไม่ปรากฏ ร่างกายแข็งแรง จะให้เข้ากักตัวที่โรงพยาบาลสนามเพื่อทำการรักษา หากมีอาการมากกว่านั้นก็จะส่งไปยังโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาต่อเช่นกัน

ทั้งนี้การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อวันนี้ได้มีการประเมินสถานการณ์แล้วมีการวางแผนที่จะเพิ่มขีดความสามารถของโรงพยาบาลสนามให้รองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ทาง SCG ได้บริจาคเตียงให้กับโรงพยาบาลสนามจำนวน 500 เตียง ซึ่งทาง รพ.สนาม ก็จะต้องจัดหาฟูกสำหรับเตียงจำนวนดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่เข้ามารับการรักษา

ทั้งนี้ ได้มีการขอเพิ่มจาก SCG อีก เพราะจากการประเมินของทีมแพทย์คาดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเป็น 2,000 เตียง โดยประเมินจากตัวเลขผู้ที่เข้ามาตรวจเทียบกับตัวเลขของผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังร้องขอให้ SCG สนับสนุนห้องอาบน้ำให้แก่ผู้ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามนี้อีกด้วย

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการต่างๆ จะเป็นเรื่องการออกตรวจสถานที่ต่างๆ ว่าการปฏิบัติได้เป็นไปตามมาตรการของ ศบค. และที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดไว้ จากการประเมินสถานการณ์แล้วเชื่อว่ามาตรการที่ออกมาบังคับใช้ในช่วงนี้อยู่ในระดับที่สูงแล้ว ความสำคัญอยู่ที่ว่าจะกำกับและจะได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการเหล่านั้นได้เข้มข้นหรือไม่เพียงใด ซึ่งทุกมาตรการล้วนมีความสำคัญ

ด้าน นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยโควิด-19 ในจังหวัดเชียงใหม่ เพิ่มจำนวนขึ้นวันละ 200 กว่าคน ถือว่ายังทรงๆ ที่ระดับตัวเลขนี้ หากยังคงอยู่ในระดับ 100 ถึง 200 กว่าต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้เป็นการรับผู้ป่วยเข้ามารักษาที่ 10 วัน และอาจเพิ่มเป็น 14 วันได้ และหากตัวเลขยังอยู่ในระดับนี้ก็อาจจะเกินกำลังที่โรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนามจะรับได้ ขณะนี้ผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในระบบ 600 กว่าราย และอยู่ระหว่างการจะเข้าสู่ระบบการรักษาอีกราว 200 ราย ก็คือตัวเลขจากผลแล็บที่ออกมาในวันนี้ เท่ากับว่าเชียงใหม่มีตัวเลขผู้ป่วยอยู่ราว 900 กว่าราย

ขณะที่เชียงใหม่มีเตียงสนามอยู่ 1,000 เตียง มีเตียงสนามของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งรับผู้ป่วยไว้ 100 ราย ซึ่งสามารถเพิ่มเป็น 300 เตียง รวมแล้วเชียงใหม่จะมีเตียงสนาม 1,300 เตียง ซึ่งประเมินว่า ไม่พอ จึงจะมีการขยายโรงพยาบาลสนามในเฟส 3 โดยจะเพิ่มจำนวนเตียงขึ้นอีก 1,000 เตียง ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ แล้ว ซึ่งหมายความว่า เชียงใหม่จะมีเตียงสนาม 2,000 เตียง รวมกับของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีก 300 เตียง และจะได้จากที่ศูนย์ฝึก รด.อีก 120 เตียง ซึ่งเป็นการวางแผนล่วงหน้าในการจะรองรับผู้ป่วยของเชียงใหม่

“ต้องย้ำกว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ไม่สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ บางคนอาจคิดว่าไม่เป็นอะไรมากรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้หรือไม่ เนื่องจากว่าโดยเฉลี่ยผู้ป่วยโควิด 10 คน จะมีผู้ป่วยหนักได้ 1 คน ซึ่งไม่อาจทราบได้ว่าจะเป็นผู้ใด ยิ่งในช่วงกลางคืนหากเกิดหายใจติดขัดก็ไม่มีใครรู้ได้ ตรงนี้จะเป็นอันตรายอย่างมาก อีกประการจะเป็นการเพิ่มการติดเชื้อภายในบ้านนั้นได้ เท่าที่มีข้อมูลพบว่า ไม่ว่าจะดูแลเฝ้าระวังมากเพียงใดผู้ร่วมบ้านส่วนใหญ่จะติดเชื้อทั้งหมด รวมถึงละแวกใกล้บ้านด้วย ก็อยากจะฝากไปถึงผู้ติดเชื้อทุกคนให้เข้ามาสู่ระบบการรักษา โทรศัพท์ไปติดตามขออย่าปิดโทรศัพท์” นพ.จตุชัย มณีรัตน์ กล่าว

นายเจริญฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติดอีกว่า ขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และยังเป็นศูนย์ Call center เพื่อให้คำแนะนำ ให้ข้อมูล ตอบข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับการระบาดโควิด-19 ซึ่งตั้งภายในอาคาร SME ตึกหน้าของศูนย์ประชุมฯ ที่แยกออกมาต่างหากจากโรงพยาบาลสนาม ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงและประชาชนทั่วไป ที่อยากจะทราบเกี่ยวกับการระบาดโควิด-19 ของเชียงใหม่ รวมถึง โรงพยาบาลสนาม สามารถโทรมาสอบถามเจ้าหน้าที่ได้

ทั้งนี้ ศูนย์ Call center สสจ.เชียงใหม่ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สามารถติดต่อสอบถามได้ทุกวัน ระหว่างเวลา 08.30 – 20.00 น. ที่โทรศัพท์หมายเลข 053-215183-5, 053-215192-3, 053-215195