3จังหวัดใต้ซบ “ประมง-ยาง”เดี้ยง ฐานรากไม่มีเงิน!

เศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้เจอมรสุมหลายเด้ง เจอราคายางพาราตกต่ำ เรือประมงเหลือรอด 30% หลังเจออุปสรรคเทียร์ 3-ไอยูยู ล่าสุด พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวซ้ำเติมหนักอีก ด้านกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่จังหวัดชายแดนภาคใต้จับมือพลิกฟื้นเศรษฐกิจพื้นที่

นายวรุต ชคทิศ ประธานกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (Young Executive Network @ Southern Border Provinces Administrative Centre : YES) และเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่ม YES ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้การสนับสนุนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีสมาชิกทั้งหมด 3 รุ่น จำนวน 90 คน ซึ่งในระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างเศรษฐกิจภาคใต้ยังเหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง จึงมีแนวคิดที่จะรีแบรนด์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) โดยการสร้างระบบธุรกิจใหม่ มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นอยู่กับภาคการเกษตรและปศุสัตว์เป็นหลัก เช่น จังหวัดปัตตานีพึ่งพาการประมง โดยมีการส่งออกมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย แต่ตอนนี้ก็ประสบกับอุปสรรคเทียร์ 3 และไอยูยู ล่าสุดก็มาประสบกับปัญหา พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวอีก จึงได้รับผลกระทบหนักมาก ตอนนี้เรือประมงสามารถออกไปทำการประมงได้เพียง 30% เท่านั้น ส่วนอีก 70% ต้องจอดเรือทิ้งไว้ในส่วนของจังหวัดยะลาและนราธิวาสก็มีรายได้หลักมาจากยางพารา ซึ่งขณะนี้ราคายางก็ผันผวนตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้รัฐต้องดำเนินการใหม่หันมาส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชเชิงซ้อน เช่น ปลูกมะพร้าวน้ำหอม และกล้วยสายพันธุ์ต่าง ๆ เป็นต้น ขณะเดียวกันเรื่องยางพาราต้องตัดวงจรพ่อค้าคนกลางออกไป

“เรื่องแรงงานต่างด้าว รัฐต้องพิจารณาแก้ปัญหาแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และควรจะมีการพูดคุยกันก่อน โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะการที่คนมาอาศัยอยู่ และมาทำงานในพื้นที่ก็มีบุญอยู่แล้ว มีแต่คนอาศัยจะออกไป ซึ่งแรงงานกรีดยางส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา และเข้ามาทำงานในอาชีพที่คนในพื้นที่ไม่ทำ”

นายกฯช่วยด้วย-กลุ่มเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จ.นครศรีธรรมราช ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาราคายางตกต่ำเข้าใกล้ 3 โล 100 โดยเสนอให้กำหนดสเป๊กการสร้างและซ่อมถนนลาดยางทุกเส้นทางให้ผสมยางพาราและให้ทุกหน่วยงานใช้ยางพาราผสมยางมะตอย 5%และให้ทำMOU รับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรส่งให้บริษัทผู้ผลิตพาราแอสฟัลต์คอนกรีต

นายวรุตกล่าวอีกว่า ขณะนี้ประชาชนกลุ่มฐานรากไม่มีเงิน ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการก็หนักเช่นกัน เพราะฐานรากไม่มีกำลังซื้อ แต่กลุ่มที่ยังพอมีกำลังซื้ออยู่ในตอนนี้ คือ ข้าราชการ พนักงานของรัฐ และผู้มีเงินเดือนเป็นประจำ

Advertisment

สำหรับกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ชายแดนภาคใต้รุ่นที่ 3 มีจำนวน 32 คน ประกอบด้วยนักธุรกิจในจังหวัดยะลา 14 คน ปัตตานี 10 คน และนราธิวาส 8 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการอบรมศึกษาดูงาน รวมไปถึงการจัดทำ Business Model และจัดทำเมกะโปรเจ็กต์เพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายวรุต ชคทิศ กล่าวอีกว่า ผลงานของกลุ่ม YES มีการดำเนินการกิจการตลาดน้ำปัตตานี ถนนคนเดินปัตตานี โดยจำลองภาพงานมาจากจังหวัดเชียงใหม่ และจัดงานสตาร์ตอัพที่จังหวัดปัตตานีและยะลา ซึ่งแต่ละกิจกรรมได้รับการตอบรับที่ดีมาก

Advertisment

ด้านนายอิสระ ละอองสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ชายแดนภาคใต้ถือเป็นทรัพยากรและเป็นกำลังหลักที่สำคัญของการก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงและพลิกฟื้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งทุกคนต้องเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก