ปีทอง “ทุเรียน-มังคุด” ตะวันออกเปิดฤดูราคาพุ่ง-ออร์เดอร์ทะลัก

ทุเรียน

“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจราคาทุเรียนปี 2557-2564 พุ่งต่อเนื่อง เปิดฤดูด้วยพันธุ์ “กระดุม” ราคา 190-200 บาท/กก. สูงสุดในประวัติการณ์ ตามมาด้วยพันธุ์ “หมอนทอง” ออกเดือนเมษายน ราคา 170-180 บาท สูงกว่าปี 2563

คาดว่าช่วงพีกจะเป็นช่วงสั้น ๆ ราคาน่าจะไม่ต่ำกว่า 90-95 บาท ผลพวงของราคาที่พุ่งสูงมาจากมาตรการปราบ “ทุเรียนอ่อน” และความต้องการตลาดจีนยังสูง ขณะที่ปริมาณผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นเพียง 5% ส่วน “มังคุด” ลดฮวบ 50% ราคาเปิดฤดูสูงลิ่ว 200-220 บาท

ผลผลิตจะออกมาเดือนมิถุนายน “เงาะ” ลดลง 6% ราคาเปิดที่80-90 บาท ผลผลิตออกมากเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ลองกองลดลง 11 % ผลผลิตออกเดือนมิถุนายน -สิงหาคม และปีนี้ กรมวิชาการเกษตรคุมเข้มใบรับรอง GAP และ GMP ป้องกันปัญหาการตรวจสอบทุเรียนด้อยคุณภาพและสร้างความเชื่อมั่นตลาดจีน

ทุเรียนช่วงพีกล้นพันตัน/วัน

นายธัญสิทธิ์ ชาติวิริยะพงษ์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่าผลผลิตทุเรียนปี 2564 ต้นปลูกใหม่ปี 2559 จำนวน 17,137 ไร่ เริ่มให้ผล

แต่ปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ผลผลิตโดยรวมเสียหายและกระจายออกหลายรุ่น ผลผลิตรวม 575,542 ตัน เพิ่มขึ้น 25,507 ตัน หรือ 4.64% ทำให้ผลผลิตทุเรียนไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด

แต่ในช่วงกระจุกตัวของผลผลิต (peak) ปริมาณทุเรียนทั้งหมด 431,000 ตัน เกือบ 60% ของปริมาณผลผลิตเก็บเกี่ยวช่วงวันที่ 25 เมษายน ถึง 15 พฤษภาคม ระยะเวลา 20 วัน คาดว่าปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเกือบ 200,000 ตัน วันละประมาณ 7,600 ตันเศษ ตลาดน่าจะรองรับได้วันละประมาณ 6,500 ตัน

ปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือ ผลผลิตเกินตลาดรองรับวันละ 1,100 ตัน รวมทั้งปัญหาอื่น ๆ เช่น การขาดแคลนแรงงาน การระบาดของโควิด-19 การปล่อยตู้คอนเทนเนอร์หมุนเวียนกลับมาไม่ทันจะมีปัญหากระทบเป็นลูกโซ่จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์อีก

และประกาศของกองอำนวยการควบคุมและป้องกันโรค COVID-19 เมืองผิงเสียง เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 จีนมีการตรวจเข้มข้น ส่วนมังคุดผลผลิตโดยรวม 106,796 ตัน ลดลง 105,549 ตัน หรือ 49.71% และเพิ่งเริ่มออกเมื่อต้นเดือนเมษายน มีราคาสูงถึง 200-220 บาท/กก. ส่วนเงาะผลผลิตเริ่มออกพฤษภาคม ลองกองเดือนมิถุนายน

ขนส่งกระจุกตู้คอนเทนเนอร์ขาด

นางเจียวหลิง พาน (Jiaoling Pan)กรรมการผู้จัดการ บริษัท รอยัล ฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนไปจีน กล่าวว่า ปัญหาโลจิสติกส์และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เป็นเรื่องสำคัญ ผู้ประกอบการเองต้องวางแผนและขอให้รัฐบาลหาทางช่วยเหลือเตรียมแก้ไขปัญหาล่วงหน้า อาจจะมีผลต่อปริมาณการซื้อ

เพราะปีก่อนเส้นทางขนส่ง R12 ที่นิยมใช้กันมากที่ด่านโหย่วอี้กวน ชายแดนเวียดนาม-จีน ต้องยอมรับว่ามีการกระจุกตัวของรถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมาก มีรถรอข้ามด่านวันละหลายพันตู้ ระยะเวลาเดินทางล่าช้าจากปกติใช้เวลา 3-4 วัน เพิ่มขึ้นเป็น 10-12 วัน

ทำให้ผลผลิตทุเรียนสุก แตก เสียหาย ผู้ประกอบการขาดทุนและมีผลต่อออร์เดอร์รับซื้อน้อยลง ส่งผลถึงเกษตรกร ปริมาณการรับซื้อและราคาลดลง ปัญหานี้ต้องเกิดขึ้นอีกแน่นอน และหนักสุดในช่วงพีกที่ทุเรียนไทยออกมาก จะตรงกับทุเรียนเวียดนามออกมากเช่นกัน แต่มีวิธีการที่จะทำให้ผ่านด่านเข้าไปก่อนรถขนส่งทุเรียนของไทย

แหล่งข่าวจากบริษัท NOTT 333 จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า การขนส่งทุเรียนไปทางบกสะดวกรวดเร็วกว่าทางเรือ โดยเฉพาะด่านโหย่วอี้กวนต้องผ่านลาว เวียดนาม เข้าไปจีนตามเส้นทาง R12 ได้รับความนิยมมากที่สุด

เพราะทางด่านตงซินมีระยะทางไกลกว่า 170 กิโลเมตร ส่วนทางเรือใช้เวลานานกว่า 7-8 วัน แม้ค่าขนส่งถูกกว่า ดังนั้นปัญหาการกระจุกตัวที่ด่านโหย่วอี้กวนจะเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งกลางเดือนเมษายนแม้ทุเรียนยังไม่ออกมาก มีรถขนส่งไปรอข้ามด่าน 1,000 กว่าตู้แล้ว

เพราะต้องตรวจเอกซเรย์ตู้ที่ด่านเวียดนาม และการขนย้ายสินค้าเข้าไปชายแดนจีน อาจจะมีคนขับจีนเข้ามาขับข้ามไป แต่ทั่วไปจะขับรถข้ามชายแดนเพื่อใช้รถขนส่งตู้ของจีน

และจอดรถรอให้ตู้สินค้าวนกลับมาประมาณ 5 วัน ซึ่งต้องเสียค่าจอด ยิ่งมีการตรวจแบบเข้มข้นจะใช้เวลาเพิ่มขึ้น ตู้วนกลับมาช้า จำนวนตู้น้อยลง ราคาเช่าตู้คอนเทนเนอร์จะเพิ่มขึ้น ถ้าไม่มีการเช่าทำสัญญาไว้ล่วงหน้า ราคาปกติจากจันทบุรีไปด่านโหย่วอี้กวน ค่าเช่าตู้ละ 140,000 บาท ปีก่อนค่าเช่าขึ้นไปถึง 200,000 บาท

ที่ผ่านมาการส่งออกทุเรียนไปที่ด่านนี้วันละไม่ถึง 100 ตู้ ตอนนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นวันละ 400 กว่าตู้ ดังนั้นในช่วงพีกปลายเดือนเมษายนน่าเป็นห่วง เพราะต้นพฤษภาคมเป็นช่วงเทศกาลหยุดวันแรงงาน ออร์เดอร์จีนจะเข้ามามาก

ส่งออกทุเรียนแก่ราคาพุ่ง

นายภาณุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด กล่าวว่า มาตรการแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด จากประกาศกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนหมอนทองภาคตะวันออก 3 จังหวัด ระยอง จันทบุรี ออกสู่ตลาดวันที่ 10 เมษายน 2564

ถ้าตัดก่อนต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเปอร์เซ็นต์เนื้อแป้ง 32% และโรงคัดบรรจุทุเรียนส่งออกต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ สวพ. 6 ด่านตรวจพืชตรวจสอบก่อนเพื่อป้องกันทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด

โดยมีบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 และยกเลิก พัก เพิกถอน ใบรับรองแหล่งผลิต GAP และการใช้ใบอนุญาตเลขทะเบียน GMP ทำให้ทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดน้อยลง

แต่ยังมีปัญหาการใช้ใบรับรอง GAP ทำให้การส่งออกล่าช้า ล้งบางแห่งมีไม่เพียงพอ และบริษัทชิปปิ้งบางบริษัทนำไปใช้ซ้ำซ้อน ผู้ประกอบการบางรายต้องรออัพเดตถึง 2-3 วัน ต้องหยุดซื้อ ประกอบกับเป็นช่วงทุเรียนเริ่มออกตามฤดูกาลที่กำหนดวันเก็บเกี่ยว 10 เมษายน จึงทำให้ราคาทุเรียนเริ่มทยอยออกราคาปรับลงมาอยู่ที่ 110-115 บาท ในช่วงหลังสงกรานต์

นายมณฑล ปริวัฒน์ นายกสมาคมผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ กล่าวว่าการใช้ใบ GAP พัฒนามาตรฐานเป็นสิ่งที่ดี แต่ทำให้การส่งออกล่าช้าไม่สะดวกเพราะชาวสวนยังมีไม่ครบ 100% บางคนมีไม่ครอบคลุมทั้งแปลง

ส่วนใหญ่ปัญหากับล้งรับซื้อมากกว่าคนเหมาสวน และเกณฑ์เดิมกำหนด 5 ไร่ 1 ตู้ เป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำได้ยาก กรณีตัวอย่างล้งที่ใช้บริการของบริษัทชิปปิ้ง ใบ GAP ถูกใช้ไปหมดแล้ว นำมาเวียนสวมสิทธิ์

เมื่อตรวจสอบไม่ผ่านต้องรออัพเดตใหม่ถึง 3 ครั้ง ใช้เวลา 3-4 วัน ล้งต้องหยุดซื้อและเสียหาย 5 ตู้ ซึ่งหากตีเป็นเงินตกตู้ละ 3 ล้านบาท เนื่องจากทุเรียนสุกแตกเพราะยังขึ้นตู้ไม่ได้ ซื้อไว้ราคา 160 บาท รออัพเดตใบ GAP ราคาหน้าล้งเหลือ 115 บาท

รวมทั้งราคาตลาดปลายทางที่ลดลงแต่ละวัน ถ้าล้งขาดทุนต้องซื้อราคาต่ำลง เมื่อปรับให้ใช้ 1-5 ไร่/ตู้ ช่วยลดปริมาณการใช้ใบ GAP ทำให้สะดวกขึ้น

“สถานการณ์ที่ทุเรียนราคาลงมาก ผู้ประกอบการขาดทุนจากการเหมาสวนกิโลกรัมละ 150-160 บาท ราคาหน้าล้งเหลือ 110 บาท เป็นวิกฤตของผู้ประกอบการที่ต้องรีบเร่งบริหารจัดการส่งออก

เพื่อให้เงินทุนหมุนเวียนกลับมาเร็วที่สุด การใช้ใบ GAP ที่ทำให้การส่งออกชะงัก กระทบทั้งล้งส่งออกและล้งรับจ้างแพ็ก และตู้ที่จะหมุนเวียนกลับมาช้า เป้าหมายของผู้ส่งออกคือตลาดค้าส่ง ต้องการปริมาณมาก ระบบจ่ายเงินเมื่อปิดตู้ และขนส่งต้องรวดเร็วเพื่อไม่ให้สินค้าเสียหาย” นายมณฑลกล่าว

เมื่อปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไข การส่งออกทุเรียนไทยน่าจะเป็นปีทองต่อเนื่อง แม้ว่าราคาที่ลดลงต่ำสุดปีนี้ คาดว่าไม่ต่ำกว่า 90-95 บาท สูงกว่าปีก่อน เป็นราคาที่สูงกว่าต้นทุนเกษตรกรมากทีเดียว

จันท์ปลูกทุเรียน 2.6 แสนไร่ เร่งยื่นขอ GAP ส่งออกจีน

ปีนี้กรมวิชาการเกษตรเอาจริงกับปัญหาทุเรียนอ่อน โดย นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) กล่าวว่า ปีนี้ทีมกรมวิชาการเกษตรภาคตะวันออก

ร่วมกันออกมาตรการปราบปรามทุเรียนอ่อนอย่างจริงจัง มีชุดเฉพาะกิจตรวจสอบทุเรียนอ่อนที่โรงคัดบรรจุก่อนปิดตู้ การจับกุมแผงขายทุเรียนอ่อนข้างทาง เดือนมีนาคม-ก่อนถึงวันที่ 10 เมษายน

ที่ครบกำหนดวันทุเรียนหมอนทองแก่ พบโรงคัดบรรจุมีผลผลิตด้อยคุณภาพ 8 บริษัท การตรวจอย่างเข้มข้นทำให้ปัญหาทุเรียนอ่อนในปีนี้เบาบางลง ราคาทุเรียนต้นเดือนเมษายน 170-180 บาท/กก. สูงกว่าปีก่อน

เนื่องจากปริมาณทุเรียนส่งออกมีน้อยและทุเรียนมีคุณภาพ และกำหนดให้การส่งออกต้องมีใบรับรอง GAPและ GMP ยกระดับคุณภาพมาตรฐานความเชื่อมั่นของทุเรียนไทยในต่างประเทศจากที่จีนเข้มงวดประกาศให้ไม้ผล 5 ชนิด คือ

ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ และมะม่วง ต้องมีใบรับรองมาตรฐานแหล่งผลิตพืชที่เหมาะสม (GAP) และโรงคัดบรรจุมีใบรับรอง GMP ตั้งแต่วันที่ 1กรกฎาคม 2562 ทาง สวพ.6 จึงเร่งตรวจรับรองแปลง GAP ให้ชาวสวนภาคตะวันออกกว่า 50,000 แปลง

ปีการผลิต 2564 จ.จันทบุรีมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 264,464 ไร่ (ให้ผล 204,535 ไร่)มายื่นขอใบรับรอง GAP 204,146 ไร่ คิดเป็น 18,172 แปลง หรือเท่ากับ 99.8% ของพื้นที่ให้ผล

และ 100% ของผู้ยื่นขอ จำนวนโรงคัดบรรจุที่ผ่าน GMPมี 261 แห่ง กรมวิชาการเกษตรมีมาตรการควบคุมการใช้ใบรับรอง GAP เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าผลไม้จากประเทศเพื่อนบ้านสวมสิทธิ์ส่งออกไปจีนป้องกันการถูกระงับการส่งออกของโรงคัดบรรจุ

และแปลงเกษตรกรที่ถูกสวมสิทธิ์ในแปลงที่ตรวจพบศัตรูพืชควบคุม และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคและประเทศคู่ค้าด้วยระบบการตรวจสอบย้อนกลับการใช้ใบรับรอง GAP รวมทั้งรองรับระบบ e-Phyto คาดว่าภาคตะวันออกจะเริ่มใช้ในฤดูกาลปี’65

“ผู้ส่งออกบางรายมีใบ GAP ไม่พอปิดตู้ หรือหมายเลขซ้ำซ้อนกัน ต้องรออัพเดต ทำให้การส่งออกล่าช้าเกิดความเสียหาย จึงเข้าใจผิดว่าใบรับรอง GAP เป็นปัญหาในการส่งออก

ทำให้ราคาทุเรียนต่ำลง ทั้งที่ตัดทุเรียนแก่ ตามหลักดีมานด์ซัพพลายตั้งแต่ 10-16 เมษายน ทุเรียนส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 220-385 ตู้ ถ้ารวม จ.ตราด ระยองมากกว่า 400 ตู้ ราคาย่อมลดลง และปัญหาใบรับรอง GAP คือการเข้าถึง ไม่ใช่ไม่พอ เพราะ สวพ.6 ออกให้ จ.จันทบุรี 25,000 แปลง ออกตู้ได้มากถึง 50,000 ตู้

ดังนั้นจึงปรับการบริหารจัดการเข้าถึงใบ GAP ได้ง่ายขึ้น โดยประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรสำเนาใบ GAP ให้ผู้ซื้อ และระบุกำกับการขายแต่ละครั้ง และขอใบรับรองเพิ่มเติมได้หากไม่ครอบคลุมพื้นที่

ส่วนผู้ส่งออกขอให้เรียกใบ GAP จากนายหน้าหรือชาวสวนที่นำทุเรียนมาขายทุกครั้ง และยืดหยุ่นใช้ใบรับรอง GAP จำนวน 1-5 ไร่/ตู้ และให้อัพเดตหมายเลข GAP การขอใบสุขอนามัย (PC) ล่วงหน้า

เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการปิดตู้ หากการรับซื้อหน้าแผงมีปัญหาใบ GAP ไม่พอ ให้ติดต่อ ผอ.สวพ.6 แก้ปัญหาเป็นราย ๆ เพื่อให้การส่งออกทุเรียนที่มีคุณภาพได้รวดเร็ว”