อุดรธานี จี้ ไม่สวมแมส ปรับ 2 หมื่นบาท หลังประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ

หน้ากากอนามัย.
PHOTO : PIXABAY

อุดรธานี จี้ใครไม่สวมแมส ถูกปรับเงิน 2 หมื่นบาท หลังประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ

วันที่ 22 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดอุดรธานี ว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังพุ่งไม่หยุด โดยวันที่ 22 เมษายน 2564 มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 25 ราย รวมยอดสะสมทั้งสิ้น 246 ราย กลับบ้านแล้ว จำนวน 12 ราย ซึ่งมติคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอุดรธานี มีมติที่ประชุม ครั้งที่ 9/ 2564 มีจำนวน 3 ข้อ ได้แก่ 1.ให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง ตลอดเวลา ที่ออกนอกเคหะสถาน หรือสถานที่พำนักของตนเอง และมีกิจกรรมที่ต้องสัมผัส หรือเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น 2.ให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง ที่มีกิจกรรมที่ต้องสัมผัส หรือเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น และ 3.ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ มีความผิดตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2564 เป็นต้นไป

นอกจากนั้น ยังมีประกาศจังหวัดอุดรธานี เรื่อง หากพบเห็นผู้เดินทางมาจากจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูงที่ถูกให้กักตัวแล้ว ไม่กักตัว 14 วัน โปรดแจ้ง สาธารณสุขอำเภอในพื้นที่นั้น ผู้ใดฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 34 มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

จากการจำแนกเพศ และอายุ พบว่า ชาย 108 ราย และ หญิง 138 ราย มีสัดส่วน 1 : 1.5 โดย อายุเฉลี่ย 33.13 ปี อายุสูงสุด 84 ปี และอายุน้อยสุด 1 ปี

โดยจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับ ผู้ประกอบการ เจ้าของ วีธรา บูทิค โฮเทล เปิดโรงพยาบาลสนามสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งสถานที่แห่งนี้ เคยให้การสนับสนุนเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับบุคลากรทางการแพทย์มาแล้ว เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ในรอบแรก และครั้งนี้ได้เปิดให้เป็นโรงพยาบาลสนามอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2564

นายณณชัย ทีฆธนานนท์ ผู้บริการ วีธรา บูทิค โฮเทค อุดรธานี เปิดเผยว่า โรงแรมมีจำนวน 5 ชั้นๆ ละ 12 ห้องนอน รวม 60 ห้องนอน มีพนักงาน 20 คน เบื้องต้นรองรับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง จำนวน 20 ราย กักตัว 14 วัน และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงปานกลาง จำนวน 40 คน ซึ่งสามารถเดินทางไปทำงานได้ โดยโรงแรมจะทำอาหารกล่องให้ โดยโรงพยาบาลอุดรธานี จะนำผ้าปูที่นอนมาปูให้ และเทศบาลนครอุดรธานี จะมาทำการเก็บขยะ ส่วนภายในห้อง ผู้อาศัยจะทำความสะอาดเอง

ที่ผ่านมา เมื่อครั้งที่แล้ว ทางโรงแรมได้ให้การสนับสนุนมอบให้เป็นโรงพยาบาลสนาม เมื่อปลอดโควิด-19 ทางสำนักงานสาธารณสุขก็มาฆ่าเชื้อให้เป็นอย่างดี และส่งมอบกลับมา ทางผู้ที่มาพักก็มั่นใจให้การตอบรับดี

“ถึงแม้ครั้งนี้การระบาดเป็นวงกว้างมากขึ้น ก็พร้อมให้การสนับสนุน เป็นกองทัพหน้า แม้ไม่มีความรู้เรื่องการแพทย์ ถ้าต้องให้การสนับสนุนด้านอื่นก็ยินดี ซึ่งการบริหารจัดการมอบให้โรงพยาบาลอุดรธานี จัดการ ทั้งเรื่องการจัดห้องนอนในการเข้าพัก เปิด 24 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับบุคลากรทางการแพทย์จะออกเวร หรือเข้าเวร ตอนไหน พนักงานมีความกังวลบ้าง เพราะไม่มีความรู้เรื่องโควิด-19 ต้องให้ครอบครัวมาทำงาน เจอกับบุคลากรทางการแพทย์ อาจจะต้องขอคืนบางห้องเพื่อให้พนักงานในโรงแรมได้พัก ไม่ต้องกลับไปบ้านเพื่อเสี่ยงกับครอบครัว ที่นี่โดยปกติมีคนมาเข้าพักวันละ 10-15 ห้องอยู่แล้ว ก็ถือเป็นการทำบุญ”

ด้านโรงพยาบาลสนาม ในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี วิทยาเขตสามพร้าว ได้เปิดรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการรุนแรงเข้าพักแล้วตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2564 เช่นกัน โดยตั้งชื่อว่า CARE หรือ ศูนย์โอบอุ้ม ดูแล ห่วงใย ชาวอุดรธานี ซึ่ง นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 และ นายกองเอก ปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมมอบยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรให้กับเจ้าหน้าที่

นายแพทย์สุมน ตั้งสุนทรวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลอุดรธานี กล่าวว่า ได้ส่งผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรง จำนวน 22 ราย ไปยังโรงพยาบาลสนาม หรือ CARE แล้ว และจะส่งเพิ่มอีก 9 ราย ซึ่งมีผู้ป่วย 3 ราย ที่อาการหนัก รายแรกเป็นผู้ป่วยชาย อายุ 40 กว่าปี มีอาการปอดติดเชื้อ ระบบหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เคสนี้อาการน่าเป็นห่วง ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด มีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อน ส่วนอีก 2 ราย หายใจเองแต่ยังต้องใช้ออกซิเจนอยู่ อาการทรงตัว

นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า เปลี่ยนรูปแบบการแถลงข่าว จากในห้องประชุม เป็นการแถลงข่าวผ่าน แอพลิเคชั่นซูม เป็นวันแรก ที่ผ่านมาเคยขอความร่วมมือให้พี่น้องประชาชนสวมหน้ากาก แต่พี่น้องประชาชนเองแจ้งว่าคนจำนวนมากไปในที่สาธารณะที่มีความสุ่มเสี่ยงของโรคฯ ก็ไม่สวมหน้ากาก ยังไม่ระมัดระวังตัว จึงต้องออกประกาศที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย จังหวัดได้สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุดรธานี ไปดูเรื่องการกักตุนสินค้า ทั้งหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์

โดยหน้ากากอนามัย ราคาไม่เกิน 2.5 บาท โดยให้ไปดูแลราคาให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงได้ หรือหน้ากากผ้าที่ซักทำความสะอาดได้ นอกจากนั้นก่อนสงกรานต์ได้ให้ท้องถิ่นต่างๆ รณรงค์ฆ่าเชื้อ หลายที่ไปฉีดพ่น สถานที่สาธารณะ หรือสถานที่ตามไทม์ไลน์

ด้านนายอุเทน หาแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า การติดเชื้อเริ่มตีวงแคบเข้ามาทุกที คือ ในครอบครัว ในคนใกล้ชิด ที่มีการดื่มกินสังสรรค์ พบปะ พูดคุย มีข้อมูลเชิงวิชาการ คือ ในกรณี ผู้ติดเชื้อไม่สวมหน้ากาก ห่าง 1 เมตร ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อไม่สวมหน้ากาก มีความเสี่ยงถึง 90% ในการได้รับเชื้อ, คนติดเชื้อไม่สวมหน้ากาก ห่าง 1 เมตร กับผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อสวมหน้ากาก มีความเสี่ยง 30% ที่จะได้รับเชื้อ, คนติดเชื้อสวมหน้ากาก ห่าง 1 เมตร กับผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อไม่สวมหน้ากาก มีความเสี่ยง 5% ที่จะได้รับเชื้อ, คนติดเชื้อสวมหน้ากาก ห่าง 1 เมตร กับผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อสวมหน้ากาก มีความเสี่ยง 1.5% ที่จะได้รับเชื้อ และคนติดเชื้อสวมหน้ากาก ห่างกันประมาณ 6 ฟุต หรือ 180 เซนติเมตร หรือ 1.8 เมตร กับผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อสวมหน้ากาก มีความเสี่ยง 0% ที่จะได้รับเชื้อ ดังนั้นการสวมหน้ากากจึงเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็น ในการลดการแพร่เชื้อ

“แต่ละวันยังมีผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ทั้ง ภูเก็ต ชลบุรี ขอนแก่น กรุงเทพฯ พบว่ามีการนำเชื้อเข้ามาวันละ 2-3 ราย เมื่อมาถึงพื้นที่แล้วไม่ได้มีการรายงานตัว ไม่ได้มีการแจ้ง หรือลงโปรแกรม Watch Out เมื่อรู้ย้อนกลับไปคืนถิ่น เช่น บางรายกลับมาตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ มีไข้ มาตรวจพบเมื่อวันที่ 21-22 เมษายน 2564 ดังนั้นช่วงกลับมาถึงอุดรฯ ตั้งแต่วันที่ 11-13 เมษายน จากนั้นมีการสังสรรค์ร่วมกับผู้อื่น พบปะพูดคุย เดินทางไปยังท้องถิ่นต่างๆ เกิดผู้สัมผัสเสี่ยงสูง มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเข้ามา

อันนี้เป็นสิ่งที่เรายังสกัดไม่ได้ ดังนั้นฝากพี่น้องประชาชน และบุคคลต่างๆ ถ้าพบเห็นคนเหล่านี้แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรค จะได้สกัดกั้นการเดินทาง เพราะการควบคุมสอบสวนโรคย้อนหลัง 5-10 วัน ดังนั้นทำให้โรคสงบได้ช้า สิ่งหนึ่งที่ทำได้ คือ 1.เว้นระยะห่าง อย่างน้อย 1 เมตรขึ้นไป 2.การสวมหน้ากากทุกครั้ง ทางจังหวัดไม่อยากบังคับใช้กฎหมาย แต่ขอความร่วมมือแล้วไม่ได้รับความร่วมมือ 3.อยากให้มีการล้างมือบ่อยๆ พกเจลแอลกอฮอล์ 4.ให้สังเกตอาการตัวเอง มีไข้ ไอ เจ็บคอ 5.ไปที่ไหนก็เช็คอิน สแกนไทยชนะ”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เทศบาลนครอุดรธานี ออกประกาศกำหนดพื้นที่ปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และสร้างความตระหนักรู้เรื่องโทษและพิษภัยจากยาสูบ ได้แก่ พื้นที่สนามทุ่งศรีเมือง, พื้นที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคคม, พื้นที่สวนสาธารณะหนองบัว และพื้นที่สวนสาธารณะหนองสิม

โดยมีข้อกำหนดดังนี้ กำหนดเวลาในการใช้สถานที่ตั้งแต่เวลา 04.00 – 22.00 น. , กำหนดห้ามไม่ให้มีการสูบบุหรี่ซิกาแรต ยาเส้น บุหรี่ไฟฟ้า หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ , ห้ามไม่ให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณตามประกาศ, ห้ามโฆษณาหรือสื่อสารการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กิจกรรม CSR แก่บุคคลหรือองค์กร, หากผู้ใดฝ่าฝืนจะได้รับโทษตามกฎหมายกำหนด