ศรีฟ้า เมืองกาญจน์บุกกรุงเทพ เปิดแนวรบขาย “แฟรนไชส์เบเกอรี่” ก.ย.นี้

“ศรีฟ้าโฟรเซนฟู้ด” ร้านเบเกอรี่ดังเมืองกาญจนบุรี รุกขยายกิจการในเขต กทม.และปริมณฑล เตรียมตั้งแท่นขายระบบแฟรนไชส์ “ร้านศรีฟ้าเบเกอรี่” เพิ่มอีก 3-5 แห่ง พร้อมเปิดชวนผู้ลงทุน ก.ย. หรือ ต.ค.นี้ เผยลงทุนขั้นต่ำ 1.5 ล้านบาท คืนทุนไม่เกิน 1-2 ปี กับความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ คาดผลประกอบการปี 2564 พร้อมฝ่าโควิด-19 ตั้งเป้าโต 5% เทียบปีก่อนยอดขายกว่า 700 ล้านบา

นายวิเชียร เจนตระกูลโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีฟ้าโฟรเซนฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบเกอรี่และโฟรเซนโด (Dough) รายใหญ่จังหวัดกาญจนบุรี ภายใต้แบรนด์ศรีฟ้าและสุธีรา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

ขณะนี้บริษัทมีการวางแผนปรับตัว และมีนโยบายจะขยายกิจการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเขตปริมณฑลเพิ่มมากขึ้น ด้วยการเปิดร้านสาขาประมาณ 3-5 แห่ง แต่บริษัทจะไม่ลงทุนเอง

โดยจะทำเป็นระบบแฟรนไชส์ ภายใต้แบรนด์ “ศรีฟ้าเบเกอรี่”ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำโครงสร้างระบบแฟรนไชส์ ซึ่งจะใช้หลักสูตรเดียวกันในการขยายร้านสาขาเพิ่มเติม

คาดว่าจะแล้วเสร็จเรียบร้อย และเปิดเชิญชวนให้ผู้สนใจมาลงทุนได้ภายในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 โดยผู้สนใจลงทุนซื้อระบบแฟรนไชส์ของร้านศรีฟ้าเบเกอรี่ ต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำ 1.5 ล้านบาท มีพื้นที่ของร้านขนาด 15-25 ตารางเมตร คาดว่าใช้ระยะเวลาในการคืนทุนไม่เกิน 1-2 ปี

“สำหรับจุดเด่นแฟรนไชส์ร้านศรีฟ้าเบเกอรี่ คือเป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาไม่แพง มีความหลากหลายในเรื่องของตัวผลิตภัณฑ์ อันนี้ถือเป็นหลักสำคัญตั้งแต่ตอนเริ่มทำธุรกิจใหม่ ๆ และยึดถือมาตลอดถึงปัจจุบัน สำหรับคนที่สนใจเปิดร้านแฟรนไชส์

ทางบริษัทจะมีการนัดสัมภาษณ์ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการจะเปิดร้านจริง ๆ และต้องพิจารณาเรื่องทำเลที่จะลงทุนด้วย ทั้งนี้ ในเบื้องต้นบริษัทตั้งเป้าไว้เปิดร้านแฟรนไชส์ศรีฟ้าเบเกอรี่เพียง 3-5 ราย เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร และเขตปริมณฑลก่อน” นายวิเชียรกล่าว

ทั้งนี้ ปี 2564 ทางบริษัทได้มีการตั้งเป้ายอดขายเติบโตประมาณ 5% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มียอดขายมูลค่าประมาณ 700 ล้านบาท ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มีทั้งทำตลาดส่งออกและขายตลาดในประเทศ โดยด้านส่งออกจะเน้นกลุ่มทองม้วนตราสุธีรา

นายวิเชียรกล่าวต่อไปว่า บริษัทศรีฟ้าฯมีการค้าขายกับโมเดิร์นเทรดมาหลายปี เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้ได้รับผลกระทบแต่ไม่มากนัก

ปี 2564 จึงมีนโยบายหันมาเปิดร้านสาขามากขึ้นโดยการทำระบบแฟรนไชส์ ซึ่งแผนเดิมที่วางไว้จะมีการเปิดตัวในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 แต่เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 จึงจำเป็นต้องปรับแผนใหม่

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทมีความตั้งใจจะเปิดตัวแฟรนไชส์ในปี 2564 แน่นอน โดยปัจจุบันคนไทยรับประทานเบเกอรี่ประมาณ 2 กิโลกรัมต่อหัวต่อคนต่อปี ในขณะที่ญี่ปุ่นและยุโรปรับประทาน ประมาณ 300 กิโลกรัมต่อหัวต่อคนต่อปี

ดังนั้น ธุรกิจร้านเบเกอรี่จึงมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะมีสถานการณ์โควิด-19 หรือไม่มีโควิด-19เบเกอรี่ยังเป็นธุรกิจที่เติบโตอยู่ตลอดเวลา

“ตอนนี้เราโฟกัสไปคือกลุ่มทองม้วนตราสุธีรา เน้นเรื่องของการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งในปีที่ผ่านมาแม้จะมีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แต่ทองม้วนสุธีราเติบโตได้กว่า 11% ปัจจุบันมีส่งออกไปประเทศอังกฤษ จีน ออสเตรเลีย ภายใต้แบรนด์ของเรา เทคนิคการทำการค้าของผู้ค้ารายใหญ่ในต่างประเทศ

ช่วงแรกจะสั่งสินค้าในแบรนด์ของเราไว้วางขายทดลองตลาดก่อน ถ้าขายดีมาก ๆ จะมาว่าจ้างเราผลิต (OEM) ใส่แบรนด์ของต่างประเทศเอง แต่ถ้าขายไม่ดีก็ไม่ต้องลงทุนบรรจุภัณฑ์ ไม่ต้องลงทุนทำการตลาด

ซึ่งที่ผ่านมามีคนไทยมาติดต่อว่าจ้างให้ศรีฟ้าฯทำให้ ซึ่งเราทำให้ได้แต่ต้องจ่ายค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าไลเซนส์สูตรต้องจ่ายให้ครบ ใครมาว่าจ้าง ผมพร้อมทำให้ ผมไม่ได้เชียร์ว่า ต้องใช้ตรายี่ห้อของผม

ถ้ามั่นใจว่าสามารถทำตลาดได้ ทำไปเลย ผมเพียงแต่ห่วงว่าบรรจุภัณฑ์ที่สั่งทำมาจะเหลือ เพราะเวลาสั่งโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ต้องสั่งซื้อจำนวนมากโรงงานถึงผลิตให้ หากขายได้ลอตแรก แล้วลอตต่อไปเงียบ จะแบกรับภาระต้นทุนเหล่านี้เยอะ”

สำหรับผลิตภัณฑ์ตัวใหม่อย่างแรร์ชีสเค้กยอดขายก็ถือว่าไปได้ดี เฉลี่ยวันละหมื่นกว่าชิ้น ศรีฟ้าฯจะเติบโตแนวของเค้กกับทองม้วนเป็นหลัก ส่วนทิศทางของตลาดเบเกอรีคาดเดาค่อนยาก

เนื่องจากเป็นไปตามกระแส เช่น คนนิยมบิงซู ก็จะเปิดร้านขายบิงซูกันมากพอมีกระแสชีสเค้กขึ้นมา ชีสเค้กก็เต็มไปหมด ตอนนี้เป็นกระแสครัวซองต์ ซึ่งตอนแรกก็ไม่รู้ว่ากระแสจะมา

ในขณะที่ศรีฟ้าฯลงทุนสร้างโรงงานผลิตครัวซองต์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กำลังการผลิต 10,000 ชิ้น/ชั่วโมง เฉลี่ยวันละประมาณแสนชิ้น/วัน

ส่วนแผนการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯยังคงเดินหน้าต่อ ซึ่งได้มีการกำหนดปีแล้ว เร็วสุดคือปี 2566 ช้าสุดคือปี 2567 ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการปรับโครงสร้างบริษัท ผู้ถือหุ้น

รวมไปถึงการทำบรรษัทภิบาล หรือ goods governance ภายในปี 2564 ต้องเสร็จสิ้น ปี 2565 ก็จะรันธุรกิจภายใต้มาตรฐานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯยอมรับปี 2566

นอกจากนี้ เนื่องจากกระแสกัญชง กัญชา กำลังมาแรง ทางบริษัทจึงได้มีการพัฒนาทองม้วนและคุกกี้กลิ่นกัญชง ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างไรก็ตาม

ปัจจุบันเรื่องของกฎหมายของกัญชง กัญชา ยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ ซึ่งก็มีความเสี่ยงและบริษัทก็ระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง รอกฎหมายให้ชัดเจนดีกว่า ก้าวช้า แต่ทุกอย่างถูกต้อง

“ตอนนี้เราไม่ได้อยากทำอะไรเกี่ยวกับกัญชาเลย แต่เนื่องจากมีความต้องการของลูกค้าเข้ามา แต่เราก็บอกเขาไปว่าฉันจะทดลองให้ แต่ไม่รับปากว่าจะผลิต เพราะมันจะเกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการของเรา” นายวิเชียรกล่าว