เชียงใหม่ชู “แซนด์บอกซ์” ดึงคน ปัดฝุ่น BusinessTrip ฝ่าโควิดรอบ 3

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ผลักดันทำ “แซนด์บอกซ์” โซนพื้นปลอดโควิด-19 ดึงนักท่องเที่ยวพร้อมผนึกจังหวัดแพร่จัดเส้นทางท่องเที่ยวข้ามเขต 2 จังหวัด ปัดฝุ่น “เชียงใหม่ ไอ เลิฟ ยู”ทำ businesstrip ขึ้นเหนือครั้งเดียว ครบทั้งเที่ยวทั้งประชุม ปรับยุทธศาสตร์ส่งเสริมท่องเที่ยวเกษตรชุมชนเชื่อมโยงการสร้างเกษตรมูลค่าสูง เผยเร่งวางแผนเจรจาเจ้าหนี้แบงก์ปรับโครงสร้างหนี้-เพิ่มสภาพคล่องช่วยธุรกิจรถทัวร์-รถตู้ในจังหวัดเชียงใหม่

นายพัลลภ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ได้เร่งวางแผนแนวทางการตั้งรับด้านการท่องเที่ยวจากผลกระทบของโควิด-19 ระลอก 3 นี้

เพื่อพร้อมเดินหน้าหากสถานการณ์เริ่มเบาบางลง โดยมี 3 โครงการหลักที่จะขับเคลื่อน ได้แก่ 1.การผลักดันพื้นที่เชียงใหม่แซนด์บอกซ์ (Chiang Mai sandbox) ซึ่งมองว่ามีความจำเป็นอย่างมากที่จะสามารถดึงการท่องเที่ยวเข้ามาได้

เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่ยังมีโซนพื้นที่สีขาวที่ไม่มีการติดเชื้อโควิด-19 คือ อำเภอกัลยาณิวัฒนา และมีพื้นที่โซนสีเหลืองอีกหลายอำเภอที่มีความเสี่ยงต่ำ ที่สามารถเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกันได้

นอกจากนี้สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ จะร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เตรียมจัดเส้นทางท่องเที่ยวข้ามเขตระหว่าง 2 จังหวัด โดยใช้โครงการทัวร์เที่ยวไทยของภาครัฐที่จะสนับสนุนค่าเดินทางในลักษณะร่วมจ่าย 40%

ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการเดินทางใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวถูกลง ขณะเดียวกัน จะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ข้ามเขตไปภูมิภาคอื่นด้วย ทั้งภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

แผนงานโครงการที่ 2 คือ การนำโครงการท่องเที่ยวเดิมของเชียงใหม่มาปัดฝุ่นใหม่ คือ โครงการเชียงใหม่ ไอ เลิฟ ยู (Chiang Mai I love you) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ขึ้นเหนือครั้งเดียว ครบทั้งเที่ยว ทั้งประชุม” ในลักษณะ business trip กลุ่มเป้าหมายหลักคือ

ผู้ประกอบการธุรกิจด้านเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร ธุรกิจกาแฟ เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นแหล่งวัตถุดิบการเกษตรออร์แกนิก ซึ่งจะเปิดเวทีจับคู่ธุรกิจ (business matching) กับผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นการเชื่อมโยงธุรกิจท่องเที่ยวกับธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรให้ขับเคลื่อนไปด้วยกัน

ทั้งนี้ ทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯจะปรับยุทธศาสตร์ใหม่ที่จะเน้นส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนโดยมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจในสาขาการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับเกษตรมูลค่าสูง เกษตรแปรรูป

และธุรกิจอาหารในพื้นที่ทั้งชุมชนเมือง และชุมชนชนบท ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพและการตลาดของผลผลิตทางการเกษตร สร้างความเข้มแข็งให้ภาคธุรกิจอาหารพร้อม ๆ กับการท่องเที่ยวเศรษฐกิจของชุมชน

โดยการสร้างงาน สร้างจุดเด่นในชุมชนให้เกิดการรับรู้อย่างแพร่หลาย เกิดเส้นทางการท่องเที่ยวอันเป็นที่มาของรายได้ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นชุมชน ตั้งแต่ผู้ปลูกและผู้ผลิต

เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคอาหาร กระตุ้นการซื้อและการใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร การแปรรูปอาหารปลอดภัย การเพิ่มมูลค่าสินค้า การสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค การส่งเสริมการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ และการสร้างการรับรู้ด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารและการเกษตรด้วย

นายพัลลภกล่าวต่อว่า โครงการที่ 3 คือ การวางแผนแก้ปัญหาปรับโครงสร้างหนี้-เพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการธุรกิจรถทัวร์ รถตู้ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีภาระหนี้กับสถาบันการเงินเอกชน (ลีสซิ่ง)

ขณะนี้รวมตัวกันได้ราว 200 คัน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการเจรจากับเจ้าหนี้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ระหว่างการหาแนวทางและทางออกว่าจะเจรจากับเจ้าหนี้อย่างไร โดยจะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป

“ที่ต้องการผลักดันหลัก คือ รัฐจำเป็นต้องเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ต้องแก้ไขให้ตรงจุด อยากให้มีการโฟกัสในช่วงแต่ละฤดูกาลมากกว่านี้และในช่วงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่เข้ามา

นอกจากการอัดฉีดงบประมาณแล้ว ภาคเอกชนยังต้องการในเรื่องการสนับสนุนการลดต้นทุนอื่น ๆ ที่เป็นค่าสาธารณูปโภคด้วย รวมถึงการลดเงื่อนไขด้านการปล่อยสินเชื่อ และการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพิ่มขึ้นด้วย”

ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการเรื่องการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องเร่งด่วนมาก และจะสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวในระยะยาว

ทั้งนี้ ทางสภาจะขับเคลื่อนเรื่องสำคัญต่อจากนี้ 3 ประเด็น คือ การจัดการภาวะวิกฤตการท่องเที่ยว การดูแลแก้ปัญหาการท่องเที่ยว และการออกแบบการท่องเที่ยว ที่จะต้องเตรียมเมือง เตรียมคน เตรียมความรู้ให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวและพร้อมรับกับการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ เป็นต้น