อุดรธานี ติดโควิดเพิ่ม 17 ราย มีผู้ป่วยเสียชีวิตรายแรก

โรงงานอยุธยาโควิด
ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay

อุดรธานี ติดโควิดเพิ่ม 17 ราย มีเสียชีวิต รายแรก ผู้ว่าสั่งเพิ่มจังหวัดเสี่ยงกักตัวจาก 17 เป็น 22 จังหวัด 

วันที่ 25 เมษายน 2564 นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า วันนี้(25เม.ย.)มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 17 ราย รวมยอดสะสม 307 ราย กลับบ้านแล้ว 26 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ซึ่งเป็นชาว อ.หนองวัวซอ เนื่องจากมีโรคประจำตัวด้วย สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อถือว่ามีแนวโน้มลดลง 

ทั้งนี้ ตนได้มีโอกาสไปเยี่ยมศูนย์ Care หรือโรงพยาบาลสนาม ปัจจุบันมีผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการไปอยู่แล้ว จำนวน 51 ราย มีกำลังใจ และใช้ชีวิตได้ตามปกติ ช่วงเย็นมีการออกกำลังกายพื้นที่ที่เปิดให้ด้านล่าง

 

ส่วนโรงพยาบาลสนามสำหรับบุคลากรการแพทย์ที่ วีธรา บูทิค โฮเทล ตอนนี้มีทีมแพทย์ที่ปฏิบัติการอย่างหนักและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้สถานที่แห่งนี้เกือบเต็ม ซึ่งจังหวัดจะจัดเตรียมสถานที่สำรอง สำหรับทีมแพทย์ผู้ปฏิบัติงานที่ดูแลพี่น้องประชาชนในจุดที่พักที่ปลอดภัยและเหมาะสมเพิ่มขึ้น

สำหรับท่านที่ต้องการจะมอบของเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วย หรือเจ้าหน้าที่ สามารถที่จะไปที่โรงพยาบาลสนาม หรือ CARE โรงพยาบาลอุดรธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี หรือโรงพยาบาลต่างๆ มีคนติดต่อเข้ามาจำนวนมาก พี่น้องชาวอุดรธานีมีใจที่จะช่วยเหลือกันจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้เป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ

ถ้าสถานการณ์เป็นลักษณะนี้ การเปิดเทอมคงเป็นไปได้ยาก การดูแลเด็กและเยาวชนมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ได้สั่งระงับไม่ให้นำเด็กไปยังศูนย์เด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้มีการปิดศูนย์ทั้งของรัฐและเอกชน

นายอุเทน หาแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า แนวโน้มของจังหวัดอุดรธานี คลัสเตอร์ใหญ่ๆ ที่มีการแพร่ระบาด คือ สถานบันเทิง องค์กร หน่วยงาน เริ่มลดลง ยังเหลือการติดเชื้อในวงเล็กๆ คือ ครอบครัว คนใกล้ชิด ดังนั้นแนวโน้มน่าจะดีขึ้น 

การตรวจหาเชื้อยังคงตรวจอย่างต่อเนื่อง วงที่มาเพิ่ม เช่น พนักงานรถตู้ติดเชื้อ นำมาติดครอบครัวตัวเองเพิ่มมา 3 ราย, คลัสเตอร์ อ.โนนสะอาด มีกลุ่มไปเที่ยวภูเก็ต 6 คน ระหว่างวันที่ 7-11 เมษายน 2564 กลับมามีผู้ติดเชื้อ 1 ราย รายที่ 275 กลับมาวันที่ 12 เมษายน พบติดเชื้อ 22 เมษายน 2564 

นอกจากนั้นเพื่อนที่ทำงาน และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง แม่ของตัวเอง รายที่ 274 เป็นผู้สูงอายุ แม่ของรายที่ 246 , คลัสเตอร์งานบวชที่ จ.ชัยภูมิ บ้านโหล่น อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ระหว่างวันที่ 16-17 เมษายน 2564 ในงานนี้มีผู้ติดเชื้อจากกรุงเทพฯ มาร่วมงานด้วย เมื่อกลับมาที่อุดรฯ พบว่าทั้ง 4 คนมีอาการติดเชื้อ ในวงนี้เป็นเจ้าของสวนยางพารา ทำให้คนงานสวนยางพาราติดเชื้อ, คลัสเตอร์รดน้ำดำหัวช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีลูกหลานมาจาก จ.นนทบุรี ในงานมีสูงอายุติดเชื้อ ลูกหลานอีกครอบครัวที่ไปรดน้ำดำหัว รายที่ 272 อายุ 41 ปี จะเห็นว่า การรวบกลุ่มของครอบครัวที่ตรวจพบเชื้อตั้งแต่สงกรานต์

โดยรวมจากการวิเคราะห์ รายที่ 270-290 พบว่า 1.บุคคลในครอบครัว บุคคลใกล้ชิด เพื่อร่วมงาน(โรงเรียน สวนยางพารา ร้านกาแฟ) 2.รับจ้างซักผ้า 3.เดินทางร่วมกับผู้ติดเชื้อในยานพาหนะเดียวกัน(รถยนต์ส่วนตัว) จากกรุงเทพฯ ถึง อุดรธานี 4.บุคลากรทางการแพทย์(การปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อ) 5.กิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกันจำนวนมาก งานบุญร้อยวัน งานบวช

อยากให้พี่น้องประชาชน เน้นมาตรการสำคัญ 1.มาตรการป้องกันส่วนบุคคล D-M-H-T-T 2.มาตรการป้องกันในองค์กร Work From Home 3.งดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคน เช่น สังสรรค์ งานประเพณี กิจกรรมทางศาสนา 4.งดรับประทานอาหารร่วมกันในองค์กร บุคคลอื่นนอกครอบครัว 5.ป้องกันการเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ เช่น ตลาด สถานที่ทำงาน ร้านอาหาร

สำหรับผู้เสียชีวิตรายแรกของจังหวัดอุดรธานี เป็นผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 294 เพศชาย อายุ 24 ปี ทำงานในห้องอาหาร โรงแรมบ้านเชียง พักที่หอพักใน อ.เมือง จ.อุดรธานี มีโรคประจำตัว คือ Lymphangioma หรือ เนื้องอกของหลอดน้ำเหลืองที่เอวแต่กำเนิด ขาดการรักษา ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์มาแล้ว 2 ปี มีสิทธิผู้พิการตั้งแต่กำเนิด น้ำหนัก 75 กิโลกรัม 

ประวัติสัมผัสโรค เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2564 สังสรรค์กับญาติและเพื่อนมาจากสมุทราปราการ และมีการสังสรรค์ในที่ทำงาน ต่อมาเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 มีอาการชาที่ขาหนีบข้างซ้ายและบวมแดง, วันที่ 22 เมษายน 2564 ถ่ายเหลวบ่อยครั้ง อาเจียน มีไข้ และวันที่ 24 เมษายน 2564 มีอาการหอบ เหนื่อย ไข้สูง ไปรับรักษาที่โรงพยาบาลหนองวัวซอในเวลา 08.00 น. แพทย์ประเมินตรวจหาเชื้อโควิด-19 ส่งต่อโรงพยาบาลอุดรธานี เวลา 11.45 น. , ผลพบเชื้อโควิด-19 เวลา 18.00 น. และเสียชีวิตในเวลา 21.45 น.

จากการที่จังหวัดอุดรธานี เป็นพื้นที่สีแดง และได้ประกาศให้ 17 จังหวัดพื้นที่สีแดงมาแล้วต้องกักตัว ได้มีการวิเคราะข้อมูลพบว่า หลายจังหวัดมีอัตราการติดเชื้อค่อนข้างสูง เช่น เพชรบุรี พระนครศรีอยุธยา มหาสารคาม สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ จึงได้เพิ่มอีก 5 จังหวัด เป็น 22 จังหวัด ซึ่งพื้นที่เหล่านี้พบว่ามีอัตราการเพิ่ม 25-30 ราย และยอดสะสม 100 รายขึ้นไป ดังนั้นบุคคลที่มาจากพื้นที่เหล่านี้ต้องกักตัว 14 วัน โดยให้รายงานตัวกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พร้อมลงทะเบียน โปรแกรม COVID WATCHOUT และให้ไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือ Rapid Test ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อที่จะได้ค้นหาให้เร็วที่สุด จะได้นำมาเข้าสู่กระบวนการรักษา 

ส่วนผู้ที่ตรวจไม่พบก็ยังต้องกักตัวที่บ้าน หรือ Home Quarantine เป็นระยะเวลา 14 วัน ได้แก่ กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ชลบุรี, สมุทราปราการ, ประจวบคีรีขันธ์, สมุทรสาคร, ปทุมธานี, นครปฐม, ภูเก็ต, นครราชสีมา, นนทบุรี, สงขลา, ตาก, สุพรรณบุรี, สระแก้ว, ระยอง, ขอนแก่น, เพชรบุรี, พระนครศรีอยุธยา, มหาสารคาม, สุราษฎร์ธานี และเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2564

สำหรับผู้ที่มาจากจังหวัดเสี่ยงมารายงานตัว แต่ละวัน 700-800 คน เห็นว่าประชาชนเริ่มให้ความร่วมมือและตระหนักมากขึ้น ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี เป็นพื้นที่ที่ยังมีปัญหา ในพื้นที่ต่างอำเภอ หรือรอบนอกให้ความร่วมมือค่อนข้างดี โดยในเขตเทศบาลนครอุดรธานี มีคนที่ลงเครื่องบินมา และอาจจะพักในตัวจังหวัด

สำหรับเตียงผู้ป่วย เรามีทั้งเตียงแยกโรค และห้องความดันลบ มีประมาณ 477 เตียง ใช้ไป 100 กว่าเตียง ในโรงพยาบาลอุดรธานี และโรงพยาบาลชุมชน เหลืออยู่เกือบ 300 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อในจังหวัดอุดรธานี

นายสยาม กล่าวเสริมว่า เรื่องเตียงผู้ป่วย เรามีการบริหารจัดการ การถ่ายเทผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ไปสังเกตอาการที่ CARE ส่วนที่ไปดูไว้ที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ได้มีการปรับพื้นที่รอบนอกเพื่อรองรับอีก 500 เตียง นอกจากนั้นโรงพยาบาลอำเภอต่างๆ ได้ขยายขีดความสามารถของโรงพยาบาลตัวเองออกไปอีก เช่น บางโรงพยาบาลรับได้ 10-20 เตียง ก็ดูพื้นที่ที่อยู่ภายในโรงพยาบาลที่ขยายในโรงพยาบาลตัวเองได้ และสำรองของสำรองของสำรอง คือ ในทุกอำเภอ ขณะนี้นายอำเภอได้ดูพื้นที่ที่เหมาะสม ไม่ใกล้ชิดชุมชน มีลักษณะอาคารที่เหมาะสม กันน้ำกันแดด อากาศถ่ายเท เจ้าหน้าที่สามารถไปดูได้ ทุกอำเภอมีการสำรวจพื้นที่ของตัวเอง ขณะเดียวกันมาตรการของกรมการแพทย์เอง ทำให้เราบริหารจัดการเตียงได้ดีขึ้น

นายแพทย์สุมน ตั้งสุนทรวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลอุดรธานี กล่าวว่า โรงพยาบาลอุดรธานี ได้ประกาศ เรื่อง ระบบให้บริการสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในจังหวัดอุดรธานี ทำให้โรงพยาบาลฯ มีผู้ป่วยติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 100 คนต่อวัน นอกจากนี้ยังมีบุคลากรติดเชื้อ และมีกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และเสี่ยงปานกลางไม่น้อยกว่า 100 คน ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชนที่เข้ามารับบริการในโรงพยาบาล และเพื่อให้การบริหารจัดการบุคลากรให้มีจำนวนเพียงพอต่อผู้มารับบริการ ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน จึงขอปรับระบบบริการ ดังนี้

1.การให้บริการผู้ป่วยนอกกรณีไม่เร่งด่วนหรือมีโรคเรื้อรัง สามารถใช้ช่องทางปรึกษาสื่อสารที่กำหนดไว้ หรือขอรับยาทางไปรษณีย์ได้ 2.การให้บริการผู้ป่วยใน ให้งดเยี่ยม, เปิดให้บริการผ่าตัดได้ 5 ห้องต่อวัน สำหรับผู้ป่วยเร่งด่วน ฉุกเฉิน โดยทีมวิสัญญีแพทย์ และหรือแพทย์ผู้ผ่าตัด ร่วมกันพิจารณาลำดับความสำคัญ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายนถึง 9 พฤษภาคม 2564 หรือจนกว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลง

“เนื่องจากโรงพยาบาลอุดรธานี มีผู้ป่วยปริมาณมาก ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกนโยบาย สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการผิดปกติ เราจะให้รักษาอยู่ที่โรงพยาบาล 10 วัน แล้วกลับไปกักตัวที่บ้าน หรือ Home Quarantine 14 วัน แต่เน้นว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย หรือมีอาการมาก ต้องอยู่โรงพยาบาล 14 วัน ตามมาตรฐานการรักษา”

นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ผู้บริหาร บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัดโครงการ ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เร่งสร้างเพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม โดยแวร์เฮ้าส์หลังแรกสร้างเสร็จพร้อมใช้งานแล้ว และจะทยอยเสร็จอีก 2 หลัง สำหรับแวร์เฮ้าส์หลังแรก กำลังทำรั้วคอนกรีตและไม้ ให้สวยงาม ส่วนห้องน้ำหญิง เจ๊หงส์ หรือนางอรพิน พิพัฒน์วิไลกุล ภรรยาได้ทุ่มเต็มที่ โดยสั่งตู้อบความดัน จาก SCG ที่ โรงพยาบาลอุดรธานี ต้องการใช้มาก มา โดยจะมาถึงวันที่ 29 เมษายน นี้ ปัจจุบันโรงพยาบาลอุดรธานีได้ยืมตู้อบความดันจาก โรงพยาบาลศรีธาตุ มาใช้ก่อน