ชนกานต์ ทีฆธนานนท์ ปั้น “Smart พุ่มพวง” ต่อยอดตลาดศรีเมืองทอง

นานนับทศวรรษกับการเติบโตของตลาดค้าปลีก-ค้าส่งผักและผลไม้ที่ใหญ่สุดในภาคอีสาน ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจาก “เจริญ ทีฆธนานนท์” ได้แก่ ตลาดเมืองทองเจริญศรี จังหวัดอุดรธานี, ตลาดศรีเมืองทอง จังหวัดขอนแก่น และตลาดวารินเจริญศรี จังหวัดอุบลราชธานี

กระทั่งมาถึงช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ต้องปรับตัวอย่างรอบด้าน “ชนกานต์ ทีฆธนานนท์” กรรมการ YEC (Young Enterpreneur Chamber of Commerce) จังหวัดขอนแก่น

หนึ่งในทายาทของคุณ “โกเมศ ทีฆธนานนท์” ผู้บริหารตลาดศรีเมืองทอง ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การค้าขายต่อไปในอนาคตจะก้าวไปสู่รูปแบบของอีคอมเมิร์ซอย่างแน่นอน

“ชนกานต์” บอกว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวได้จุดประกายความคิดต่อยอดธุรกิจตลาดกลางขายผักและผลไม้ของครอบครัว ให้เกิดโครงการ “ตลาดเคลื่อนที่สนองชีวิตใหม่กับ Smart พุ่มพวง”

และได้เข้าร่วมอบรม YEC Pitching 2020 จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2+รางวัล popular vote โครงการนี้ค่อนข้างตอบโจทย์ในเรื่อง new normal business โดยใช้การยกระดับจากรถขายของพุ่มพวงธรรมดาไปสู่การเป็น smart พุ่มพวงเพื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัล

“Smart พุ่มพวงเริ่มต้นแนวคิดมาจากการระบาดของโควิด-19 รอบแรก ช่วงที่มีมาตรการควบคุมพื้นที่จนต้องปิดห้างสรรพสินค้า ปิดตลาด ประชาชนในจังหวัดขอนแก่นค่อนข้างมีความยากลำบากในการออกไปจับจ่ายซื้อของ

ฉะนั้นจุดประสงค์หลักของโครงการนี้คือ ต้องการช่วยพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่สามารถมาขายของในตลาดได้ แต่สามารถกระจายสินค้าขายให้ชาวขอนแก่นเลือกซื้อเพื่อไว้บริโภคได้แม้อยู่บ้าน

เหมือนเป็นตลาดเคลื่อนที่ สะดวกต่อการจับจ่ายซื้อขายโดยให้ผู้บริโภคเป็นคนเลือกซื้อสินค้าได้ตามต้องการ รูปแบบจะแตกต่างจากการสั่งซื้อแล้วส่งตามออร์เดอร์”

ในปี 2020 หรือปี 2563 ก่อนเข้าร่วมการ pitching ได้ทดลองขายผักและผลไม้โดยใช้รถ Smart พุ่มพวง โดยตลาดศรีเมืองทอง เป็นการทำงานในเฟส 1 ใช้รถกระบะต่อโครงซึ่งได้รับการสนับสนุนและออกแบบจากบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) จังหวัดขอนแก่น รวม 4 คัน

ทำการทดลองขายประมาณ 8-9 เดือน ในเส้นทางตำบลเมืองเก่า ตำบลบ้านเป็ดตำบลศิลา และถนนหลังศูนย์ราชการ ผลตอบรับค่อนข้างดี และพื้นที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือตำบลบ้านเป็ด เพราะมีหมู่บ้านจัดสรรค่อนข้างมาก และผลตอบรับจากการทดลองตลาดในภาพรวมค่อนข้างดีตามที่ประเมินไว้กว่า 70%

สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการทำ Smart พุ่มพวงคือ มีภาระค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันวิ่งรถค่อนข้างสูง ระยะทางการวิ่งรถในจุดขายค่อนข้างไกลเนื่องจากไม่ทราบความต้องการซื้อของลูกค้ามาก่อน

ทำให้คาดการณ์ยากและผักสดมีอายุค่อนข้างสั้น ทำให้เกิดความเสียหาย จุดนี้จะต้องนำมาคิดพัฒนาต่อไป เช่น แปรรูปวัตถุดิบสินค้าผักผลไม้ให้เป็นอาหารพร้อมทาน ทุกชิ้นต้องไม่เกิดการทิ้งขว้างโดยไร้ค่า

“ชนกานต์” เล่าว่า หลังจากทำการทดลองแล้วได้หยุดชะลอโครงการเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มถัดไปเป็นเฟส 2ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ทั้งพัฒนาระบบสั่งซื้อผ่านแอปพลิเคชั่น การติดจีพีเอส การสั่งซื้อแบบพรีออร์เดอร์

การจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์โดยไม่ต้องซึ่งกระบวนการดังกล่าวค่อนข้างใช้เวลาพอสมควร วางแผนไว้ว่าน่าจะเห็นเป็นรูปธรรมในช่วงปลายปีนี้ เบื้องต้นไม่น่าจะเกินเดือนตุลาคม 2564

“ปัจจุบัน Smart พุ่มพวงยังทำการตลาดแบบ B2C หรือการขายปลีกเพียงอย่างเดียว แต่จะเริ่มจับกลุ่ม B2B มากขึ้นในอนาคต หลังจากมีแอปพลิเคชั่นที่สามารถพรีออร์เดอร์ได้

ขายส่งตามร้านอาหารได้จะทำให้ได้ปริมาณลูกค้าเพิ่มมากขึ้น โดยตอนนี้มีสินค้าผักผลไม้สดเป็นหลักเพียงอย่างเดียว มีเครื่องปรุงอาหารด้วยเล็กน้อย รวมสินค้าที่ขายมีอยู่ประมาณ 200 รายการ ตั้งเป้าไว้ว่าอยากให้รวมทุกอย่างมีถึง 1,000 รายการในอนาคต”

ทั้งนี้ นอกจากตลาดศรีเมืองทองแล้วได้มีการพูดคุยกับเครือญาติที่เป็นผู้บริหารตลาดเมืองทองเจริญศรีด้วย เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาให้โครงการ Smartพุ่มพวงให้เป็นโมเดลที่เข้มแข็ง สามารถกระจายตัวไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสาน รวมไปถึงภูมิภาคอื่นในอนาคต

“ชนกานต์” บอกว่า ปัจจุบันตลาดศรีเมืองทองถือว่าเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดขายส่งผักและผลไม้ของภาคอีสาน ก่อตั้งมารวม 17 ปีแล้วนับตั้งแต่ปี 2547 อยู่บนพื้นที่ 23 ไร่ใจกลางเมืองขอนแก่น

อัตราการเติบโตของตลาดจาก 3 ปีย้อนหลังคาดว่าน่าเฉลี่ยอยู่ที่ 10% ต่อปี มีเงินสะพัดภายในตลาดสู่พ่อค้าแม่ค้าและการขนส่งกระจายไปตามจังหวัดอื่นน่าจะอยู่ที่ 20 ล้านบาทต่อวัน

สินค้าส่วนใหญ่คือผักสดที่มาจากตลาดสี่มุมเมืองเป็นหลักมีผักจากพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดอื่นประปราย หรือเรียกว่า ผักบ้าน ผักใบ เช่น ผักโหระพากะเพรา ผักชี เพียง 15% เท่านั้น

และทั้งหมดจะถูกสุ่มตรวจสารพิษ 1 ครั้งต่อเดือน หากพบค่าเกินมาตรฐานพ่อค้าแม่ค้าจะได้รับการตักเตือน บางครั้งอาจตรวจไปถึงต้นตอของสวนผู้ผลิตเลยเพราะพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเราจะมีลูกสวนเป็นของตัวเองหรือมีสวนของตัวเอง

ตอนนี้ตลาดกลางในภาคอีสานยังต้องรับสินค้ามาจากกรุงเทพฯ แต่เป้าหมายคืออยากให้จังหวัดขอนแก่นหรือจังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางขายปลีก-ขายส่ง ผักและผลไม้ของภาคอีสานเพื่อกระจายสินค้าไปยังจังหวัดข้างเคียง ส่งไปถึง สปป.ลาว ไปยังจังหวัดอุบลราชธานี

และเข้าสู่เวียดนามได้ สามารถซื้อผักผลไม้ได้โดยตรงกับผู้ผลิตได้โดยไม่ต้องผ่านตลาดในกรุงเทพฯ ซึ่งตลาดศรีเมืองทองมีแผนว่าจะเริ่มสนับสนุนเกษตรกรในจังหวัดให้ปลูกผักเพื่อเป็นศูนย์กลางตลาดผักต่อไปในปี 2566

นอกจากนี้ ตลาดศรีเมืองทองได้มองถึงการทำตลาดอาหารทะเลในอนาคตด้วย เพราะเล็งเห็นความน่าสนใจจากพื้นที่จังหวัดว่าค่อนข้างไกลจากทะเล หากทำศูนย์กลางกระจายสินค้าอาหารทะเลได้ก็จะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคในภาคอีสาน

อย่างไรก็ตาม “ชนกานต์” บอกว่า การทำธุรกิจตลาดสดนั้นจะต้องมีการพัฒนาขึ้นและเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการเข้าสู่ระบบอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) แม้ไม่ใช่ในเร็ววัน 3-4 ปีนี้ก็ตาม แต่ต้องให้ความรู้และเริ่มสื่อสารกับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเกี่ยวกับระบบอีคอมเมิร์ซให้มากขึ้น

“ในฐานะผู้บริหารกิจการรุ่น 3 ของตลาดศรีเมืองทองซึ่งร่วมกับพี่สาวอีกสองคน เรามองอนาคตว่า พ่อค้าแม่ค้าต้องรู้จักการใช้งานมือถือและอินเทอร์เน็ตที่ไม่ใช่การโทร.เพียงอย่างเดียว

หรือให้เรียนรู้การใช้แอปพลิเคชั่นเข้ามาช่วยเหลือในการสั่งซื้อสินค้า การกระจายสินค้าเพื่อความรวดเร็วว่องไวมากขึ้น อย่างในตลาดที่อุดรธานีเองก็เริ่มมีการตั้งกลุ่มกลางแลกเปลี่ยนสินค้ากันแล้ว เป็นภาพอนาคต ชี้ให้เห็นว่าเราสามารถพัฒนาธุรกิจการทำตลาดให้เติบโตต่อไปได้อีกมาก” ชนกานต์กล่าว