คุยกับ “ธีรินทร์” ซีอีโอดาวรุ่งเมืองชล รุกส่งออกข้าวถุง-ลงทุนอสังหาฯ

หากให้นึกถึงลูกไม้ใต้ต้นด้านธุรกิจการค้าที่ฉายแววเปล่งประกายในเมืองชลเวลานี้ ชื่อของ “กอล์ฟ-ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล” นักธุรกิจหนุ่มวัย 38 ปี ต้องติดโผอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยวิสัยทัศน์ และผลงาน ผลักดันให้คุณกอล์ฟขึ้นนั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีอาร์ ไทย ฟู้ดส์ จำกัด รับไม้ต่อจากคุณป๊า

“สุนทร ธัญญวัฒนกุล” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ข้าวไก่แจ้ ที่ปัจจุบันหันไปทุ่มเทเวลา 99.99% ให้กับงานส่วนรวมในตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี

ตั้งเป้าเพิ่มส่งออก

ธีรินทร์เล่าให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า ธุรกิจข้าวตราไก่แจ้เริ่มจากคุณพ่อที่สร้างขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว จากขายเพียง 3 อำเภอ ปัจจุบันขยายไปทั่วประเทศ และส่งออก มีกำลังการผลิตจาก 3 โรงงาน รวม 3-4 หมื่นตัน/เดือน ทำรายได้กว่า 2 พันล้านบาท/ปี มีสัดส่วนจำหน่ายภายในประเทศ และส่งออก คือ 70 : 30 โดยตลาดในประเทศยังเป็นตลาดหลักที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม ปีนี้การเติบโตลูกค้าส่งออกค่อนข้างสูง เดิมมีเพียง 5% ตอนนี้เกือบ 20% ในอนาคตจะเร่งส่งออกให้มากขึ้น ส่วนแผนในอนาคตต้องดูไปอีก 3-4 ปี ค่อยประเมินอีกครั้งว่าจะขยายเพิ่มหรือไม่

สำหรับข้าวสารไก่แจ้มี 30-40 ชนิด ปัจจุบันมี 300 กว่า SKU ขนาดตั้งแต่ 1 กิโลกรัม ถึง 50 กิโลกรัม ส่งออกไปแอฟริกา ยุโรป อเมริกา แคนาดา เ

ป็นหลัก ความโดดเด่น จะเน้นคุณภาพ เพราะการทำแบรนด์ถ้าไม่ดีมันไปไม่ได้ จึงต้องพยายามทำให้ลูกค้าเชื่อใจเรื่องคุณภาพ มั่นใจได้ว่าทุกครั้งที่หุงต้องเหมือนเดิม พูดเหมือนง่าย แต่ทำยาก เพราะสินค้าเกษตรการรักษามาตรฐานต้องตลอดชีวิตของแบรนด์

ลุยตั้งศูนย์อินโนเวชั่นเมืองชล

ธีรินทร์เล่าถึงเส้นทางธุรกิจต่อว่า หลังข้าวสารแบรนด์ไก่แจ้ติดตลาด จึงได้คิดต่อยอดเพิ่มมูลค่าสินค้าที่มี ไม่ว่าจะเป็นข้าว หรือข้าวเหนียว ซึ่งเป็นที่มาของข้าวต้มมัด แต่ด้วยตนเองไม่มีโนว์ฮาวเรื่องนวัตกรรมอาหาร จึงใช้เวลาถึง 2 ปีในการค้นคว้าวิจัย ลองผิดลองถูกจนออกมาเป็นข้าวต้มมัดภายใต้แบรนด์แม่นภา บริษัท ทีอาร์ ไทย ฟู้ดส์ จำกัด

ปัจจุบันข้าวต้มมัดแม่นภาส่งเข้าโมเดิร์นเทรด และจับกลุ่มออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มที่เล่นกีฬา เช่น วิ่ง หรือปั่นจักรยาน ข้าวต้มมัดจึงสะดวกแก่การพกพา แล้วให้พลังงานสูง นอกจากตลาดในประเทศ ยังส่งออกอีก 20 กว่าประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกา จีน อิสราเอล เกาหลี จากนั้นแตกไลน์มาเป็นสแน็กอีก 6 ผลิตภัณฑ์ ที่ทำจากผลผลิตในพื้นที่ อาทิ มันฝรั่ง มันม่วง ฟักทอง เผือก เป็นต้น ปัจจุบันกลายเป็นยอดขายหลักของบริษัท เติบโตช่วงแรกประมาณ 30-40% รายได้ปัจจุบันประมาณ 100 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้ยังแตกไลน์ผลิตข้าวพร้อมกิน ส่งลูกค้าที่อเมริกา ซึ่งเป็นบริษัททำปลาแซลมอนพร้อมกิน ซึ่งต้องการข้าวจากเราเพื่อแมตช์กับแซลมอนของเขา

จากประสบการณ์ลองผิดลองถูก ที่พบว่าเป็นเรื่องเสียเวลาอย่างมาก ทำให้นักธุรกิจหนุ่มที่หมวกอีกใบ คือ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดชลบุรี ได้เสนอแนวคิดสร้าง “อินโนเวชั่นฮับ” จังหวัดชลบุรีขึ้นมา โดยล่าสุด หอการค้าจังหวัดชลบุรี และวายอีซี ได้เซ็น MOU กับ มหาวิทยาลัยบูรพาในการวิจัยผลิตภัณฑ์เพื่อออกสู่โลกความจริงเป็นธุรกิจได้ ซึ่งครั้งนี้ถือว่าเป็นการจับมือกันที่ชัดเจนมากขึ้น

“ถ้าเริ่มขับเคลื่อนได้เมื่อไร มองว่าจะมีอะไรอีกหลายอย่างตามมา เพราะมหาวิทยาลัยมีโนว์ฮาว มีความรู้ มีผลงานวิจัย ขณะที่หอการค้ามีความรู้เกี่ยวกับตลาด เทรนด์ และเมื่อ 2 สิ่งนี้มาแมตช์กัน ทุกอย่างจะต่อยอดไปได้ และผมก็มองว่าถ้าจังหวัดชลบุรีมีอินโนเวชั่นฮับขึ้นมา เหมือนวันสต็อปเซอร์วิส สำหรับผู้ประกอบการที่จะพัฒนาสินค้า แล้วมีคนมาช่วยไกด์ ช่วยคิด มีโนว์ฮาวมาสนับสนุน น่าจะพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจของจังหวัด ของประเทศได้เยอะมาก ยกตัวอย่าง เมื่อก่อนผมขายข้าวได้กิโลกรัมละ 10 บาท แต่พอทำข้าวต้มมัด ใช้ข้าวนิดเดียวเพิ่มมูลค่ามหาศาล แล้วถ้าทำแบบนี้ได้ทุกสินค้า ผมมองว่าศักยภาพของเศรษฐกิจก็จะเติบโตขึ้นโดยปริยาย”


จับธุรกิจอสังหาฯด้วยใจรัก

นอกจากธุรกิจหลักอย่างข้าวไก่แจ้ วันนี้นักธุรกิจหนุ่มไฟแรงยังมีพอร์ตอสังหาริมทรัพย์อยู่ในมือ เป็นโรงแรม 2 แห่ง คือ ราชา เรสิเดนซ์ ที่ศรีราชา ขนาด 104 ห้อง และ ธาริส อาร์ท โฮเทล

(Taris art hotel Phrae) ที่จังหวัดแพร่ ขนาด 150 ห้อง และ อพาร์ตเมนต์ให้เช่าอีก 2 แห่ง ที่นิคมอมตะ และอีสเทิร์นซีบอร์ด รวมแล้วรายได้ 100 กว่าล้านบาท/ปี

“ตั้งแต่เด็ก เวลาไปพักที่ไหน รู้สึกว่าคนมีโรงแรมมีตึกรู้สึกว่าเขารวย เจ๋ง ผมคิดแค่นี้ พอโตขึ้นก็ชอบเรื่องที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่ได้ชอบขายนะ แต่ชอบทำตามใจ คือ ทำเป็นความรักส่วนตัว แฟนผมก็ชอบแต่งบ้าน มีแพสชั่น แต่มองว่าทำก็ได้ ตอนนี้เวลาไปเที่ยวพักโรงแรม จะเปลี่ยนที่นอนทุกวัน ทดลองอยู่ตั้งแต่โรงแรมถูก ๆ ถึงแพงมาก ๆ เพราะอยากรู้ว่าถูก ๆ ถูกและดีทำอย่างไร แพงเว่อร์ ๆ ทำยังไงให้ขายได้”

สำหรับ “ราชา เรสิเดนซ์ ศรีราชา” เป็นอสังหาฯที่ให้บริการแบบเช่า ทั้งรายเดือน และรายวัน ที่มา คือ คุณกอล์ฟได้เทกโอเวอร์แล้วนำมารีโนเวต โดยใช้เวลา 2 ปี ปัจจุบันมีลูกค้า 70-80% เป็นชาวญี่ปุ่น และล่าสุด กับการเทกโอเวอร์โรงแรมเก่าแก่อายุ 40 ปี ที่จังหวัดแพร่มารีโนเวตด้วยงบประมาณ 100 กว่าล้านบาท

แปลงโฉมจากโรงแรมเซลคืนละ 100 บาท ปัจจุบันเป็นโรงแรมสมัยใหม่แห่งเดียวของจังหวัดแพร่ ในราคาห้องละ 800-900 บาท กลุ่มลูกค้าที่แพร่จะเป็นกลุ่มประชุมสัมมนา ทั้งบริษัท และภาครัฐ นอกจากนี้ยังตอบโจทย์นักท่องเที่ยวและนักกีฬาที่มาจัดกิจกรรม หรือกลุ่มทัวร์ ซึ่งคุณกอล์ฟเผยว่า เตรียมสร้างให้เป็นเชนแล้วขยายไปเรื่อย ๆ ตามจังหวัดต่าง ๆ ที่สนใจ โดยเฉพาะที่ติดทะเล ที่วาดฝันไว้

“ผมไม่เคยไปแพร่เลย พอเพื่อนมาแนะนำให้เทกโอเวอร์โรงแรม ผมก็ไปอยู่ 1 คืน 2 วัน ไปกินใช้อยู่ที่นั่น โลเกชั่นอยู่ใจกลางเมือง รู้สึกว่าอาหารการกินอร่อยและเป็นเมืองน่ารัก ไปไหน 5 นาทีถึง แต่ที่รถไม่ติด ในอีกแง่ก็อาจแปลว่าไม่มีคน ยังคิดว่าจะลงทุนดีไหม สุดท้ายมองว่าอาจเป็นโอกาส เพราะการแข่งขันน้อย ผมก็มีสิทธิเป็นเบอร์หนึ่ง และตอนนี้แพร่เป็น 12 เมืองต้องห้ามพลัส ได้รับการโปรโมตเยอะ เริ่มมีมาทำร้านกาแฟเยอะขึ้น เป็นเมืองชิก ๆ มากขึ้น มีร้านอาหารดี ๆ ให้นั่ง มองเห็นว่าน่าจะมีศักยภาพระดับหนึ่ง และราคาก็ไม่ได้แพงมาก หลักสิบล้าน ซึ่งหลักนี้ซื้ออะไรไม่ได้เลยที่ชลบุรี”

ด้วยวิสัยทัศน์บวกกับแพสชั่นที่เต็มเปี่ยม จึงไม่แปลกที่ชื่อของ “ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล” จะโดดเด่นฉายแวว และเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่น่าจับตาไม่น้อย