ชุมพรยันเป้า GPP ปีนี้แสนล้าน ท่องเที่ยวสูญ 200 ล้าน-พืชเกษตรราคาดี

หอการค้าชุมพรชี้โควิด-19 ระลอก 3 ทำยอดขายสินค้าอุปโภค-บริโภคชะลอตัว แต่ยืนยันเป้ารายได้ GPP 1 แสนล้านบาทปี 2564 ยังทำได้ เหตุพืชเศรษฐกิจหลัก 3 ตัว “ยางพารา-ปาล์มน้ำมัน-ทุเรียน” ราคาดี ด้านสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวฯ เผยโควิดระลอก 3 ทำรายได้ท่องเที่ยวสูญกว่า 200 ล้านบาท ยอดจองโรงแรม-รีสอร์ต-ธุรกิจนำเที่ยวถูกยกเลิกหมด

นายไพบูลย์ ลิ้มเลิศวาที ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 จังหวัดชุมพรพบผู้ติดเชื้อวันละประมาณ 5-6 คน

ส่งผลกระทบให้ประชาชนไม่ค่อยกล้าออกจากบ้านมา และจะออกมาจับจ่ายใช้สอยเท่าที่จำเป็น ส่งผลกระทบให้ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ร้านโชห่วยที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคยอดขายชะลอตัว

รวมถึงธุรกิจภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการจะซบเซา แต่ภาพรวมเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังดีอยู่ เพราะประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรไม่ได้รับผลกระทบเพราะปีนี้ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียนราคาดี คนในภาคเกษตรจึงมีเงินมีกำลังซื้อแต่ไม่อยากออกจากบ้านมาจับจ่ายกัน

ดังนั้น ที่จังหวัดชุมพรตั้งเป้าหมายปี 2564 จะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) เป็น 1 แสนล้านบาท เทียบกับคาดการณ์ปี 2563 GPP มีมูลค่า 90,591 ล้านบาท ยังยืนยันว่าสามารถทำได้

โดยจะใช้การผลิตภาคเกษตรเป็นตัวขับเคลื่อน ตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากโครงสร้างเศรษฐกิจสำคัญในภาคเกษตรเป็นร้อยละ 53.24 โดยจะเพิ่มการปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ

โดยเฉพาะทุเรียนจะปลูกเพิ่มร้อยละ 37 เพื่อให้ผลผลิตเพิ่มเป็น 207,723-295,000 ตันต่อปี เพิ่มการปลูกยางพารา ร้อยละ 9.3 เพื่อให้ผลผลิตเพิ่มเป็น 117,490 ตันต่อปี เพิ่มการปลูกปาล์มน้ำมัน ร้อยละ 15.5 ให้ผลผลิตเพิ่มเป็น 2,704,712.40 ตันต่อปี

เพิ่มการปลูกมะพร้าว ร้อยละ 13 ให้ผลผลิตเพิ่มเป็น 146,731.6 ตันต่อปี เพิ่มการปลูกมังคุด ร้อยละ 10 ให้ผลผลิตเพิ่มเป็น 35,339.3 ตันต่อปี เพิ่มการปลูกกาแฟ ร้อยละ 12 ให้ผลผลิตเพิ่มเป็น 12,517.5 ตันต่อปี

เพิ่มการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ร้อยละ 30 ให้ผลผลิตเพิ่มเป็น 16,826.40 ตันต่อปี เพิ่มการเลี้ยงไก่เนื้อ, ไก่ไข่ ร้อยละ 1.5 ให้ผลผลิตเพิ่มเป็น 2,064,624 ตัวต่อปี และส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจสำคัญปี 2562 ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักได้แก่ การผลิตภาคเกษตรกรรม มีสัดส่วนร้อยละ 48.77 คิดเป็นมูลค่า 45,943 ล้านบาท ภาคบริการและท่องเที่ยว มีสัดส่วนร้อยละ 41.40 คิดเป็นมูลค่า 39,000 ล้านบาท และภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนร้อยละ 9.83 คิดเป็นมูลค่า 9,260 ล้านบาท

นายอนัน รามพันธุ์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า ก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ การท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพรมีแนวโน้มว่ากำลังจะไปได้ดี

โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ บริษัทนำเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ที่พัก รีสอร์ต มีการสั่งจองล่วงหน้ามาตั้งแต่ปลายปี 2563 จนทำให้ที่พักโดยเฉพาะบรรดารีสอร์ตที่อยู่ริมหาดต่าง ๆ มีการจองเต็มหมด

แต่เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ยอดจองห้องพักของโรงแรม และรีสอร์ตต่าง ๆ ก็เหลือแค่ 0-5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนธุรกิจนำเที่ยวของทุกบริษัทเป็น 0 หมด หรืออาจจะเรียกว่าล้มกันทั้งระบบเลยก็ได้คนที่เคยจองแพ็กเกจท่องเที่ยวและที่พักหลังวันที่ 16 เมษายน 2564 ก็พากันขอยกเลิกกันหมด

สำหรับมาตรการในการบังคับให้ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้านั้น ตนเห็นด้วยหากใช้กับเมืองใหญ่ ๆ อย่างกรุงเทพฯ แต่ไม่ควรมีการบังคับใช้ในต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมืองที่เปิดโล่ง

และไม่มีผู้คนแออัดเหมือนในเมืองใหญ่ ๆ แต่หากจำเป็นต้องมีคำสั่งออกมาบังคับใช้จริง ๆ ก็ต้องหาทางปิดช่องโหว่เรื่องการถูกใช้เป็นช่องทางในการรีดไถหรือเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่บางคนให้ดี มิเช่นนั้นอาจจะเป็นเหมือนกับดาบสองคมก็เป็นได้

นางสาวญาติกา แก้วบริษัท ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานชุมพร เปิดเผยว่า ททท.ชุมพรมีการคาดการณ์ก่อนเกิดโควิด-19 ระลอกใหม่ว่า

ภาพรวมของเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพรในเดือนเมษายน 2564 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 720.38 ล้านบาท แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ระลอกใหม่ก็ทำให้การเดินทางของผู้ที่ต้องการเดินทางเข้ามาจังหวัดชุมพรต้องหยุดชะงักทันที

รายได้จากการท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน-18 เมษายน 2564 (หลังเทศกาลสงกรานต์) มีประมาณ 508.09 ล้านบาทเท่านั้น หายไปประมาณ 212 ล้านบาท ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากจากการสอบถามผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

สิ่งที่ต้องการมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ วัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการและผู้ที่ต้องการใช้บริการด้านการท่องเที่ยว

ในส่วนของมาตรการเยียวยาทราบว่าสถาบันการเงินต่าง ๆ ยังคงมีมาตรการเยียวยาเหมือนในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ในระลอกแรก

“ขณะนี้ ททท.เตรียมจะออกแคมเปญ ‘เราเที่ยวด้วยกันเฟส 3’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าคงจะสามารถเริ่มโครงการหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งเป็นระลอก 3 คลี่คลาย ผู้ที่สนใจรวมทั้งผู้ประกอบการที่ต้องการจะเข้าร่วมโครงการ ก็จะเปิดให้ลงทะเบียนได้ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2564”