ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ชี้คุมโควิดอยู่-วัคซีนทั่วถึง Q4 ศก.-ท่องเที่ยวภาคเหนือฟื้น

ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์
ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์

หากโฟกัสเศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาส 1/2564 ยังหดตัวจากผลของโควิด-19 ระลอก 2 และยิ่งสาหัสจากโควิดระลอก 3 ถาโถมเข้ามาซ้ำ ส่งผลให้เศรษฐกิจเกือบทั้งระบบทรุดหนัก โดยเฉพาะเครื่องยนต์ท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจได้ดับลง

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาคเหนือจะใช้เวลานานเพียงใด มีเครื่องยนต์ตัวไหนจะขับเคลื่อนไปได้ และมีมาตรการทางการเงินอะไรที่จะมาช่วยเยียวยา“ประชาชาติธุรกิจ”สัมภาษณ์พิเศษ “ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จะมาตอบในทุกประเด็น

เอกชนเบรกลงทุน-ว่างงานสูง

ธาริฑธิ์บอกว่า ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 1/2564 ยังคงหดตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 โดยเฉพาะ sector ท่องเที่ยวค่อนข้างน่าเป็นห่วงในเรื่องการฟื้นตัว อัตราเข้าพักอยู่ที่ 23% รายได้มีเพียง 10% ของรายได้ที่เคยได้

จังหวัดท่องเที่ยวหลักอย่างเชียงใหม่ เชียงราย กระทบหนักขณะที่หมวดเครื่องดื่มหดตัวเพราะกิจกรรมนอกบ้านและการท่องเที่ยวลดลงเช่นเดียวกับอาหารแปรรูปส่งออกลดลง

เพราะมีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทำให้ขนส่งล่าช้า ด้านการลงทุนภาคเอกชนชะลอลง พื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างบ้านเดี่ยวหดตัวต่อเนื่อง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคเหนือติดลบมากขึ้นจากไตรมาสก่อน ตลาดแรงงานยังเปราะบาง

จำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมตามมาตรา 38 ยังอยู่ในเกณฑ์สูง แต่อีกด้านหนึ่งที่ถือเป็นพระเอกของ Q1 คือ ภาคเกษตร รายได้เกษตรกรปรับดีขึ้นตามผลผลิตที่ขยายตัว

โดยเฉพาะราคาอ้อยโรงงาน ข้าว และมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์ขยายตัวในกลุ่มรถยนต์เชิงพาณิชย์ จากลูกค้ากลุ่มเกษตรกรและการขนส่ง

ไม่ล็อกดาวน์-ท่องเที่ยวทรุด

การระบาดระลอก 3 ของโควิด-19 กระทบการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ค่อนข้างมาก โรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ถูกยกเลิก และเลื่อนการเข้าพักออกไปเกือบทั้งหมด ทำให้ภาพรวมอัตราการเข้าพักแรมเหลือประมาณร้อยละ 10 สอดคล้องกับข้อมูลจาก SiteMinder พบว่า

ยอดจองห้องพักล่วงหน้าของเชียงใหม่ในช่วงสงกรานต์ปีนี้อยู่ที่ประมาณร้อยละ11-18 เท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนโควิด (ปี 2562) ปกติถ้าเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ (ไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยวของภาคเหนือ) ยอดจองห้องพักอยู่ในระดับต่ำกว่ากรุงเทพฯและจังหวัดท่องเที่ยวหลักในภาคใต้

อย่างไรก็ดี ช่วงสงกรานต์ปีนี้ยังมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าช่วงสงกรานต์ปีที่แล้วที่ใช้มาตรการ full lockdown และเคอร์ฟิว (มีเคอร์ฟิววันที่ 3 เมษายน-14 มิถุนายน 2563) สะท้อนจากข้อมูล Facebook Movement ซึ่งเป็นข้อมูลที่วัดกิจกรรมการเดินทางของผู้ใช้ Facebook พบว่า

ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 การเดินทางภายในภาคเหนือลดลงอย่างชัดเจน แต่ลดลงไปไม่เท่าปี 2563 อัตราการเข้าพักแรมในเชียงใหม่เดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ร้อยละ 0.78 หรือแทบไม่มีคนเข้าพักเลย (ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)

ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการ lockdown ที่เข้มงวด ทำให้ไม่มีการเดินทาง จนหลายโรงแรมตัดสินใจปิดกิจการชั่วคราวไปอย่างน้อย 1-2 เดือน หากมองไปข้างหน้า

คาดว่าการท่องเที่ยวภาคเหนือจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวได้บ้างในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งการฟื้นตัวในรอบนี้คาดว่าจะต่ำกว่าหลังคลาย lockdown ในปี 2563 และแน่นอนว่ายังคงต่ำกว่าภาวะปกติ

เร่งคุมโควิด-ศก.ฟื้น Q3-Q4

ธาริฑธิ์ยังบอกอีกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 2/2564 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกเดือนเมษายน 2564 มากขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน เครื่องชี้เร็ว เช่น Facebook Movement Range ที่แสดงการเคลื่อนไหวของคน

และ SiteMinder ที่แสดงการจองห้องพัก มีทิศทางหดตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่เริ่มการระบาด และเมื่อมองไปข้างหน้ายังเห็นการหดตัวของการท่องเที่ยวอยู่ และปัญหาหนี้ครัวเรือนภาคเหนือมีตัวเลขค่อนข้างสูง เป็นอีกปัจจัยหน่วงทำให้การบริโภคไม่ฟื้นตัวเร็วนัก

เกษตรแปรรูปขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเหนือได้ดีอยู่ คือ ภาคการเกษตร เกษตร-อาหารแปรรูป และการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นกำลังสนับสนุนเศรษฐกิจภาคเหนือในระยะต่อไป ผลผลิตภาคเกษตรยังมีแนวโน้มดี จากข้าวนาปรังตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย

ขณะที่ราคาข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง และสุกรยังเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะทยอยฟื้นตัว โดยสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กลุ่ม IC, PCB

และ semiconductor ได้รับผลดีจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกเป็นช่วงขาขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีนและญี่ปุ่น และกระแส work from home ขณะที่สินค้าอาหารแปรรูปมีความต้องการต่อเนื่องจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจภาคเหนือจะฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 3/2564 ภายใต้ข้อสมมติฐานว่าสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 และมีการกระจายวัคซีนได้ดี รวมทั้งภาครัฐใช้มาตรการเยียวยาและกระตุ้นช่วยพยุงเศรษฐกิจต่อเนื่อง จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเหนือทยอยกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

เกลี่ยหนี้อัดสภาพคล่อง SMEs

ธาริฑธิ์กล่าวว่า ธปท.เร่งจัดทำมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นจุดเปราะบางให้ได้อย่างทั่วถึง และรองรับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง เริ่มตั้งแต่ 26 เมษายน 2564 ประกอบด้วย

(1) มาตรการสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) เน้นให้สภาพคล่องใหม่แก่ธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs มีวงเงิน 250,000 ล้านบาท ระยะเวลาการให้สินเชื่อ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยให้คิดเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี

โดย 2 ปีแรกให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี และไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก (2) มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท เน้นช่วยธุรกิจที่ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว

โดยให้ลูกหนี้สามารถตีโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ และมีสิทธิซื้อทรัพย์คืนในภายหลัง นอกจากนี้ ในส่วนของสินเชื่อบุคคลทั่วไป

ได้ขยายระยะเวลาลงทะเบียนมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ครอบคลุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสด ทั้งที่เป็นหนี้ดี หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) หนี้ที่อยู่ระหว่างการฟ้อง และหนี้ที่บังคับคดี

โดยล่าสุด ธปท.สำนักงานภาคเหนือ ร่วมกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่

และสมาพันธ์ SME จังหวัดเชียงใหม่ ได้เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในจังหวัดเชียงใหม่กว่า 450 ราย ซึ่งได้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับมาตรการด้านต่าง ๆ

โดยในจำนวนนี้มีกลุ่มเปราะบางที่เป็นกลุ่มลูกหนี้รายย่อย เช่น ผู้ประกอบการรถตู้ ที่ได้นำสู่การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ พักหนี้ และเลื่อนการชำระหนี้ เป็นต้น ขณะเดียวกันพบว่ามีผู้ประกอบการโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่กว่า 100 ราย แสดงความสนใจเข้าสู่มาตรการพักทรัพย์-พักหนี้

ธาริฑธิ์บอกว่า หากภายในไตรมาส 2/2564 สามารถควบคุมและจัดการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เบ็ดเสร็จ เศรษฐกิจในภาพรวมของภาคเหนืออาจจะหดตัวไม่มาก และคาดว่าไตรมาส 3/2564 จะฟื้นตัวเร็วขึ้น

ขณะเดียวกันเมื่อมีการฉีดวัคซีนในประเทศอย่างทั่วถึง มีภูมิคุ้มกันหมู่ คาดว่าไตรมาส 4/2564 สถานการณ์การท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัว นักท่องเที่ยวชาวไทยจะมีการเคลื่อนไหวการเดินทางมากขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะเริ่มทยอยเดินทางเข้ามาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2565 และในปี 2566 คาดว่าการท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาเต็มระบบ