บ.ใต้-มาเลย์รุมทึ้งยางแสนตัน “นอร์ทอีสฯ” ส้มหล่นฟันส่วนต่าง 800 ล้าน

ยางพารา

กลุ่มสถาบันเกษตรกรภาคใต้-บริษัทยางระดับโลกจากมาเลย์ “รุมทึ้ง” สต๊อกยาง 1.4 แสนตันของ บมจ.นอร์ทอีสรับเบอร์ ที่ประมูลจากรัฐบาลได้ในราคา 37 บาท/กก. เหตุ 3 ประเทศผู้ผลิตไทย-มาเลย์-อินโดฯประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบหนัก

เฉพาะภาคใต้ของไทยยางพาราหายไปกว่า 50% ทำตลาดโลกขาดแคลนยางพาราหนัก ทั้งยางรมควัน-ยางแท่ง-น้ำยางสด ราคาวัตถุดิบในตลาดโลกพุ่ง วงการเผย “นอร์ทอีสฯ” สบช่องตั้งราคาขายต่อ 45 บาท/กก. ส้มหล่นฟันส่วนต่างกว่า 800 ล้านบาท เผยมีการส่งมอบสต๊อกบางส่วนให้ 2 บริษัทยักษ์ส่งออกระดับโลกไปแล้ว

หลังจากบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) จังหวัดบุรีรัมย์ ชนะการประมูลสต๊อกยางแผ่นรมควันอัดก้อน ยางแท่ง STR 20 และยางอื่น ๆ จำนวน 104,763.35 ตัน ซึ่งเป็นยางเก่าอายุ 9 ปีของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ระบายสต๊อกออกมาและเซ็นสัญญาขายเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564

นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการ กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ สถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราส่งออกรายใหญ่ภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กลุ่มเกษตรกร

กลุ่มบริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศมีความต้องการขอซื้อต่อยางพารา STR 20 กับบริษัทที่ประมูลยางค้างสต๊อกของรัฐบาลได้ในราคาประมาณ 37 บาท/กก. หรือประมาณ 37,000 บาท/ตัน

เพื่อนำมาแปรรูปเป็นยางแท่งเอสทีอาร์ และส่งออกตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไว้ เนื่องจากขณะนี้ยางพาราขาดแคลนทุกตัวทั้งยางรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางสด ขณะที่ในตลาดโลกยังมีความต้องการสูงและต่อเนื่อง

โดยกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์จะขอแบ่งซื้อประมาณ 5,000-10,000 ตัน ในราคา 40 บาท/กก. หรือประมาณ 40,000 บาท/ตัน เพื่อแปรรูปส่งออกไปยังบริษัทในประเทศมาเลเซียและดูไบ

ขณะที่มีกลุ่มบริษัทจากประเทศมาเลเซียได้เสนอราคาซื้อยางดังกล่าวในราคาประมาณ 1,700 เหรียญสหรัฐ/ตัน หรือประมาณ 52.70 บาท/กก.แต่เท่าที่ทราบบริษัทผู้ชนะการประมูลดังกล่าวมีการตั้งราคาขายไว้ที่ 45 บาท/กก.หรือประมาณ 45,000 บาท/ตัน

จากราคาที่แข่งขันชนะประมูลได้ในราคาประมาณ 37 บาท/กก. หรือประมาณ 37,000 บาท/ตัน ทำให้มีส่วนต่างประมาณ 8,000 บาท/ตัน หรือประมาณ 8 บาท/กก. คิดเป็นเงินส่วนต่างกว่า 800 ล้านบาท และปัจจุบันบริษัทที่ประมูลยางพาราค้างสต๊อกได้มีการจัดแบ่งยางเก่าไปให้ 2 บริษัทส่งออกรายใหญ่ของโลกไปแล้วจำนวนหนึ่ง

นายกัมปนาทกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ยางพาราขาดแคลนทั้งในประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยเฉพาะทางภาคใต้ยางพาราได้ขาดหายไปมากกว่า 50% มาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ยางพาราเกิดโรคใบร่วง ขาดแคลนแรงงานกรีด ฯลฯ

โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ยางพาราขาดหายไปประมาณ 50% ส่งผลให้ราคายางพาราในปี 2564 อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ตอนนี้ทั่วโลกต่างมีความต้องการยางพาราทุกตัว

ตั้งแต่ยางรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางสด โดยยางแท่ง ยางรมควันนำไปแปรรูปผลิตล้อรถ ส่วนน้ำยางสดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง

“สำหรับยางเอสทีอาร์ของรัฐบาลค้างสต๊อกมาร่วม 9 ปีนั้นจะเกิดสภาพยางรูปทรงเปลี่ยนแปลง และการยืดหยุ่นของยางพาราจะแข็งตัว ดังนั้น เมื่อซื้อมาแล้วต้องนำมาแปรรูปใหม่ โดยผสมสัดส่วนยางพาราเก่า 50% กับยางใหม่ 50% จึงจะสมบูรณ์มีความยืดหยุ่นได้ดี” นายกัมปนาทกล่าวและว่า

ตอนนี้ผู้บริโภคยางพารารายใหญ่ของโลก คือ ประเทศจีน และขณะนี้ประเทศจีนสามารถควบคุมสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ประสบความสำเร็จแล้ว ภายในประเทศจีนจึงเปิดธุรกิจ อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวภายในประเทศแล้ว

โดยมีการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ เศรษฐกิจจีนดี สถานะชาวจีนมีความมั่นคง จึงไม่เป็นปัญหาต่อการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีน” นายกัมปนาทกล่าว

แหล่งข่าวจากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้น เปิดเผยว่า ขณะนี้น้ำยางสดขาดแคลนทำให้บางช่วงคนงานที่อยู่ในโรงงานว่างงานต้องไปทำหน้าที่อย่างอื่นแทน และบางช่วงไม่มีโอที โดยในช่วงมีปริมาณน้ำยางจะมีโอที

ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) กรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยางพาราค้างสต๊อกของรัฐบาลจำนวนกว่า 104,000 ตัน ที่ประมูลให้กับเอกชนไปเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา

จนถึงขณะนี้รายละเอียดและราคาการประมูลยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดทั้งที่เป็นของราชการที่ประชาชนโดยทั่วไปควรได้รับทราบ ซึ่งยางพาราที่ค้างสต๊อกนั้นเป็นยางพาราที่รับซื้อมาจากโครงการต่าง ๆ จากหลายรัฐบาล โดยมีราคาตั้งแต่ 60-100 บาท/กก.

“เป็นที่น่าสังเกตในการประมูลยางพาราค้างสต๊อก ทั้งทีโออาร์ ราคาประมูล เพราะระยะช่วงเวลาที่ประมูลราคาขี้ยางได้เคลื่อนไหวอยู่ที่ 46 บาท/กก. ดังนั้น ราคายางพาราค้างสต๊อกซึ่งเป็นยางแท่งเอสทีอาร์-ยางรมควันนั้นราคาที่ประมูลได้ควรจะสูงกว่าราคาขี้ยาง

ซึ่งหากราคาขี้ยาง 46 บาท/กก. หากยางแท่งเอสทีอาร์ ยางรมควัน ราคาที่ประมูลต่ำกว่าขี้ยางประมาณ 6 บาท/กก. ก็จะมีส่วนต่างกว่า 600 ล้านบาท และระหว่างยางแท่งเอสทีอาร์ ยางรมควัน มีมาตรฐานต่างกันกับขี้ยางถึงจะเสียทรงรูปแบบ

และแม้จะค้างสต๊อกอยู่นานประมาณ 9 ปีก็ตาม เพราะสมัยที่มีอินโรยาง ยางพาราเคยค้างสต๊อกอยู่ประมาณ 20 ปี ราคาก็ยังจะไม่ตกต่ำ

นายอุทัยกล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์ยางพาราขณะนี้อยู่ในภาวะขาดแคลน เนื่องจากทางภาคใต้ฝนตกไม่สามารถกรีดยางได้ และอีกทั้งน้ำยางสดจะต้องนำมาแปรรูปเป็นน้ำยางข้น

เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง โดยเฉพาะสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่จะต้องใช้ถุงมือยางทั่วโลกประมาณ 1,500 ล้านชิ้น/วัน

นายเพิก เลิศวังพง อดีตคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) อดีตบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ยางพารากำลังขาขึ้นและกำลังขาดแคลน

ส่งผลถึงยางพาราค้างสต๊อกของรัฐบาลกว่า 104,000 ตันที่ซื้อมาเมื่อ 9 ปีก่อนราคาประมาณ 60-กว่า 100 บาท/กก. เท่าที่ทราบการประมูลราคาเทียบกับราคาขี้ยาง ดังนั้นบริษัทผู้ประมูลได้ก็ไม่ต่างกับถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 เพราะสภาพยางแท่งค้างสต๊อกถือเป็นยางตกเกรดไม่ใช่ขี้ยาง

โดยยางแท่งมีคุณภาพรูปทรงต่างกับขี้ยางเรื่องการดูแลรักษา เช่น จากเบอร์ 3 อาจจะตกเกรดมาอยู่ที่เบอร์ 4 หรือเบอร์ 5 ดังนั้นรัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องออกมาดูแลตรวจสอบยางพาราค้างสต๊อกจำนวนนี้ โดยแต่งตั้งบุคคลจากภายนอก เพราะปัจจุบันทางการยังไม่เปิดเผยรายละเอียด เช่น ราคาประมูล