สุทธิพงษ์ จุลเจริญ กรมพัฒนาชุมชน OTOP ออนไลน์ดันยอดแสนล้าน

นับเป็นช่วงวิกฤตสำหรับการเดินเครื่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชุมชน ซึ่งได้รับผลกระทบต่อเนื่องมานานนับปีจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทว่ากรมการพัฒนาชุมชน (พช.)

ยังมุ่งมั่นปรับเปลี่ยนแผนงานให้เข้าสถานการณ์ และพยายามพัฒนาโครงการต่าง ๆ สุดกำลัง ทั้งการสร้างงาน เพื่อช่วยพยุงอาชีพในโครงการโคกหนองนาโมเดล การช่วยเหลือผู้ประกอบการสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งมีความก้าวหน้าชัดเจนอยู่ในขณะนี้

โคกหนองนาสำเร็จ 99%

“สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการโคกหนองนาโมเดลจากที่เริ่มต้นดำเนินงานจนถึงวันนี้มีผู้ผ่านการอบรมไปแล้วจำนวนมาก

เหลือเพียงประมาณ 10% ที่ยังรอให้สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นก่อน โดยผู้ผ่านการอบรมได้เริ่มดำเนินกิจกรรมพื้นที่ต้นแบบไปบ้างแล้วกว่า 40% ทั้งการขุดคลอง การปั้นโคก คาดว่าภายในเดือนมิถุนายน 2564 จะเสร็จสมบูรณ์พร้อมสร้างพื้นที่ทำกินได้ตามแผน

ส่วนงบประมาณที่นำมาใช้จ้างงานสำหรับผู้ว่างงานดำเนินการไปได้ด้วยดี สามารถจ้างงานได้มากกว่า 9,000 คน เป็นเงินเดือน 9,000 บาท/เดือน ในโครงการนี้มีทั้งประชาชนทั่วไป ครัวเรือนต้นแบบ

และผู้ผ่านการอบรมโครงการ “โคกหนองนาแห่งน้ำใจ และความหวัง กรมราชทัณฑ์” อีกประมาณ 1% โดยภาพรวมประสบความสำเร็จกว่า 99%

“คนที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นต้นแบบต่อสังคมโดยรวม เช่น การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี มีไม้ยืนต้นปลูกในโครงการไม่น้อยกว่า 20 ล้านต้น มีพืชผักปลอดสารพิษไว้รับประทาน การขุดคลองจะช่วยลดปัญหาน้ำท่วม หน้าแล้งมีพื้นที่กักเก็บน้ำ

และมีตัวชี้วัดชัดเจน ถือว่าประสบความสำเร็จมากคือผู้ร่วมโครงการทำได้จริง มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้มีผู้คนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการอยู่ตลอด ปัจจุบันสังคมจึงตื่นตัวพอสมควรเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ไม่มีใครรู้จักโครงการโคกหนองนาโมเดลมากนัก”

นอกจากนี้ มีโครงการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ที่จะทำควบคู่กันไปกับโครงการโคกหนองนาโมเดล โดยมีตัวอย่างชาวบ้านต้นแบบจากตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ในชื่อ “โก่งธนู โมเดล” ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง”

โดยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้มีผู้เข้าร่วมโครงการมากถึง 12 ล้านคน ช่วยประหยัดรายจ่ายในครัวเรือนได้มากถึง 600 ล้านบาท/วัน เมื่อเทียบกับการจ่าย 50 บาท/วัน เป็นโครงการที่แทบไม่ได้ใช้งบประมาณอะไรเลย แต่สร้างผลลัพธ์ได้ดีมาก

ยอดออนไลน์ OTOP พุ่ง

สำหรับอีกโครงการอย่าง OTOP “สุทธิพงษ์” บอกว่า สินค้า OTOP รายเล็กมีการชะลอตัวมาก โดยเฉพาะสินค้าที่ยังไม่ได้รับมาตรฐานระดับ 1-2 ดาว ซึ่งทางกรมการพัฒนาชุมชนมีงบประมาณเตรียมจัดงานช่วยขาย แต่ต้องเลื่อนออกไปจากสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาด

ส่วนกลุ่ม OTOP ที่มีมาตรฐานระดับ 4-5 ดาว ได้รับผลกระทบน้อยกว่า ถึงกระนั้น ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตสินค้า OTOP รวมทั่วประเทศกว่า 190,000 ผลิตภัณฑ์ ทางกรมการพัฒนาชุมชนได้ใช้นักการตลาดรุ่นใหม่เข้าไปช่วยเหลือ

เพื่อหาช่องทางจำหน่ายสินค้าไปสู่ตลาดออนไลน์ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 รอบแรก จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการ OTOP ทำตลาดออนไลน์ประมาณ 237 คนใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ สร้างยอดขายรวมกว่า 117 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการขายออนไลน์ปกติในปี 2563 มากกว่า 80-100%

ในการขายออนไลน์ กรมการพัฒนาชุมชนได้จับมือกับแอปพลิเคชั่นมากมาย ซึ่งสามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง และผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวดีขึ้น ยอดขายกระเตื้องขึ้นมาจากปี 2563

แต่ยังเทียบไม่ได้กับยอดขายในการจัดงานโอท็อปแต่ละครั้งที่มีตัวเลขสูงหลักหลายร้อยถึงระดับพันล้านบาท อย่างสถิติ 1 ปีจากงานโอท็อปที่เมืองทองธานี 3-4 ครั้ง รายได้ประมาณเกือบ 4 พันล้านบาท เพราะลูกค้าโอท็อปยังชอบเดินดูตามบูทต่าง ๆ และพูดคุยกับผู้ประกอบการด้วยตัวเอง

“ในช่วงนี้ผู้ประกอบการสินค้าโอท็อปต้องเหนื่อยกันหน่อย โชคดีที่หลายคนเป็นชาวบ้านมีที่ไร่ที่นาปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ มีพื้นที่ทำกิน จึงประคองตัวได้บ้าง

แม้สูญเสียรายได้จากการขายสินค้าโอท็อปไป อยากบอกพี่น้องชาวโอท็อปทุกคนว่า อย่าตระหนกจนเกินไปจนหยุดอาชีพตัวเอง ต้องสร้างพื้นฐานครอบครัวและสร้างความมั่นคงทางธุรกิจไว้ และอย่าได้ประมาทในการดูแลตัวเอง หากมีปัญหาด้านตลาดสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดทั่วประเทศ”

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า ยอดขายสินค้า OTOP ลดลงมากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 หากนับปีงบประมาณเดือนตุลาคม-เดือนกันยายน ปี 2562 สามารถจัดงานได้ 3 ไตรมาส สร้างรายได้รวมอยู่ที่ 2.8 แสนล้านบาท ปี 2563

ที่สามารถจัดงานได้เพียง 2 ไตรมาสรวมมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท และปี 2564 ยังอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากสถานการณ์ดีขึ้น มีวัคซีนเข้ามาในประเทศตามกำหนดของรัฐบาล จะสามารถจัดงานโอท็อปมิดเยียร์ 2021 ได้ในเดือนมิถุนายนนี้

 

ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ อุ้ม ‘ผู้ผลิตผ้าไทย’ พ้นวิกฤต

กรมการพัฒนาชุมชนชู “ผ้าไทยลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ดันยอดขาย OTOP พุ่ง ผู้ประกอบการปลื้มช่วยฟื้นออร์เดอร์ช่วงวิกฤตโควิด-19 สูงถึง 90%

โดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 กำลังกลายเป็นวิกฤตของผู้ประกอบการ OTOP

ผ้าไทยเรียกว่าเป็นสินค้าสำคัญที่สามารถกระตุ้นยอดขายได้อยู่ ณ ปัจจุบัน โดยเฉพาะแรงกระตุ้นจากลายผ้าขอของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ประทานแก่พสกนิกรผ่านกรมการพัฒนาชุมชน

ส่งผลให้ผู้ประกอบการกลุ่มทอผ้ายังคงคึกคัก มีออร์เดอร์ มีรายได้ที่ดี และกลายเป็นตัวสร้างรายได้อันดับ 1 จากการขายสินค้า OTOP ทั้งหมด 90,000 กว่ากลุ่มทั่วประเทศ

ซึ่งในจำนวนนี้มีกลุ่มผู้ประกอบการผ้าไทย เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ รวมประมาณ 1 หมื่นกลุ่ม นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 ผู้ประกอบการที่ขายเฉพาะผ้าลายขอทั่วประเทศสร้างรายได้มากถึง 40 ล้านบาท

ทั้งนี้ ความนิยมผ้าไทยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ทางสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์กับกรมการพัฒนาชุมชนขับเคลื่อน ทั้ง ครม.มีมติเห็นชอบรณรงค์ให้คนไทยสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์

จึงเกิดการเกื้อกูลกันจากลายผ้าดั้งเดิมที่มีลูกค้าซื้อประจำอยู่แล้ว เมื่อมีลายใหม่ขึ้นมาก็กระตุ้นยอดขายได้ดีขึ้น

ด้าน นางชญาภา ทองยิ่ง เจ้าของแบรนด์ “NANGNOY made in Thailand” โอท็อป 5 ดาว ประธานกลุ่มสตรีสหกรณ์ไม้เบญจพรรณผู้ผลิตผ้าครามของจังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่า

ตลาดสินค้าโอท็อปถือว่าเงียบมากในสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับตลาดผ้าไทยของกลุ่มเหลือเพียงลูกค้าประจำเท่านั้น ซึ่งกำลังซื้อหดตัวไปไม่เหมือนเดิม เรียกว่ายอดขายวูบเกิน 50% มูลค่าที่หายไปตลอดปีนับเป็นหลักล้านบาท

แต่โชคดีกระแสลายผ้าลายขอของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ช่วยกระตุ้นให้ยอดขายกลับมากว่า 90% โดยเฉพาะจากลูกค้ากลุ่มข้าราชการ

“ถ้าไม่มีผ้าลายขอมาช่วยไว้คงไปไม่รอดแล้ว เพราะปกติเราทอผ้าส่งให้ร้านขายส่ง ตอนนี้ร้านก็ปิดไป คนที่ตกงานมาจากกรุงเทพฯก็มาหัดทอผ้า ซึ่งไม่มีตลาดพอจะขายให้ใครจนมีค้างสต๊อกเยอะ

และผ้าลายขอคือช่วยชีวิตช่างทอผ้าไว้เลย ไม่เพียงแต่กลุ่มผ้าไทยในจังหวัดสกลนคร แต่ช่วยไว้ทั่วประเทศเลยทั้งกลุ่มผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้ามัดหมี่ หน่วยงานราชการจำเป็นต้องใส่และสั่งออร์เดอร์ลายนี้กว่า 90% พอทอและตัดเย็บออกมาก็สวยมาก ลูกค้าออร์เดอร์เพิ่ม ส่วนลายดั้งเดิมมีอยู่แต่ไม่มาก”