นครศรีฯ เกิดโรคระบาดหนัก ”ลูกหมู” ตายเป็นเบือ ทำผู้เลี้ยงเดือดร้อนหนัก

สุกร หมู

เกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดในหมู ทำผู้เลี้ยงรายย่อยเมืองคอนเดือดร้อนหนัก ปศุสัตว์เร่งคุมโรคใช้มาตรการทำลายทั้งฟาร์มแล้วฝังกลบฆ่าเชื้อ

วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ที่ จ.นครศรีธรรมราช สภาพฟาร์มเลี้ยงหมูรายย่อยในพื้นที่ ต.ปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งผลิตลูกหมูให้เกษตรกรไปเลี้ยงเป็นหมูขุน โดยหมูทั้งหมดมีทั้งแม่พันธุ์ พ่อพันธุ์ และลูกหมู แต่พบว่าส่วนหนึ่งเริ่มทยอยตายจากโรคระบาด โดยในฟาร์มดังกล่าวมีหมูกว่า 100 ตัว จะต้องถูกทำลายและฝังกลบในคืนนี้เพื่อสกัดกั้นโรคที่กำลังระบาดอย่างรุนแรง ขณะเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราชมีการควบคุมโรคอย่างหนัก

โดยที่ฟาร์มหมูของ นายสมศักดิ์ เจียรมาศ อายุ 56 ปี ซึ่งผลิตลูกสุกรจำหน่ายอยู่ในท้องที่หมู่ 7 ต.ปากพูน อ.เมือง พบว่าขณะนี้เหลือเพียงป้ายจำหน่ายลูกหมูหน้าบ้านเท่านั้น แต่ไม่มีลูกหมูให้จำหน่าย เนื่องจากหมูทั้งฟาร์มที่มีกว่า 160 ตัวของนายสมศักดิ์ถูกทำลายทิ้งและฝังกลบจนหมดเมื่อกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่สร้างความเสียหายให้กับฟาร์มหมูรายย่อยจำนวนมากในท้องที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช

นายสมศักดิ์ เจียรมาศ กล่าวว่า หลังติดเชื้อหมูจะมีอาการเบื่ออาหาร ซึม หลังจากนั้นจะเกิดสีม่วงตามผิวหนังแล้วจะตายลงอย่างเฉียบพลัน สำหรับหมูในฟาร์มนั้นเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้เข้ามาทำลายทิ้งทั้งหมด จากนั้นได้ฝังกลบรวมทั้งอุปกรณ์การเลี้ยง อาหารที่มี ทุกอย่างถูกฝังไปพร้อมกับซาก มูลค่าความเสียหายหลายแสนบาท ซึ่งทางปศุสัตว์แจ้งว่าจะมีการชดเชยให้กับเกษตรกร 75 เปอร์เซ็นต์

ส่วนจะเลี้ยงอีกหรือไม่นั้นรอตัดสินใจอีกครั้ง เพราะต้องเว้นระยะไปอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะสามารถเลี้ยงได้อีก โดยในพื้นที่ของ ต.ปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช มีเพื่อนเกษตรกรจำนวนมากที่เลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หมูเพื่อจำหน่ายลูกไปทำการขุน โดยทุกฟาร์มได้รับความเดือดร้อนทำนองเดียวกันหมด เนื่องจากมีโรคระบาดเช่นนี้เข้าถึงทุกฟาร์ม แต่ละฟาร์มกำลังรอเจ้าหน้าที่ทยอยเข้าทำลายหมูตามหลักวิชาการ นายสมศักดิ์ ระบุ

ด้านนายสัตวแพทย์เมษยน ชีวะเสรีชล หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า โรคที่กำลังระบาดนั้นเป็นเรียกชื่อว่า PRRS เกิดจากเชื้อไวรัส ยังไม่มีชื่อเรียกโรคนี้เป็นภาษาไทย ยังไม่มีวัคซีนและยารักษา

ทั้งนี้การระบาดพบมากใน ต.ปากพูน อ.เมือง ซึ่งมีฟาร์มในอำเภออื่นที่เข้ามาซื้อลูกหมูจากปากพูนไปเลี้ยงด้วย คือ อ.ทุ่งสง และพรหมคีรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าควบคุมโรคไว้แล้ว และโรคนี้จะพบในหมูเท่านั้น ไม่ระบาดไปยังสัตว์อื่น หรือมนุษย์

ส่วนสาเหตุที่กรมปศุสัตว์ต้องทำลายสัตว์นั้นเพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาด และมีช่องทางในการชดเชยความเสียหายในจำนวน 75 เปอร์เซ็นต์ของราคา นอกจากนั้นได้ทำความเข้าใจกับผู้เลี้ยงรายย่อยถึงมาตรการในการควบคุมโรคและการป้องกันโรคในฟาร์ม โดยเฉพาะฟาร์มรายย่อยต้องระมัดระวังการติดเชื้อจากบุคคลภายนอกที่เข้าไปในฟาร์ม รถ การเคลื่อนย้ายต่าง ๆ รวมทั้งอาหารอีกด้วย ส่วนการบริโภคเนื้อหมูนั้นยังคงบริโภคได้ตามปกติถ้าปรุงสุก