“เซฟมาร์ท” วอนรัฐอัดฉีดเงิน เพิ่มสภาพคล่องร้านค้าย่อย

ภาพประกอบ Pixabay

โควิดรอบ 3 กระทบกำลังซื้อหนัก “ห้างเซฟมาร์ท” อุดรฯ ร้องรัฐอัดฉีดมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ

นายสุรศักดิ์ สุระวรรณวิจิตร ประธานบริหารห้างเซฟมาร์ท เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 บริษัทได้รับผลกระทบหนัก ภาพรวมยอดขายหายไปกว่า 40%

หรือประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งที่ซัพพลายเออร์ออกโปรโมชั่นมาช่วย เนื่องจากประชาชนไม่มีกำลังซื้อ และโครงการภาครัฐที่เข้ามาช่วยประชาชนหมดไปแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564

ดังนั้น ทางกลุ่มเซฟมาร์ทได้ปรับตัวเพิ่มช่องทางการขายผ่านออนไลน์มากขึ้น ทั้งการสั่งซื้อผ่าน LINE ยังมีแพลตฟอร์มบน Shopee และ Lazada เข้ามาเสริม ทำให้ลูกค้าสั่งออนไลน์เพิ่มยอดขายได้มาก

เฉลี่ยวันละ 200-300 ออร์เดอร์ นอกจากนี้มีสั่งของผ่าน Kerry รวมถึงผ่านรถขนส่ง ซึ่งเป็นอีกธุรกิจของกลุ่ม ในส่วนของการค้าขายกับ สปป.ลาว ยอดขายหายไปเดือนละเกือบ 10 ล้านบาท

“สถานการณ์โควิด-19 รอบแรกปี 2563 บริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ในส่วนของสินค้าอุปโภคบริโภคตัวเลขยังเป็นบวกอยู่ เพราะปีที่แล้วภาครัฐอัดฉีดเงินมาช่วยตลอด

ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้ออยู่ ช่วงเดือนเมษายน 2563 ประชาชนมีการกักตุนสินค้า ทำให้การค้าขายดี พอโควิดรอบ 2 มีโครงการช่วยเหลือของภาครัฐออกมา ทั้งโครงการคนละครึ่ง เราชนะ ม33เรารักกัน

โครงการมาซ้อนกันหมด ช่วยต่อลมหายใจให้รากหญ้าได้มาก ทำให้ตัวเลขยอดขายเติบโต แต่โควิดรอบ 3 ภาครัฐส่งเงินเข้ามาในระบบขาดตอนไปตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2564 ถ้าไม่มีโครงการของภาครัฐมาช่วยอัดฉีดก็จะลำบาก”

นอกจากนี้พฤติกรรมของลูกค้าปลีกเปลี่ยนไป จากเดิมที่มีเทศกาลสงกรานต์จะตุนของกินและเหล้าเบียร์ ปีที่ผ่านมาตกใจหนัก ก็พากันตุนสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งที่ไม่มีสงกรานต์

แต่มาปีนี้ไม่มีสงกรานต์อีก คนเริ่มชาชินจากปีที่ผ่านมาแล้ว ทำให้ไม่มีการกักตุนสินค้า ตอนนี้ห้างเซฟมาร์ทได้ปรับลดเวลาการเปิด-ปิดร้าน จากเดิมเปิด 07.00-21.00 น.ทุกสาขา ลดมา 1 ชั่วโมง เป็นเปิด 07.00-20.00 น. ทำให้พนักงานไม่มีค่าล่วงเวลา (โอที) แต่ทางกลุ่มไม่ได้ปรับลดจำนวนพนักงาน ยังคงทำงานกันทั้ง 200 คน

นายสุรศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้รอโครงการใหม่ของภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยต่อลมหายใจให้ประชาชนผู้บริโภค ซึ่งอยากให้กระจายออกไป ไม่อยากให้กระจุกตัวในเดือนเดียวกัน เพราะจะได้กระจายกำลังซื้อได้ทุกเดือน นอกจากนี้สิ่งที่อยากให้ภาครัฐช่วย คือ บรรดาร้านค้ารายย่อย

ซึ่งเป็นลูกค้าของห้าง ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อต่อลมหายใจ เนื่องจากปลายทาง คือ ประชาชนไม่มีกำลังซื้อ ที่ผ่านมาพยายามช่วยร้านค้ารายย่อยเหล่านี้โดยการขยายเครดิตให้ยาวขึ้น จากเดิม 15 วันเป็น 1 เดือน

ในรายที่ค้าขายกันมานาน 5-10 ปี เพื่อต่อลมหายใจให้มีเงินทุนหมุนเวียน โดยก่อนหน้านี้มีธนาคารแห่งหนึ่งมาทำเอ็มโอยู เพื่อทำโครงการช่วยร้านค้ารายย่อย ซึ่งได้ยื่นไปกว่า 100 ราย แต่ติดปัญหาไม่มีพนักงาน อีกทั้งเป็นช่วงโควิด-19 โครงการของธนาคารจึงเงียบไป

นายสุรศักดิ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนการลงทุนของกลุ่มเซฟมาร์ทเดิมมีแผนพัฒนาที่ดินในเขตเทศบาลนครอุดรธานี 2 แปลง หน้าโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง และบนถนนอุดรดุษฎี ต้องชะลอโครงการไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน