เคาะผังเมืองนครสวรรค์ 31 พ.ค. ‘เซ็นทรัล’ จ่อผุด “ห้าง-รร.-คอนโด”

ผังเมืองเตรียมปรับพื้นที่เทศบาลเมือง พัฒนารับเมืองศูนย์รวมโลจิสติกส์ระบบราง ด้านทุนใหญ่ “เซ็นทรัล” บุกลงทุน “ห้างโรบินสัน-โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์-คอนโด” ปักธงก่อสร้างหลังประชุมผังเมืองครั้งสุดท้าย 31 พ.ค. นี้

นายสมศักดิ์ อรุณสุรัตน์ ประธานสภาเทศบาลนครนครสวรรค์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้อนุมัติปรับผังเมืองจากสีส้มเป็นสีแดงบริเวณเขตเทศบาลเมืองนครสวรรค์ ซึ่งจะทำให้พื้นที่บริเวรดังกล่าวเปลี่ยนเป็นที่ดินเชิงพาณิชย์ได้ สร้างห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าต่าง ๆ ได้

ล่าสุดมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด ได้มีการยื่นขออนุญาตลงทุนสร้างห้างสรรพสินค้าโรบินสัน โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และคอนโดมิเนียม บนพื้นที่ดินเก่าซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของโรงแรมพิมาน อยู่ติดกับสถานีขนส่งเมืองนครสวรรค์

ตอนนี้ทางเซ็นทรัลได้ดำเนินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานบางส่วนแล้ว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายหลังจากการประชุมผังเมืองครั้งสุดท้ายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นี้

“ในอนาคตจังหวัดนครสวรรค์จะเป็นเมืองศูนย์รวมโลจิสติกส์ระบบราง โดยมีโครงการขนส่งระบบรางเส้นหลักสำคัญ ๆ วิ่งเข้าสู่เมืองนครสวรรค์ อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ 2 สาย และโครงการรถไฟความเร็วสูง

โดยโครงการทั้งหมดจะเพิ่มประชาชนที่เดินทางเข้ามาในเมืองมากขึ้น ดังนั้น เพื่อรองรับการเดินทางทางเทศบาลเมืองนครสวรรค์จึงมีแนวคิดในเรื่องการขนส่งระบบรางเชื่อมโยงการขนส่งระบบล้อ จากสถานีรถไฟ-บขส.เมืองนครสวรรค์ รวมถึงการพัฒนาสถานีขนส่งเมืองนครสวรรค์และบริเวณโดยรอบ

เพื่อรองรับความเจริญที่จะเกิดขึ้นในอนาคตบริเวณโดยรอบสถานีขนส่ง มองว่าควรมีการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้มีความทันสมัย ตอนนี้ได้มีการหารือกับฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย

เพื่อออกแบบศูนย์การค้าบริเวณโดยรอบสถานีให้เป็นพื้นที่ค้าขายสำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการออกแบบ ส่วนพื้นที่ในสถานีขนส่งถึงแม้จะเป็นของกรมธนารักษ์

แต่มีการโอนถ่ายกรรมสิทธิ์ให้ทางเทศบาลเป็นผู้ดูแล ซึ่งต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัยและสอดรับกับการสร้างห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ซึ่งทางเทศบาลจะต้องเปิดสัมปทานให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาพัฒนา

“ปัญหาคือมีสถานีขนส่งมานานกว่า 40 ปี โครงสร้างเดิมเป็นพื้นที่รองรับรถโดยสารแบบสมัยเก่า พื้นที่เสื่อมโทรมเพราะบริเวณสถานีล้อมรอบไปด้วยตึกห้องแถวเก่า ๆ เนื่องจากนครสวรรค์มีการพัฒนาเมืองในรูปแบบ charter

จึงมีแนวคิดว่าหากมีการสร้างเซ็นทรัลควรมีการพัฒนาบริเวณสถานีขนส่ง มีการออกแบบทำเป็นมิกซ์ยูส ร้านค้าบริเวณสถานีขนส่งสามารถเข้าไปอยู่ในตัวอาคารได้ ขณะเดียวกัน ที่อยู่อาศัยควรเปลี่ยนเป็นคอนโดฯ ออกแบบให้ทันสมัยเพื่อเชื่อมกับระบบรางในอนาคต”

นายสมศักดิ์กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่กังวลคือเรื่องของเงินลงทุน ซึ่งได้มีการหารือกับนายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ และประธานกฎบัตรนครสวรรค์ โดยจะเปิดสัมปทานหาผู้ลงทุนและเก็บค่าเช่าจากการดำเนินการ แต่ตอนนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการออกแบบว่าจะสามารถเชิญชวนนักลงทุนได้หรือไม่

ในอนาคตมองว่าการใช้รถยนต์จะน้อยลง เนื่องจากนครสวรรค์มีการพัฒนาระบบราง เมื่อมีการขนส่งระบบรางที่ดีประชาชนจะหันมาใช้บริการมากยิ่งขึ้น แต่อาจต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน

ส่วนเรื่องฟีดเดอร์การเชื่อมต่อระบบรางกับระบบล้อ หากมีประชาชนเดินทางมาที่สถานีรถไฟปากน้ำโพ จำเป็นต้องมีรถสาธารณะเข้ามาที่สถานีขนส่ง ซึ่งภายในเมืองนครสวรรค์ต้องมีระบบการขนส่งที่ทันสมัยเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การทำระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดมีปัญหาคือจำนวนผู้ใช้รถโดยสารมีไม่มากพอ จะมีผู้ใช้บริการเพียงช่วงเช้าและตอนเย็นเท่านั้น แต่ถ้าหากมีเส้นทางเดินรถผ่านเขตชุมชนตลอดทั้งวันจะทำให้ประชาชนคุ้นชินกับระบบขนส่งมวลชนและลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันนายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาโครงการได้เข้ามาสำรวจเมืองเพื่อวางเส้นทางของขนส่งสาธารณะเชื่อมระหว่างขนส่งระบบรางกับระบบล้อ

โดยทางเทศบาลสามารถเข้าไปจัดการเรื่องของระบบฟีดเดอร์ได้ โดยจะใช้เป็นมินิบัสหรือสมาร์ทบัสด้วยค่าบริการไม่แพง ประชาชนหรือแรงงานขั้นต่ำสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้ โดยเส้นทางเดินรถสาธารณะนั้นเจ้าของสัมปทานเดิมยินดีขายสัมปทานให้กับนักลงทุนที่สนใจ

อย่างไรก็ตาม เส้นทางที่ใช้รถสองแถววิ่งอยู่มี 4 เส้นทางหลัก ได้แก่ ถนนโกษีย์ ถนนอมราวิถี ถนนมาตุลี และถนนอรรถกวี เงินลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท ถ้ามีการเปิดสัมปทานคาดว่านักลงทุนน่าจะสนใจและกล้าลงทุน เพราะว่ามีสิทธิบัตรในเรื่องของสัมปทาน ซึ่งจะสามารถกำหนดเส้นทางการเดินรถได้ทั้งเมือง

ซิตี้บัส ‘อุดร-ภูเก็ต’ ไม่เวิร์ก ลุ้นนักท่องเที่ยวฟื้น-ทบทวนเส้นใหม่

นายวรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุดรธานีพัฒนาเมือง จำกัด เปิดเผยว่า จังหวัดอุดรธานีได้เปิดเดินรถอุดรซิตี้บัสตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2562 มีการเดินรถ 2 สาย ได้แก่ สาย 20 และสาย 21

ซึ่งตอนเปิดให้บริการช่วงปีแรกได้ผลตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นความต้องการของประชาชน รวมถึงเส้นทางการวิ่งรถเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างทางอากาศ-ทางราง-ทางบก

แต่เมื่อเดินรถไปสักพักเมื่อครบรอบ 1 ปี พบว่าผู้โดยสารที่มาใช้บริการส่วนมากจะเป็นช่วงชั่วโมงเร่งด่วน คือ ตอนเช้าและตอนเย็น สุดท้ายกลุ่มที่ใช้บริการเป็นนักเรียน นักศึกษา เพื่อที่จะเดินทางไปเซ็นทรัลอุดรธานี

ตอนนี้ที่ประสบปัญหา คือ สาย 21 ไม่ค่อยมีประชาชนใช้บริการเนื่องจากเส้นทางไม่ตอบโจทย์ลูกค้า อีกทั้งผู้โดยสารยังมีความเคยชินกับการใช้รถยนต์ส่วนตัว โอกาสที่มาใช้รถประจำทางหรือรถสาธารณะก็ยังเป็นอุปสรรคและต้องใช้เวลาพอสมควร

รวมถึงความสะดวกในการเข้าถึง การเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อซึ่งทางบริษัท อุดรพัฒนาเมืองพยายามทบทวนเส้นทางใหม่และได้นำเรื่องไปขอสัมปทานเส้นทางกับหน่วยงานราชการ

ซึ่งค่อนข้างยากเพราะขึ้นอยู่กับทางขนส่งจังหวัดและการขนส่งทางบก กลายเป็นว่าผู้กำหนดเส้นทางเดินรถคือหน่วยงานราชการ แต่ผู้เดินรถหรือนักลงทุนเป็นผู้ประกอบการ

ขณะเดียวกัน นายนิพนธ์ เอกวานิชประธานกรรมการ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัดกล่าวว่า ภูเก็ตสมาร์ทบัสได้เริ่มดำเนินการเดือนเมษายนปี 2561 ช่วงแรกเจอปัญหาค่อนข้างมากในเรื่องของป้ายจุดจอด

ตอนนั้นผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ย 5,000 คนต่อเดือน หรือ 60,000 คนต่อปี ใช้เวลาเกือบ 1 ปีในการแก้ไขปัญหา เมื่อเข้าสู่ปี 2562 เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก เส้นทางเดินรถที่ได้สัมปทานระยะทางประมาณ 56 กิโลเมตร

ตั้งแต่หัวเกาะถึงท้ายเกาะ คือเส้นออกสนามบิน-เรียบฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต-ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่าง ๆ โรงแรม ซึ่งส่วนใหญ่โรงแรม 70% จะอยู่ฝั่งตะวันตกของเกาะ

นอกจากจะพาผู้โดยสารออกจากสนามบินไปสู่สถานที่พักแล้ว ยังเป็นเส้นทางหลักที่นักท่องเที่ยวใช้เดินทางไปแหล่งท่องเที่ยว อัตราส่วนผู้โดยสารนักท่องเที่ยวต่างชาติ 80%

และนักท่องเที่ยวชาวไทย 20% มีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ย 12,000 คนต่อเดือน หรือ 140,000 คนต่อปี ค่าโดยสารเริ่มต้น 50 บาท โดยใช้ระบบบัตรแรทบิทในการจัดเก็บค่าโดยสาร

“ช่วงปีแรกที่ผู้โดยสารน้อย เพราะว่าเราตั้งใจจะขายเป็นบัตร แต่เนื่องจากผู้โดยสารยังน้อย นักท่องเที่ยวต่างชาติมาซื้อบางทีสื่อสารไม่เข้าใจ จึงหาทางออกโดยใช้วิธีการเก็บเงินสดหรือบัตรแรทบิท

นอกจากนี้ มีการทำ tree day past ราคา 499 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาพัก 2-3 คืน ทำให้ได้ผลประกอบการที่ดี สุดท้ายพบการแพร่ระบาดของโควิด-19 เดือนมีนาคมปี 2563 ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใหม่

เหลือเพียงนักท่องเที่ยวเก่า รายได้ลดลงเยอะมากจึงมีการหยุดวิ่งรถ และได้เริ่มกลับมาวิ่งใหม่ 15 พฤศจิกายน 2563 จากเดิมวิ่ง 32 เที่ยวต่อวัน ลดลงเหลือ 16 เที่ยวต่อวัน เฉลี่ยผู้โดยสาร 2-3 คนต่อวัน สุดท้ายก็ต้องหยุดวิ่ง”