
พิษ “ลัมปิสกิน” ทุบรายได้ตลาดกลางประมูลซื้อขายโค-กระบือภาคอีสาน-ภาคใต้สูญกว่าพันล้านบาท หลังถูกสั่งปิดห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ตั้งแต่ เม.ย. 64 กระทบการส่งออก-นำเข้า
นายวิรัตน์ รอดนวล ประธานกรรมการ วิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงวัวลังกาสุกะพัทลุง และประธานกรรมการ บริษัท ลังกาสุกะฟาร์ม จำกัด ตลาดกลางประมูลซื้อขายโค กระบือ แพะ รายใหญ่ อ.กงหรา จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระบาดของโรคลัมปิสกิน ในหลายภาคส่งผลกระทบต่อวงการปศุสัตว์
โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเลี้ยง การซื้อขายปศุสัตว์อันดับ 1 ของภาคใต้ และอันดับ 4 ของประเทศ เนื่องจากตอนนี้ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง มีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันอย่างเข้มข้น โดยห้ามการเคลื่อนย้ายโค กระบือมีชีวิต ยกเว้นโค กระบือที่ส่งเชือด
และต้องมีโรงเชือดปลายทางที่มีมาตรฐานรับรองจากกรมปศุสัตว์ จากปกติจะมีพ่อค้าจากหลายจังหวัดของภาคใต้ โดยเฉพาะจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เดินทางมาซื้อมาขายโค กระบือ แพะ
โดยนำรถบรรทุกเข้ามาประมาณ 30 คันต่อวัน โดยบรรทุกได้ 8 ตัวต่อคัน มีโค กระบือหมุนเวียนออกไป 240 ตัวต่อวัน เป็นเงินหมุนเวียนที่ซื้อขายกันประมาณ 480,000 บาทต่อวัน
“ปกติในอำเภอกงหรา ตะโหมด เขาชัยสน ป่าพะยอม เมือง ฯลฯ พัทลุง มีการเคลื่อนย้ายซื้อการขายโค กระบือ ประมาณ 1,000 ตัวต่อเดือน ในเครือข่าย โดยเฉลี่ยราคาตัวละประมาณ 20,000 บาท
เป็นเงินหมุนเวียนประมาณ 20 ล้านบาทต่อเดือน ยิ่งช่วงเดือนมิถุนายน กรกฎาคม เป็นช่วงที่มีการซื้อขายโคกุรบัน ซึ่งเป็นโคที่ใช้ประกอบพิธีทางศาสนาอิสลาม มีโคหมุนเวียนซื้อขายประมาณ 3,000-5,000 ตัว ราคาตัวละ 20,000 บาท ส่งผลกระทบเป็นเงินประมาณ 80 ล้านบาท”
นายวิรัตน์กล่าวต่อไปว่า การห้ามเคลื่อนย้ายส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต การเลี้ยง โดยเฉพาะกลุ่มเลี้ยงโคขุนที่ได้น้ำหนักถึงเวลาออกขาย เช่น โคขุนขนาด 300 กก. ค่าอาหาร 3 กก./วัน ประมาณ 30 บาท/วัน
ส่วนโคขุนขนาด 500 กก. ค่าอาหาร 5 กก./วัน ประมาณ 50 บาท/วัน ค่าอาหารประมาณ 10 บาท/กก. ทั้งนี้ การห้ามเคลื่อนย้าย 1 เดือน ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 900-1,500 บาทต่อตัวต่อเดือน และต้องลงทุนกางมุ้งให้โค กระบือ หลังละ5,000-10,000 บาท
ขณะเดียวกัน ผู้เลี้ยงไม่สามารถนำโคขุนจากประเทศเมียนมาเข้ามาเลี้ยงได้ ตอนนี้โคนำเข้าจากประเทศเมียนมาเหลือประมาณ 20% แต่ยังพอต่อการบริโภค ส่วนราคาขยับขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 10 บาท/กก. จาก 90 บาทเป็น 100 บาท/ กก.
นายสมศักดิ์ จิตตวิสุทธิวงศ์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า หากเกิดโรคลัมปิสกินขึ้นในโคเนื้อ โคพื้นบ้าน จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เนื่องจากพัทลุงมีการส่งออกสูง ปี 2563 ส่งโคเนื้อ โคพื้นบ้าน ประมาณ 35,166 ตัว มูลค่าประมาณ 914,316,000 บาท
แหล่งข่าวในวงการธุรกิจตลาดนัดโค กระบือ จังหวัดมหาสารคาม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคลัมปิสกินในพื้นที่มหาสารคาม ทำให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด
และปศุสัตว์จังหวัด ออกมาตรการควบคุมเป็นพื้นที่เสี่ยงห้ามคนจำนวนมากมารวมกัน และห้ามมิให้เคลื่อนย้ายสัตว์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ ส่งผลกระทบให้ต้องปิดตลาดนัดโค กระบือ ขนาดใหญ่ 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่ ต.เขวา อ.เมือง
และในพื้นที่ อ.นาเชือก ซึ่งปกติเปิดตลาดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง มีการซื้อขายกันนัดละกว่า 1,000 ตัว มีเงินสะพัดนัดละหลาย 10 ล้านบาท หรืออาจมากกว่านั้นในช่วงที่ราคาโคพุ่งสูง
เนื่องจากมีพ่อค้าเดินทางมาจากทั่วประเทศ การปิดตลาดนัดต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดเดือนเมษายน 2564 ทำให้เม็ดเงินจากการซื้อขายโค กระบือ หายวูบไปมากกว่า 50 ล้านบาท
ยังไม่รวมธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ปัจจุบันทางจังหวัดมหาสารคามได้มีการประกาศให้ทุกพื้นที่ ทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เป็นเขตโรคระบาดชนิดโรคลัมปิสกิน ประกาศตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป โอกาสที่จะเปิดตลาดในเวลาอันใกล้นี้จึงค่อนข้างจะยาก
นายคงฤทธิ์ บัวบุญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า พบการแพร่ระบาดของโรคลัมปิสกินในโคเนื้อ 3 อำเภอ มากกว่า 100 ตัว ประกอบด้วย อ.กันทรวิชัย อ.บรบือ
และ อ.วาปีปทุม ซึ่งการช่วยเหลือจากภาครัฐอาจจะช้าเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่น้อย เกษตรกรรายย่อยจำเป็นต้องจ่ายเงินจ้างสัตวแพทย์เอกชนมาฉีดยาให้ โค 1 ตัวต้องฉีดไม่ต่ำกว่า 3 เข็ม ราคาเข็มละ 500 บาท สร้างความลำบากให้เกษตรกรในช่วงที่เงินทองหายาก ทางภาครัฐควรระดมเจ้าหน้าที่จากพื้นที่ที่ไม่มีการระบาดลงมาช่วยอย่างเร่งด่วน