คลัสเตอร์ ศรีตรังโกลฟส์ พบติดเชื้อโควิดเพิ่ม 17 คน

คลัสเตอร์ศรีตรังโกลฟส์พบโควิดเพิ่ม 17 คน ด้าน “แปลนทอยส์” ยัน 2 คนงานติดโควิดสกัดทันไม่เข้ารง. เผยผู้ว่าฯผนึก อบจ. ตรัง ควัก 80 ล้าน สั่งซื้อ “ซิโนฟาร์ม” แสนโดส หลังยอดจัดสรรวัคซีนลดลง เร่งหยุดการแพร่ระบาดในโรงงาน

;yomujนายแพทย์ตุลกานต์ มักคุ้น แพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลตรัง ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ เปิดเผยสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 30 พฤษภาคม 2564 ว่า จังหวัดตรังมีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 44 ราย ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564 ในจำนวนนี้เป็นคลัสเตอร์ของโรงงานถุงมือยางบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT จำนวน 17 ราย

ปัจจุบันจังหวัดตรังมียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมรวม 425 ราย แบ่งเป็นเพศหญิง 22 ราย เพศชาย 22 ราย รักษาหายออกจากโรงพยาบาล 4ราย รวม รักษาหาย 283 ราย แต่เนื่องจากผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้น

“สำหรับคลัสเตอร์โรงงานถุงมือยางศรีตรังโกลฟส์ วันนี้เพิ่มขึ้นทั้งหมด 17 คน เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงทั้งหมด สัมผัสกับผู้ป่วยชุดแรก ขณะที่ทั้งโรงงานไม่ได้เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง แต่อยู่ในโรงงานสถานที่ปิดจึงตรวจหาเชื้อทั้งหมด 1,579 คน ผลจะทราบไม่เกินวันอังคารที่ 1 มิถุนายน 2564 และโรงงานให้ความร่วมมือกับทางจังหวัด แม้จะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ”

ขณะนี้ทางสาธารณสุขได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในพนักงานโรงงานถุงมือยางศรีตรังโกลฟส์ตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ 28พ.ค.64 ไป 500 ราย พบผลบวก 72 ราย ซึ่งกำลังรอรายงานผลอย่างเป็นทางการ จะเห็นได้ว่า อัตราการติดเชื้อในโรงงานอาจจะยังไม่ได้มากอย่างที่คาดการณ์ว่าจะสูง ขณะนี้อัตราการติดเชื้อที่พบเพียง 25-30% รอตัวเลขยืนยันอย่างเป็นทางการอีกครั้ง หากพบผู้ป่วยจะรับเข้าโรงพยาบาลสนาม และรับเข้าระบบการรักษาปกติ และมีการประกาศปิดโรงงานจนกว่าสถานการณ์จะปกติ

ในส่วนผู้ที่ต้องกักตัวทางโรงงานจะมีส่วนร่วมในการดูแลพนักงานทั้งหมด 1,579 คน โดยจัดสถานที่กักตัวสำหรับพนักงานที่ผลตรวจเป็นลบไว้ทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ 1.บ้านพักภายในโรงงาน กักตัวได้ 500-600 คน 2.ปรับพื้นที่โรงงานในส่วนโกดัง โรงอาหาร อาคารสำนักงานเป็นที่กักตัวได้อีก 300 คน 3.โรงงานจะใช้โรงแรม 2 แห่ง คือ โรงแรม โรงแรมอีโค่ อินน์ ตรัง และโรงแรมโรงแรมวัฒนา พาร์ค เป็นสถานที่กักตัวพนักงานที่ผลตรวจเป็นลบ

คนที่ทำงานอยู่ที่โรงงานถุงมือยางทั้งสิ้น 1,579 คน เป็นชาวเมียนมา 291 คน  และเป็นคนไทยที่เป็นคนต่างจังหวัดและพักอยู่ในโรงงาน ที่เหลือ 1,082 คนเป็นชาวจังหวัดตรังที่กระจายอยู่ในอ.ย่านตาขาว อ.กันตัง และอ.เมืองตรัง จะมีการนำพนักงานทั้งหมดมาตรวจหาเชื้อ โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลาได้มาช่วยจังหวัดตรัง เราสวอปเสร็จสิ้นแล้ววันนี้ ผลต้องทยอยออก เพราะจังหวัดตรังมีศักยภาพในการตรวจวิธี Real time PCR ประมาณ 460 ตัวอย่าง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพบพนักงานในโรงงานเป็นผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 จะให้สำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ทั้งระดับอำเภอและจังหวัดเข้าไปควบคุม และสอบสวนโรคกับผู้สัมผัสในครัวเรือน เพราะฉะนั้นครอบครัวใดที่มีบุตรหลานทำงานในโรงงานถุงมือยางศรีตรังโกลฟส์ถ้าใครยังไม่ได้สวอปให้ไปติดต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง คนร่วมบ้านขอให้สวมหน้ากากอนามัย และแยกกันรับประทานอาหาร

นายแพทย์ตุลกานต์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมด 44 ราย แบ่งเป็นรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมืองตรัง 16 คน อ.ย่านตาขาว 14 คน อ.กันตัง 8  คน อ.ปะเหลี่ยน อ.วังวิเศษ อ.ห้วยยอด อย่างละ 2 คน

โดยผู้ป่วยในอ.ย่านตาขาว 14 ราย ติดเชื้อมาจาก 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นผู้อยู่ร่วมบ้าน กับผู้ต้องขังที่ถูกคัดกรองก่อนเข้าเรือนจำ จำนวน 6 ราย โดยใน 6 รายนี้มี 2 รายทำงานบริษัท แปลนทอยส์ หลังจากบริษัทได้ทราบเป็นผู้ป่วยสัมผัสยืนยันร่วมบ้านกับผู้ต้องขังได้กักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทันที และได้ส่งสวอปผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้ง 18 ราย ซึ่งผลตรวจออกมาเป็นลบ ขอให้ประชาชนมั่นใจถึงมาตรการที่บริษัท แปลนทอยส์ดำเนินการถือว่า แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ไม่ได้แพร่ระบาดเข้าไปในโรงงาน

ทั้งนี้ ที่ อ.ย่านตาขาวพบคลัสเตอร์โรงงานถุงมือยางศรีตรังโกลฟส์ มีผู้สัมผัสร่วมบ้าน และสัมผัสในที่ทำงานอีก 6 ราย

และมี 1 ราย ผู้ป่วยรายที่ 395 ต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว ตรวจพบโควิด-19 ก่อนการผ่าตัดที่โรงพยาบาลตรังก่อนรับการผ่าตัด ซึ่งยังไม่ทราบว่าติดมาอย่างไรอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค

ส่วนอ.เมืองตรัง มีผู้ป่วยยืนยันทั้งสิ้น 16 ราย กระจายตามตำบลต่างๆ แบ่งเป็น 3 คลัสเตอร์หลัก ได้แก่ คลัสเตอร์ที่ 1  ร้านกาแฟภาสิณี จากการสัมผัสร่วมบ้าน คลัสเตอร์ที่ 2  ครอบครัวที่ต.หนองตรุด ผู้ป่วยรายที่ 338 มีลูกสาวเดินทางมาจากจังหวัดสงขลา ลูกสะใภ้ทำงานที่วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สาขาขนอม จังหวัคนครศรีธรรมราช

และคลัสเตอร์ที่ 3 โรงงานถุงมือยางศรีตรังโกลฟส์ 2 ราย ส่วนอีก 1 รายเป็นชาวจังหวัดระนอง เพศหญิง อายุ 35 ปี ทำงานบริษัทขนส่ง ต.โคกหล่อ อ.เมืองตรัง เดินทางมาจากจังหวัดเสี่ยงสูง ประวัติการสัมผัสเจ้าตัวยังไม่สามารถระบุได้อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค ยังไม่นับเป็นคลัสเตอร์

อ.กันตัง 8 ราย ผู้ป่วยรายที่ 412-419 เป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันคลัสเตอร์โรงงาน ถุงมือยางศรีตรังโกลฟส์ทั้งหมด

อ.ปะเหลียน พบผู้ป่วยเป็นตำรวจ 2 รายทำงานที่สถานีตำรวจภูธรย่านตาขาว รายแรก อายุ 49 ปี ภูมิลำเนา ต.แหลมสอง รายที่ 2 อายุ 52 ปี ภูมิลำเนาต.ท่าพญา ทั้ง 2 รายสัมผัสโดยจับกุมผู้ต้องขังที่ติดโควิด-19 ก่อนเข้าเรือนจำ

อ.วังวิเศษ พบผู้ป่วย 2 รายที่ต.เขาวิเศษ รายที่ 422-423 เป็นเด็กชาย อายุ 9 ขวบ และเพศหญิง อายุ 31 ปี อาชีพเกษตรกรรับซื้อน้ำยาง ทั้ง 2 รายมีประวัติสัมผัสร่วมบ้านกับผู้ป่วยรายที่ 277 ซึ่งเป็นผู้ป่วยยืนยันรายแรกของอ.วังวิเศษในการระบาดระลอกนี้

อ.ห้วยยอด พบผู้ป่วย 2 ราย รายแรก 424-425  รายที่ 1 เป็นชายไทย อายุ 19 ปีภูมิลำเนาต.นาวง อาชีพรับจ้างต่อท่อพีวีซี บริษัท พีพีเอส ผู้ป่วยรายนี้เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดจังหวัดปทุมธานี โดยพักอาศัยในแคมป์งานของบริษัท ผู้ป่วยรายนี้จะมีการส่งสวอปเชื้อเพื่อยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์ใดต่อไป รายที่ 425 ภูมิลำเนาต.บางดี เพศชาย อายุ 15 ปี เป็นนักศึกษามีประวัติยืนยันสัมผัสผู้ป่วยรายที่ 286 เป็นคลัสเตอร์ต.เขาวิเศษ

นายแพทย์ตุลกานต์ กล่าวต่อไปว่า การที่จังหวัดตรังได้รับยอดการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขลดลง ขณะที่สถานการณ์ภายในจังหวัดตรังพบการระบาดในโรงงาน และต้องการควบคุมการระบาดในโรงงานให้ได้โดยเร็ว ทางผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตรังเมื่อวันที่ 28 พ.ค.64 จึงได้มีการพิจารณาที่จะจัดซื้อวัคซีนทางเลือก”ซิโนฟาร์ม”จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มาฉีดให้ประชาชนชาวตรัง จำนวน 52,000 คน หรือ 104,000 โดส

โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง(อบจ.ตรัง) ยินดีจะสนับสนุนงบประมาณ 80 ล้านบาท ในการซื้อวัคซีนให้จังหวัดตรังเดินหน้าบริการสาธารณไปได้ในเดือนมิถุนายน 2564 และผู้ว่าฯได้ลงนามในหนังสือส่งไปยังเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้ววานนี้ (29พ.ค.64)