คลัสเตอร์โรงงานแต่ละแห่ง จำนวนผู้ติดโควิด การควบคุม อัพเดตที่นี่

อัพเดตข้อมูลคลัสเตอร์โรงงานแต่ละแห่ง

อัพเดตข้อมูลคลัสเตอร์โรงงานแต่ละแห่ง ทั้งจำนวนผู้ติดโควิดและความคืบหน้าในการควบคุมสถานการณ์

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนกำลังวิตกเรื่องการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ลุกลามเข้าสู่โรงงานใหญ่หลายแห่งในต่างจังหวัด เกิดเป็นคลัสเตอร์โรงงานซึ่งสาธารณสุขแต่ละจังหวัดต้องทุ่มสรรพกำลังเพื่อจำกัดการระบาดให้เร็วที่สุด เพราะนอกจากจะส่งผลต่อตัวเลขผู้ติดเชื้อในจังหวัดแล้ว ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของโรงงานเหล่านี้ด้วย

ก่อนหน้านี้ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เนื่องจากที่ผ่านมา แผนการจัดสรรวัคซีนตามจำนวนประชากร แต่ไม่ได้ดูความรุนแรงการติดเชื้อในแต่ละพื้นที่ และไม่ได้ดูว่าพื้นที่สำคัญกับระบบเศรษฐกิจหรือไม่ ฉะนั้น จังหวัดที่ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์แล้วอาจไม่ต้องเอาไปมากก็ได้ โดยขณะนี้อีกส่วนต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด เพื่อเป็นการป้องกันภาคอุตสาหกรรมส่งออก

หากตอนนี้โควิด-19 ระบาดเข้าไปในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก ซึ่งจะทำให้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจะหมดแล้ว เพราะเศรษฐกิจไทยตอนนี้ยืนอยู่ได้ด้วย 3 เครื่องยนต์ ได้แก่ 1.การส่งออก 2.การลงทุนภาครัฐ และ 3.การบริโภคภายในประเทศ

“ขณะนี้ภาคส่งออกเป็นตัวสำคัญ คิดเป็น 40% ของจีดีพี หากโดนโควิดกระทบก็จบ” เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวและว่าปีนี้การส่งออกขยายตัวดีขึ้น โดยไตรมาส 1/64 การส่งออกขยายตัว 11% (ไม่รวมทองคำ) และเดือน เม.ย. ขยายตัวได้ 25% (ไม่รวมทองคำ) ซึ่งอุตสาหกรรมภาคการส่งออกจะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น และธุรกิจเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน

สำหรับคลัสเตอร์โรงงานที่ได้รับความสนใจในระลอกล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมไว้ ดังนี้

  1. คลัสเตอร์ โรงงานแคล-คอมพ์
  2. คลัสเตอร์ ศรีตรังโกลฟส์
  3. คลัสเตอร์ โรงงานแปรรูปไก่ซีพีเอฟ
  4. คลัสเตอร์ โรงงานนิคมฯอมตะนคร

คลัสเตอร์โรงงานแคล-คอมพ์

เริ่มต้นที่แห่งแรก “คลัสเตอร์ โรงงานแคล-คอมพ์” โรงงานของ บริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจบริการการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ (EMS) ผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับแบรนด์สำคัญทั่วโลก เช่น Western Digital, Seagate, Advance Digital Broadcast, Technicolor, Pace, Hewlett Packard, Panasonic และอื่น ๆ

สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ในโรงงานแคล-คอมพ์ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี คาดว่าปะทุขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม โดยเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า หลังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพชรบุรี ออกค้นหากลุ่มเสี่ยงในชุมชน พบแรงงานในโรงงานขนาดใหญ่ ใน อ.เขาย้อย ติดเชื้อโควิด ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมียนมา

ด้าน นพ.อมรเทพ บุตรกตัญญู ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแหลม เปิดเผยว่า ตรวจพบผู้ติดเชื้อในโรงงานดังกล่าว ระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคม จำนวน 8 ราย ต่อมาจึงพบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจากการสอบสวนโรคแรงงานที่ติดโควิดพบว่า แรงงานไทยพักอาศัยอยู่กับบ้านพัก ส่วนแรงงานเมียนมาพักอยู่ในหอพักรอบ ๆ โรงงาน จำนวน 8 แห่ง

สำหรับโรงงานแห่งนี้มีมีไลน์การผลิตจำนวน 12 ไลน์ แต่เปิดใช้เพียง 10 ไลน์ และที่มีการติดเชื้อจากคนงานคือไลน์การผลิตที่ 9 ซึ่งมีคนงานจำนวน 3,800 คน ขณะที่ทั้งโรงงาน มี แรงงานไทย 5,778 คน เมียนมา 7,058 คน รวม 12,836 คน หมุนเวียนทำงานเป็นกะ

กระทั่งวันที่ 20 พฤษภาคม โรงงานแคลคอมพ์ ประกาศปิดทำการ 14 วัน หลังจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งถึง 682 ราย เบื้องต้นทาง สสจ.เพชรบุรี ให้แรงงานต่างด้าว 3,600 คน กักตัวในโรงงาน ส่วนแรงงานที่อยู่หอพักด้านนอกกำหนดให้อยู่แต่ในที่พัก

โดยทางบริษัทจะจัดหาอาหารให้แรงงานต่างด้าวที่กักตัวภายในโรงงาน ครบ 3 มื้อ ขณะที่ในบริเวณโรงงานได้เปิดเป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อดูแลผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ และมีความเสี่ยงสูง ส่วนแรงงานด้านนอกทางโรงงานจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายอาหาร 3 มื้อเช่นกัน

วันที่ 22 พฤษภาคม 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวัน โดยกล่าวถึงคลัสเตอร์โรงงานใน จ.เพชรบุรี ว่า การติดเชื้อจากคลัสเตอร์ดังกล่าวได้กระจายไปใน 8 อำเภอ แล้ว

วันที่ 29 พฤษภาคม 2564 คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพชรบุรี มีมติเร่งด่วน ให้ยกระดับมาตรการการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด โดยล็อกดาวน์พื้นที่รอยต่อ 6 ตำบล ใน อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ได้แก่

  1. ห้วยโรง
  2. หนองชุมพลเหนือ
  3. หนองชุมพล
  4. สระพัง
  5. บางเค็ม
  6. เขาย้อย

ตั้งแต่เวลา 00.01 ของวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป เป็นเวลา 14 วัน

ล่าสุด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในคลัสเตอร์โรงงานว่า ตั้งแต่วันที่ 15-30 พฤษภาคม มีผู้ติดเชื้อสะสม 4,521 ราย แบ่งเป็น แรงงานไทย 1,564 ราย ต่างด้าว 2,957 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 4,488 ราย รักษาหายสะสม 32 ราย เสียชีวิตสะสม 1 ราย

คลัสเตอร์ ศรีตรังโกลฟส์

บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์รายใหญ่ของโลก ซึ่งได้รับอานิสงส์เต็ม ๆ จากดีมานด์การใช้ถุงมือยางทั่วโลกในช่วงโควิดระบาด โดยไตรมาสแรกปีนี้ กวาดกำไรสุทธิมากถึง 10,051.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,245% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับเป็นการทำกำไรสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่รายได้รวมอยู่ที่ 15,433.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 308.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เผยเป้าหมายในปี 2564 ว่า บริษัทจะขายถุงมือยางรวม 32,000 ล้านชิ้น หรือเติบโต 14% จากปี 2563 ที่มีปริมาณการขายเกือบ 30,000 ล้านชิ้น จากภาพรวมตลาดถุงมือยางทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 แสนล้านชิ้น หรือเพิ่มขึ้น 17% จากปีที่ผ่านมา

โดยมีแผนเดินเครื่องจักรโรงงานใหม่อีก 4 แห่งในปีนี้ ดังนี้

  1. โรงงาน SR2 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เริ่มเดินเครื่องจักรเต็มทุกไลน์การผลิตแล้ว
  2. โรงงาน SR3 ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี คาดว่าเริ่มเดินเครื่องจักรภายในไตรมาส 2 นี้
  3. โรงงานที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา คาดว่าเดินเครื่องจักรในไตรมาส 3
  4. โรงงานจังหวัดตรัง คาดว่าจะเดินเครื่องจักรได้ในไตรมาส 4 นี้

นอกจากนี้ได้วางเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตรวมเป็น 80,000 ล้านชิ้นต่อปี ภายในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2569

อย่างไรก็ตาม การเดินเครื่องผลิตของศรีตรังโกลฟส์ใน 2 โรงงาน ต้องชะงัก เนื่องจากเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 นายแพทย์ตุลกานต์ มักคุ้น แพทย์ชำนาญการพิเศษโรงพยาบาลตรัง ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ เปิดเผยว่า จังหวัดตรังมีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 37 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นคลัสเตอร์ของโรงงานถุงมือยางบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT

แพทย์ตุลกานต์ เผยว่า ตรวจพบผู้ติดเชื้อในโรงงานถุงมือยาง ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม จำนวน 2 ราย ซึ่งทั้ง 2 รายนี้ มีอาการทางเดินหายใจส่วนบน มีไข้ ไอ เจ็บคอ จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลตามเกณฑ์การเฝ้าระวัง จากนั้นวันที่ 27 พฤษภาคม จึงมีการค้นหาเชิงรุกในโรงงาน จากการสอบสวนโรคพบว่ามีผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อใน 3 แผนก ได้แก่ แผนกถอดถุงมือ แผนกควบคุมคุณภาพ (คิวซี) และแผนกแพ็กเกจจิ้ง ตรวจไป 33 ราย ปรากฏพบเป็นบวก 22 ราย คือ 2 ใน 3 ของการค้นหาเชิงรุก

เมื่อทราบว่ามีการแพร่ระบาดในโรงงาน จึงมีคำสั่งจากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดตรัง ให้ปิดโรงงานชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะปกติ และช่วง 3 วัน หลังจากนั้น จะลงไปควบคุมโรคโดยวิธีการสวอปพนักงานในโรงงานทั้งหมด 1,579 คน

ส่วนโรงงานอีกแห่งของศรีตรังโกลฟส์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ตรวจพบว่า โรงงานแห่งนี้มีพนักงานทั้งสิ้น 1,956 คน ได้ดำเนินการตรวจคัดกรองเพื่อหาเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พบผู้ติดเชื้อ 5 ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 173 ราย จึงได้ปิดโรงงานทุกแผนก เป็นเวลา 3 วัน (29-31 พฤษภาคม 2564)

สถานการณ์การระบาดในโรงงานทั้ง 2 แห่ง ของศรีตรังโกลฟส์ พบผู้ติดเชื้อในโรงงานจังหวัดตรัง 117 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม) ส่วนผู้ติดเชื้อในโรงงาน จ.สุราษฎร์ธานี มี 5 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤษภาคม)

คลัสเตอร์ โรงงานแปรรูปไก่ซีพีเอฟ

โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ของ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ใน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานที่มีมาตรฐานกระบวนการแปรรูปเนื้อไก่ตามมาตรฐานสากล โดยมีการควบคุมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอนการผลิต ด้วยระบบการเลี้ยงในฟาร์มเป็นโรงเรือนแบบปิดทั้ง 100% มีการควบคุมการเข้าออกอย่างเข้มงวด

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี แจ้งผลการดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ระบุว่า ได้ดำเนินการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกพนักงานโรงงานแปรรูปเนื้อไก่สระบุรีของ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีพนักงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 5,800 คน ตรวจเชิงรุกแล้วประมาณ 3,400 ราย ทราบผลการตรวจแล้ว จำนวน 765 ราย พบผู้ติดเชื้อจำนวน 245 ราย และต่อมาเพิ่มเป็น 391 ราย

ในจำนวนนี้เป็นชาวกัมพูชาจำนวน 240 คน เป็นเพศชาย จำนวน 129 คน เพศหญิง จำนวน 111 คน ชาวไทย จำนวน 151 คน เป็นเพศชาย จำนวน 37 คน เพศหญิง จำนวน 114 คน

วันเดียวกัน ซีพีเอฟปิดสายการผลิตชั่วคราวเพื่อทำความสะอาด ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม ถึง 3 มิถุนายน 2564 รวม 5 วัน พร้อมยืนยันว่า พนักงานผู้ติดเชื้อเป็นผู้ปฏิบัติงานในส่วนที่ไม่ได้สัมผัสผลิตภัณฑ์อาหารโดยตรง และขณะปฏิบัติหน้าที่ ทุกคนจะสวมชุดฟอร์ม หน้ากากอนามัย และผ้าปิดปากปิดจมูกอย่างมิดชิด ซึ่งช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อลงได้มาก

คลัสเตอร์ โรงงานนิคมอุตสาหกรรม

คลัสเตอร์สุดท้ายเป็นคลัสเตอร์เล็ก ๆ ใน จ.ชลบุรี ได้แก่ คลัสเตอร์ เซเลอเรส ของ บริษัท เซเลอเรส (ประเทศไทย) จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอสิกส์ ที่ใช้ในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ และ คอมพิวเตอร์ โดยเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี พบผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์นี้มากถึง 133 ราย จากพนักงานทั้งชาวไทยและชาวต่างด้าว จำนวน 355 ราย

ส่วนวันที่ 23 พฤษภาคม พบ 42 ราย และล่าสุดวันที่ 30 พฤษภาคม พบ 8 ราย

ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม สสจ.ชลบุรี รายงานว่าพบคลัสเตอร์จากโรงงานแห่งหนึ่ง 86 ราย แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นโรงงานใด

ทาง สสจ.ชลบุรี ได้ประกาศขอให้พนักงานบริษัทเซเลอเรสทุกคนที่ตรวจพบเชื้อโควิด ให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล หากตรวจไม่พบเชื้อให้กักตัวที่บ้าน 14 วัน จนถึงวันที่ 5 มิถุนายน

อีกคลัสเตอร์ที่น่าจับตาใน จ.ชลบุรี คือ คลัสเตอร์ โอคุมุระ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศภายในบ้านของ บริษัท โอคุมุระ เมทัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ซึ่งเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พบผู้ติดเชื้อ 16 ราย ส่วนเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พบผู้ติดเชื้อที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยันจากบริษัท โอคุมุระ จำนวน 2 ราย

ย้อนไปเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ได้ออกคำสั่ง เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 สาระสำคัญระบุว่า พบการแพร่ระบาดภายในสถานประกอบการ บริษัท โอคุมุระ เมทัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงให้ปิดสถานประกอบการแห่งนี้เป็นการชั่วคราว และให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคโดยเคร่งครัด มีผลตั้งแต่ 21 พฤษภาคม ถึง 4 มิถุนายน

หากแต่ละคลัสเตอร์มีความคืบหน้าอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” จะอัพเดตข้อมูลและรายงานต่อไป