“มนัส มีพงษ์” ตลาดน้ำ 4 ภาค พัทยา รัฐไม่ชัดเรื่องวัคซีน…ธุรกิจไม่เห็นทิศทาง

ตลาดน้ำ 4 ภาค พัทยา ถือเป็นสถานที่อีกหนึ่งแห่งที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “มนัส มีพงษ์” ประธานบริหารตลาดน้ำ 4 ภาค พัทยา ถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจจนถึงปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19

“มนัส” เล่าว่า ตลาดน้ำ 4 ภาคพัทยา ถือว่าเป็นตลาดน้ำแห่งแรกในประเทศไทยที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนเมื่อปี 2551 โดยมุ่งหวังส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมไทย เน้นการขายความเป็นไทย

อาทิ ค้าขายทางน้ำ การแต่งกาย การพูดจา การล่องเรือของแม่ค้าสมัยอดีต เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ลิ้มรส กลิ่น เสียง จากภาพความเป็นจริง ทำให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

เช่น การสาธิตขนมไทย อาหารไทย สมุนไพรไทย รวมถึงสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ การเปิดตลาดน้ำ 4 ภาคได้รับผลการตอบรับที่ดีมาก ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในพัทยาเพิ่มขึ้น30-40% และท่องเที่ยวที่ตลาดเฉลี่ย 15,000-18,000 คน/วัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีรายได้อยู่ดีกินดี

ขณะเดียวกันมีไกด์หรือบริษัททัวร์ นำโปรแกรมการท่องเที่ยวตลาดน้ำ 4 ภาคพัทยา ไปขายในต่างประเทศ ได้การตอบรับเป็นอย่างดี ส่วนนักท่องเที่ยวไทยเราให้ความสำคัญโดยให้เข้าชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย

เมื่อดำเนินธุรกิจมาถึงปี 2563 สิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งการระบาดรอบแรกคาดการณ์ว่าสถานการณ์น่าจะคล้าย ๆ โรคซาร์ส

โดยที่ผ่านมาเราผ่านวิกฤตการณ์มาหลายรูปแบบ คิดว่าน่าจะไม่ร้ายแรง แต่เมื่อมีระบาดของโรคโควิด-19 หนักขึ้นจนถึงปัจจุบัน เราพยายามประคับประคองกิจการมาโดยตลอด ไม่มีการเก็บค่าเช่าผู้ประกอบการมาปีเศษ

ทำให้ขาดทุนไป30 กว่าล้านบาท ผู้ประกอบการหลายคนเห็นใจ และพร้อมสู้ไปด้วยกัน ซึ่งเราได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเพิ่มช่องทางการขายผ่านออนไลน์ เช่น แกร็บฟู้ด ไลน์แมน และช่องทางต่าง ๆ

ปัจจุบันมีการป้องกันการระบาดตามมาตรการของภาครัฐ โดยมีการติดตั้งสเปรย์แอลกอฮอล์ พ่นยาฆ่าเชื้อ ถึงแม้พื้นที่ของตลาดน้ำ 4 ภาคมีจุดแข็งที่แตกต่างจากห้างสรรพสินค้าเพราะเป็นพื้นที่เปิด (open) แต่เนื่องจากประชาชนยังกลัวการติดเชื้อโควิด

การฉีดวัคซีนยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย น่านฟ้ายังปิดนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ รวมถึงการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่หลักแหลม ทำให้ปัจจุบันไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่

“การทำธุรกิจที่ไม่เห็นทิศทางเป็นอะไรที่ค่อนข้างน่ากลัว ถ้าเราเห็นทิศทางว่าจะมีวัคซีนเข้ามาในประเทศไทยกี่โดส ประชาชนคนไทยจะได้ฉีดวัคซีนครบตอนไหน การเปิดน่านฟ้าให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศได้เมื่อไหร่

รวมถึงการปกป้องตะเข็บชายแดนเพื่อไม่ให้มีการลักลอบนำเชื้อโควิดเข้ามา มาตรการรุนแรงเพียงพอหรือไม่ที่จะจัดการกับผู้คนที่ลักลอบเข้ามา ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นที่จังหวัดสมุทรสาครยังพบการลักลอบเข้ามาของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน

ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่เข้มแข็ง ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้นักลงทุนคำนึงถึงความเสี่ยง เราไม่อยากเข้าไปก้าวล่วงการบริหารงานของรัฐบาลมากมาย แต่ระบบกฎหมายจะต้องแข็งแรง”

ตอนนี้เราจะเดินหน้าธุรกิจต่อไปอย่างไร ตราบที่รัฐบาลไม่หันมามองนักลงทุน ต่อไปเศรษฐกิจของประเทศไทยก็จะแย่ การที่รัฐบาลออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ อาทิ โครงการคนละครึ่งเราชนะ เรารักกัน

ซึ่งเป็นการแจกเงินเราไม่เห็นด้วย เพราะเงินไม่ได้ต่อยอด รัฐบาลควรนำเงินมาส่งเสริมผู้ประกอบสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ โรงแรม สายการบินภายในประเทศ ให้ธุรกิจต่าง ๆ มีรายได้และมีเงินจ้างพนักงาน

ซึ่งพนักงานจะนำส่วนที่ได้ไปใช้จ่ายจึงจะทำให้มีเงินหมุนเวียน อีกทั้งโครงการพักทรัพย์พักหนี้ หรือโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เรามองว่าเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น รัฐบาลควรควบคุมเศรษฐกิจคู่ขนานไปด้วย โดยให้ทางธนาคารชะลอการจ่ายดอกเบี้ยไปก่อน หรือปรับลดดอกเบี้ยให้ต่ำ

สำหรับมาตรการในการเปิดเมือง เรามองว่าต้องเห็นความชัดเจนของวัคซีนก่อน รัฐบาลควรเปิดอิสระให้เอกชนนำเข้าวัคซีน เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับประชาชน ตอนนี้ประชาชนไม่กล้าฉีดวัคซีน

เหตุผลง่าย ๆ คือ ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นในวัคซีน และหากถามว่าตลาดน้ำ 4 ภาค จะกลับมาเปิดให้บริการได้เมื่อไหร่ ไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะรัฐบาลไม่สามารถให้คำตอบเราได้ และในอนาคตคาดว่าการท่องเที่ยวและระบบทัวร์จะเปลี่ยนไปหมดทุกอย่าง

กลุ่มนักท่องเที่ยวจะเป็นแบบ V.I.P. และนักท่องเที่ยวจะไม่มากเหมือนที่ผ่านมาแต่จะมีกำลังซื้อมากกว่า ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมแผนรับมือนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ ทำอย่างไรจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทยได้