หนี้พิโกไฟแนนซ์ เปลี่ยนชนชั้นกลางภูธร-บุคลากรการแพทย์แห่กู้

วงการ “พิโกไฟแนนซ์” ตะลึงปรากฏการณ์ใหม่ พิษโควิด-19 ทำรายได้ “ชนชั้นกลาง-บุคลากรทางการแพทย์” วิกฤตหนัก วิ่งมาขอกู้เงิน “พิโกไฟแนนซ์” จำนวนมากทำฐานลูกค้าจากรากหญ้ากลายมาเป็นชนชั้นกลางมากขึ้น พร้อมเตือนระวังกลุ่มมิจฉาชีพทำ “แอปพลิเคชั่น” แอบอ้างชื่อบริษัทไปหลอกลวงให้โอนค่าธรรมเนียม

นายไชยวัฒน์ อึงสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรีมันนี่ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กลุ่มลูกค้าหลักของทรีมันนี่ยังมาจากกลุ่มแรงงานในโรงงาน

แต่เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาผู้มาขอกู้เงินจำนวนมากเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เช่น พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในสถานพยาบาล

เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้อยู่ในภาวะที่ลำบาก มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับรายรับคงที่ ส่งผลให้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เบื้องต้นขอกู้เฉลี่ยประมาณ 20,000-40,000 บาทต่อราย เพื่อไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

“ตอนนี้ทรีมันนี่เราจึงมีนโยบายเร่งด่วนอนุมัติให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งผู้ที่มากู้เพื่อไปดำรงชีวิตประจำวันก่อน ส่วนที่มาขอกู้เพื่อไปปิดหนี้นอกระบบให้พักไว้ชั่วคราว

เพราะจำนวนเงินมีจำกัดแม้ยังไม่ถึงเพดานที่เราวางไว้ที่ 500 ล้านบาท แต่จำนวนที่เหลืออีกประมาณ 250 ล้านบาทต้องปล่อยกู้ไปอีกถึงครึ่งปี ซึ่งเป็นช่วงที่หนักพอสมควรจนกว่าจะถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2564

โดยเฉพาะชาวนาที่มากู้เงินเพื่อไปทำนา ขณะที่กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังจ่ายและสามารถคืนเงินได้รวมอยู่ประมาณ 5 ล้านบาทต่อเดือน เงินเหล่านี้จะมาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้สามารถปล่อยกู้ไปยังลูกค้ารายใหม่ได้ต่อไป”

ปัจจุบีน “ทรีมันนี่” มีตัวเลขที่ปล่อยกู้ไปแล้วประมาณ 250-260 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คงที่ประมาณ 11-12% ถือว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับยุคโควิด-19

ปัจจัยส่วนแรกมาจากการออกจากงานประจำของผู้กู้ ซึ่งไม่มีรายได้แล้ว ถัดมาเป็นกลุ่มที่ขอผัดผ่อนไม่จ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เนื่องจากแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว

ซึ่งเป็นการชะลอการผัดผ่อนแต่ก็ถือว่าเป็น NPL ส่วนปัจจัยที่เหลือส่วนน้อยมากคือหนีหนี้ทั้งที่มีงานทำมีเงินใช้ แต่ไม่ยอมจ่ายด้วยอุปนิสัยส่วนตัว โดยทางบริษัทได้ทำเรื่องฟ้องร้องกันไป

ด้านสถานการณ์โดยทั่วไปของธุรกิจพิโกไฟแนนซ์จะเงียบ ผู้ประกอบการรายใหม่น้อยมาก เพราะอยู่ในช่วงโควิด-19 และช่วงเศรษฐกิจไม่ดี จากการพูดคุยกันในกลุ่มผู้ประกอบการ NPL

เริ่มสูงขึ้นผู้ประกอบการเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้ที่นำโฉนดมาค้ำประกันไม่ได้โดยเฉพาะชาวไร่ชาวนา NPL สูงขึ้นกว่า 30-40% และเมื่อมีการฟ้องร้องกันศาลก็ขอเลื่อนออกไปเรื่อย มีการบังคับคดีหยุดบังคับเป็นช่วง ๆ

เพราะศาลเห็นใจผู้กู้อยู่ โดยรูปแบบการใช้โฉนดที่ดินค้ำประกันจะมีวงเงินกู้สูง เช่น 200,000 บาทต่อ 1 โฉนดที่ดิน ซึ่งสามารถทำเอกสารการกู้รูปแบบพิโกไฟแนนซ์ได้เพียง 50,000 บาทเท่านั้น ที่เหลือเป็นการกู้ในชื่อบุคคล 150,000 บาท ฉะนั้นการฟ้องร้องจะมีปัญหาหลายอย่าง

นายไชยวัฒน์เปิดเผยว่า นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่กำลังระบาดหนักคือแอปพลิเคชั่นหลอกลวงให้โอนค่าธรรมเนียมก่อนปล่อยเงินกู้

โดยบุคคลหรือบริษัทเหล่านี้จะนำชื่อบริษัทที่ประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ที่มีอยู่จริงไปแอบอ้าง เช่น บริษัท ทรีมันนี่ จำกัด ถูกนำไปแอบอ้างเป็นจำนวนมาก

โดยวิธีการจะมีเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์เป็นนายหน้าโทร.ไปหาลูกค้าหรือส่งข้อความ บอกว่าจะปล่อยกู้ให้

แต่ต้องโอนเงินค่าดำเนินการด้านเอกสารต่าง ๆ เป็นค่าธรรมเนียมผ่านแอปพลิเคชั่นมาก่อน พร้อมขอหมายเลขบัญชีของลูกค้า และบอกว่าหลังจากนั้นจะโอนเงินที่ต้องการกู้กลับเข้าบัญชีภายใน 3-7 วัน

ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริง และทรีมันนี่มีบริษัทนายหน้าเพื่อจัดหาเงินกู้เป็นของตัวเองอยู่แล้วและไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

“หากใครมีข้อมูลบุคคลที่มีการเรียกเก็บค่านายหน้าโดยอ้างชื่อบริษัททรีมันนี่ผมยินดีจ่ายเงินให้ 10 เท่าจากเงินที่คุณโอนไป เพราะผมจะสามารถนำหลักฐาน
ไปดำเนินคดีฉ้อโกงได้

แต่ทุกคนที่ถูกหลอกและโอนเงินไปแล้วบอกว่าเป็นแอปพลิเคชั่น หลายเลขบัญชีที่โอนไปก็เป็นชื่อจีนทั้งยังเปลี่ยนบัญชีไปเรื่อย รวมแล้วผู้เสียหายที่โทร.เข้ามาหาทรีมันนี่หลายร้อยรายจนนับไม่ถ้วน”

นายไชยวัฒน์กล่าวว่า อยากให้กระทรวงไอซีทีเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะปัจจุบันปัญหานี้ไม่ใช่เพียงวงการพิโกไฟแนนซ์เท่านั้น มีทั้งแอปพลิเคชั่นการพนันต่าง ๆ มากมาย

ไม่มีการบล็อกหรือควบคุมใด ๆ ทั้งสิ้น แตกต่างจากประเทศอื่นโดยสิ้นเชิง จนกลายเป็นการต้มตุ๋นอย่างเสรีในระบบของไอซีทีของประเทศไทย โดยที่หน่วยงานของรัฐบาลไม่มีความสามารถในการควบคุม หรือปล่อยปละละเลยหรือไม่อย่างไร

ด้านนายบูรพงศ์ วรรักษ์ธารา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บูราพาณิชย์ จำกัด ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาปรากฏว่ากลุ่มลูกค้าของบริษัท บูราพาณิชย์

เริ่มขยับขึ้นจากพ่อค้าแม่ค้าหรือกลุ่มฐานรากกลายมาเป็นชนชั้นกลางหรือประเภท middle class ที่มีฐานะพอสมควร น่าแปลกใจว่ากลุ่มนี้เลือกเข้ามาใช้บริการพิโกไฟแนนซ์มากขึ้นทั้งที่ควรจะไปใช้บริการธนาคารมากกว่า

“สำหรับบูราพาณิชย์เป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันสำหรับขอกู้เงินในระบบ และปัจจุบันดอกเบี้ยลดลงมาอีกจาก 3% เหลือ 2% NPL ก็ไม่เพิ่มขึ้นประมาณ 1-3% หรือคงอยู่ที่ 12%

และตอนนี้ตามกฎหมายของการกู้เงินในระบบพิโกไฟแนนซ์จะมีการลดหย่อนกันไป แต่ลูกค้าที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะมากู้กลับหายไปกว่า 70-80% ซึ่งอาจเป็นเพราะเหตุผลถูกแอปพลิเคชั่นหลอกโอนค่าธรรมเนียมก่อนกู้นี้ ทำให้ผู้ต้องการขอกู้เงินแต่ละรายได้รับผลกระทบเกิดเสียหายสูญเงินตั้งแต่หลัก 100-1,000 บาทต่อราย”

สำหรับกรณีแอปพลิเคชั่นหลอกโอนค่าธรรมเนียมก่อนกู้นี้ บริษัท บูราพาณิชย์ก็ประสบกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นแอปพลิเคชั่นเงินกู้นอกระบบแบบออนไลน์

เริ่มบูมหนักขึ้นมานานกว่า 6 เดือนแล้ว จากก่อนหน้านี้มีลูกค้าโทร.เข้ามาหาบริษัทเพราะบริษัทถูกแอบอ้างนำข้อมูลไปใช้เพียง 1-2 รายต่อเดือน ปัจจุบันมีสายโทร.เข้ามาที่บริษัททุกวัน

ซึ่งเป็นการแอบอ้างเอาใบอนุญาตของบูราพาณิชย์ไปใช้หลังจากคนที่สนใจกู้เงินถามถึงบริษัทเพื่อหาความเชื่อมั่น

“เขาแอบอ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัทเราแม้ไม่ได้เป็นพนักงานโดยตรง ซึ่งจะมีค่าดำเนินการเพื่อขออนุมัติเงินกู้ได้ แล้วแต่ว่าจะต้องโอนเท่าไหร่ บางคนถูกหลอกโอนเงินมากกว่า 1 ครั้งก่อนโทร.มาที่บริษัทเรา

ผมเคยตามตรวจสอบจากแอปพลิเคชั่นพวกนี้พบว่าไม่มีอยู่ในระบบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ แต่ก็ไม่รู้ว่าประเด็นนี้จะกระทบกับความเชื่อมั่นของลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ของบูราพาณิชย์มากน้อยเพียงใดเพราะช่วงนี้ลูกค้าหายไปหมดเลย

ส่วนบริษัทเราทำได้เพียงเข้าไปแจ้งความไว้เท่านั้นเพราะเป็นผู้เสียหายเช่นเดียวกัน และส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้ากลุ่มที่ไม่มีหลักทรัพย์โทร.มาถามจากโซนกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมไปถึงชลบุรี และจังหวัดอื่น ๆ ด้วย”