“วรพร” แปรรูปมะม่วง ดันยอดปี’64 โต 10%

“มะม่วง” นับเป็นผลไม้เศรษฐกิจอีกหนึ่งชนิดของประเทศไทย ที่มีหลายสายพันธุ์ให้เลือกรับประทานทั้งผลดิบและผลสุก นอกจากนี้ยังสามารถนำมาแปรรูปได้อีก อาทิ มะม่วงแช่อิ่ม มะม่วงกวน

ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น และหนึ่งในผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์มะม่วงที่มียอดขายสูงกว่า 100 ล้านบาทต่อปีอย่างแบรนด์ “วรพร”ที่มีผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายบนห้างสรรพสินค้าชื่อดังทั่วประเทศ และส่งออกกว่า 10 ประเทศก็เป็นที่น่าจับตามองไม่น้อย

“ชัยรัตน์ โสธรนพบุตร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลไม้แปรรูปวรพร จำกัด เจ้าของแบรนด์ “วรพร” เปิดเผยว่า แบรนด์วรพรดำเนินการมากว่า 60 ปีแล้ว แปรรูปผลไม้ขายทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ

แต่นับตั้งแต่สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อยอดขายในประเทศให้ลดลงกว่า 20% เนื่องจากประชาชนเลี่ยงจากการออกจากบ้าน ไม่ออกไปเดินห้างโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ (เซเว่นอีเลฟเว่น) ส่วนตลาดส่งออกประสบปัญหาเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับเรื่องค่าขนส่งเท่านั้น

“ที่ผ่านมาทางบริษัทขายผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าต่างประเทศแบบ FOB (free on board) คือ การส่งมอบสินค้าที่ผู้ขายจะสิ้นสุดภาระการส่งมอบเมื่อสินค้าวางบนเรือที่ท่าเรือต้นทาง (on board the vessel)

และผู้ซื้อต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายพิธีการส่งออกด้วย แต่ด้วยค่าขนส่งที่แพงขึ้นจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ตอนนี้เราต้องเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าเรื่องของค่าขนส่งหรือค่าเฟรตทำให้กำไรเราลดลงเล็กน้อย และในช่วงที่ผ่านมาประมาณ 4-5 ปี

เรามีช่องทางการขายออนไลน์บ้างแต่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไหร่ พอถึงช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงเริ่มหันมาปรับตัวมารุกตลาดออนไลน์มากขึ้น แต่ตอนนี้ตัวเลขการเติบโตยังไม่ถึง 5% ของธุรกิจทั้งหมดยอดการขายจึงถือว่ายังมีกำไรน้อยอยู่”

“ชัยรัตน์” เล่าว่า เพราะวิกฤตถึงทำให้เกิดโอกาส สำหรับแบรนด์วรพรในปี 2563 ที่ผ่านมา นอกจากจะปรับตัวหันมารุกตลาดออนไลน์แล้ว บริษัทยังได้แตกไลน์ผลิตภัณฑ์แช่อิ่มตัวใหม่ คือ มะขาม มะดัน มะปราง ส่งผลให้ยอดขายปี 2563 โตขึ้น 5% มีมูลค่าการขาย 100 กว่าล้าน

และในปี 2564 นี้จะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ตัวใหม่อีก คือ มะยม วางจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 8 กรกฎาคม และคาดว่าตลาดจะเติบโตขึ้น 5-10% โดยวัตถุดิบส่วนใหญ่ของแบรนด์จะคงเป็นมะม่วง

ซึ่งใช้ประมาณ 5,000 ตัน/ปี โดยจะรับซื้อจากเกษตรกรเพียงช่วงเดียวคือเดือนเมษายน-พฤษภาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ราคาถูกที่สุดเพราะผลผลิตล้นตลาด อีกทั้งช่วงที่ราคาสูงผลผลิตจะมีตลาดรองรับอยู่แล้ว

ทั้งนี้ บริษัทจะซื้อผลผลิตกับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราก่อนเป็นอันดับแรก หากวัตถุดิบไม่เพียงพอจึงจะมารับซื้อจากเกษตรกรโซนปากช่อง จ.ชัยภูมิ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย

ซึ่งรับซื้อทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ โชคอนันต์ น้ำดอกไม้ พิมเสนเปรี้ยว และมหาชนก ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 400 ตัน (วัตถุดิบ)/ปี ส่วนมะขาม รับซื้อประมาณ 200 ตัน มะดัน 40 ตัน มะปราง 100 ตัน และมะยม 100 ตัน

“มะม่วงที่เราคัดสรรมาแต่ละสายพันธุ์จะมีจุดแตกต่างกัน มีการแปรรูป 2 ประเภท คือ มะม่วงกวนและมะม่วงแช่อิ่ม โดยโชคอนันต์มีเนื้อและกลิ่นหอม จึงนำมาแปรรูปเป็นมะม่วงแช่อิ่มและกวน

ส่วนน้ำดอกไม้และพิมเสนเปรี้ยว เนื้อมะม่วงมีรสเปรี้ยว จึงนำมาแปรรูปเป็นมะม่วงกวน สุดท้าย มหาชนก เนื้อมะม่วงมีกลิ่นหอมสีเข้ม จึงนำมาแปรรูปเป็นมะม่วงกวน เมื่อนำทั้ง 4 สายพันธุ์มาผสมผสานกัน

ทำให้ผลิตภัณฑ์รสชาติดีขึ้น ส่วนมะขามจะรับซื้อจากกาญจนบุรี เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตใหญ่ และมะยมรับซื้อจากชัยภูมิ ผลิตภัณฑ์ที่เราขายจะเน้นเป็นผลไม้ตามฤดูกาล”

“ชัยรัตน์” บอกว่า ปัจจุบันสัดส่วนการขายของบริษัท แบ่งออกเป็นการขายในประเทศ 70% และส่งออก 30% สำหรับช่องทางการขายในประเทศ ได้แก่ 1.ห้างโมเดิร์นเทรดทุกแห่ง อาทิ บิ๊กซี โลตัส ฟู้ดแลนด์ เซเว่นอีเลฟเว่น 2.สำนักงานใหญ่ 3.แฟลตฟอร์มออนไลน์ ส่วนตลาดต่างประเทศ

ตอนนี้มีการส่งออกไปทั่วโลก แต่ประเทศที่มีการส่งออกมากสุด คือ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และจีน ส่วนประเทศอื่น ๆ มีการสั่งออร์เดอร์ 200-300 ลัง มีทั้งแบบ OEM (ผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะไปขายในแบรนด์ของตนเอง) และส่งในนามแบรนด์ของวรพร

“เนื่องจากบริษัทมีเงื่อนไขหากส่งออกว่าแบรนด์ ‘วรพร’ เราส่งให้เพียงลูกค้ารายแรกของแต่ละประเทศ หากมีลูกค้ารายใหม่เข้ามาจะเป็นการทำแบบ OEM ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกมีเพียงกลุ่มมะม่วง

เนื่องจากส่วนผลไม้ตัวอื่น ๆ อาทิ มะขาม มะดัน มะปราง มีปริมาณผลผลิตไม่มากพอใช้ เพราะเพียงแค่แปรรูปในประเทศก็หมดแล้ว

อีกอย่างต่างประเทศยังไม่รู้จักผลไม้เหล่านี้ อย่างไรก็ตาม หากยอดขายดีขึ้น คาดว่าเกษตรกรจะมีการปลูกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็ได้มีการนำเสนอให้ลูกค้าไปพิจารณาแล้วบางส่วน”