พันธุ์ธัช หิรัญจิรวงศ์ ปธ.หอการค้าเพชรบุรี ดันธุรกิจค้าออนไลน์-ใช้เครือข่ายสร้างตลาด

เพชรบุรีถือเป็นหนึ่งในจังหวัดหัวเมืองหลักด้านการท่องเที่ยวในโซนภาคตะวันตก มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ภาคบริการและการท่องเที่ยวถึง 59% ดังนั้น เมื่อเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมาก

นายพันธุ์ธัช หิรัญจิรวงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดเพชรบุรี คนใหม่ป้ายแดง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าภาคบริการและการท่องเที่ยวในจังหวัดเพชรบุรีได้รับผลกระทบหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563

จากปกติช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางจากกรุงเทพฯเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก เพราะใช้เวลาขับรถเพียง 2-3 ชม. ทำให้ผู้ประกอบการร้านขายของฝากของที่ระลึก ร้านอาหาร มีรายได้

เมื่อเผชิญสถานการณ์โควิด-19 พฤติกรรมการบริโภคของประชาชนเปลี่ยนไปหันไปซื้อของผ่านออนไลน์มากขึ้น ประชาชนไม่กล้าเดินทางออกจากบ้าน ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก รายได้หดหายไปจำนวนมาก

“การระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมากโดยเฉพาะภาคบริการและท่องเที่ยว แต่ในขณะเดียวกันยังมีบางธุรกิจที่เติบโตในวิกฤตนี้”

นายพันธุ์ธัชกล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ปัจจุบันผู้ประกอบการในจังหวัดเพชรบุรีต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ซึ่งทางหอการค้าพยายามผลักดันให้ผู้ประกอบการทุกคนเห็นความสำคัญกับการขายออนไลน์มากขึ้น

โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดงานเสวนาเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของการจำหน่ายสินค้าบนช่องทางออนไลน์ก่อน เมื่อผู้ประกอบการเห็นความสำคัญแล้วขั้นตอนต่อไปจึงจะถ่ายทอดรูปแบบการขายผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ อาทิ Facebook LINE

“ผู้ประกอบการในประเทศส่วนใหญ่หันไปใช้แฟลตฟอร์มออนไลน์ การแข่งขันสูงมากขึ้น หอการค้าอยากให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญในการขายของออนไลน์ก่อน แน่นอนว่าตอนนี้มีทั้งกลุ่มที่เริ่มทำกับกลุ่มที่ยังไม่ได้เริ่ม

เมื่อเทียบสัดส่วนผู้ประกอบการยังเห็นความสำคัญในการขายสินค้าผ่านออนไลน์น้อยอยู่ มีความสนใจแต่ยังทำไม่เป็น ซึ่งเรามองว่าถ้าจะอยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันต้องมีการปรับรูปแบบใหม่”

นายพันธุ์ธัชกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สิ่งที่หอการค้าจังหวัดเพชรบุรีกำลังพยายามทำ คือ หาวิธีลดต้นทุนให้ธุรกิจต่าง ๆ เพราะรายได้ไม่เหมือนเดิมพฤติกรรมการซื้อขายของลูกค้าที่เปลี่ยนไป

ฉะนั้น การลดต้นทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจให้ผ่านไปให้ได้ รวมถึงสร้างเครือข่ายพันธมิตรในกลุ่มของหอการค้าจังหวัดต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือกันเอง

ในขณะเดียวกันจังหวัดเพชรบุรีถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในแผนการเปิดประเทศ 120 วันของรัฐบาล ซึ่งการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในส่วนของภาคบริการและท่องเที่ยวที่ผ่านมาได้มีการอบรมให้ความรู้พนักงานร้านอาหาร โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว เพื่อให้ผ่านมาตราฐาน SHA โดยทางภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ

“รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศภายใน 120 วัน ผมมองว่าเปิดประเทศแล้วยังไงต่อละ ไม่ใช่เปิดประเทศแล้วนักท่องเที่ยวต่างชาติจะบินเข้ามาเลย เราอาจจะฝากความหวังกับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้น้อย

รัฐบาลควรกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศก่อน มันไม่ใช่ประเด็นที่ว่าเพราะไม่เปิดประเทศต่างชาติจึงไม่บินมา เชื่อว่าทุกประเทศคงไม่ต่างจากเรา การท่องเที่ยวต้องมีความพร้อมในประเทศก่อน

ที่ผ่านมารัฐบาลมีโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เรามองว่าสามารถกระตุ้นนักท่องเที่ยวกลุ่มวัยเกษียณอายุได้ดี โดยเฉพาะวันธรรมดากลุ่มคนกลุ่มนี้จะมาเที่ยวที่ชะอำ หัวหินจำนวนมาก อย่างก็ตาม

โดยส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวชาวไทยกลุ่มวัยทำงานนิยมมาท่องเที่ยวเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์เท่านั้น พฤติกรรมคนไทยจะไม่เหมือนชาวต่างชาติที่อยู่ระยะยาวเป็นเดือน

หากรัฐบาลมีการทำโครงการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาทิ ไทยเที่ยวไทย คาดว่าจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศได้จะทำให้มีรายได้จากการเที่ยวตลอดไม่ใช่เพียงช่วงเสาร์-อาทิตย์”

นายพันธุ์ธัชกล่าวต่อไปว่า สำหรับทิศทางเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 หากไม่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกรอบ และรัฐบาลสามารถฉีดวัคซีนได้ตามแผน และมีมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวของรัฐบาลออกมา

เชื่อว่าช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงพีกสุดของการท่องเที่ยวในจังหวัดเพชรบุรี จะมีนักท่องเที่ยวมีจำนวนมากเข้ามา ส่วนเรื่องวัคซีนเท่าที่ทราบรัฐบาลพยายามจัดหาวัคซีนให้ได้ตามแผน

ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยยังพึ่งพาการนำเข้าวัคซีนอยู่ ประกอบกับการกระจายวัคซีนตามความจำเป็น ทำให้ไม่เป็นไปตามแผน ซึ่งรัฐบาลต้องบริหารปัจจัยที่แปรเปลี่ยนไป ในส่วนภาคเอกชนได้แต่รออย่างมีความหวัง

“ตอนนี้มีการระบาดของโรคโควิด-19 เกิดคลัสเตอร์ใหญ่ตามจังหวัดต่าง ๆ อาทิ คลัสเตอร์โรงงาน เรือนจำ ตลาด แคมป์คนงาน

ซึ่งในมุมมองของผมตอนนี้จุดเสี่ยงต่าง ๆ มีการระบาดหมดแล้ว ประชาชนเริ่มได้รับการฉีดวัคซีน ช่วงปลายปี 2564 คาดว่าคงจะมีการระบาดน้อยลงถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการท่องเที่ยว”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจังหวัดเพชรบุรีมีประชากร 502,825 คน เป้าหมายการฉีดวัคซีน 70% ของจำนวนประชากรในพื้นที่คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 351,978 คน ที่ควรได้รับวัคซีนภายในสิ้นเดือนสิงหาคม 2564

เพื่อเตรียมรองรับนักท่องเที่ยวช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี จะเป็นการเปิดเมืองโดยทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อให้เพชรบุรีกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง