3 สมาคมทุเรียนจันท์หนุนอ่างวังโตนด ชี้พื้นที่สร้าง “ป่าเสื่อมโทรม-ไม่มีสัตว์”

กรณีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2564 ได้มีมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

สำหรับโครงการกิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (EHIA) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี

และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผนึกกับ 10 องค์กรเครือข่าย ออกมาคัดค้านและทำการล่ารายชื่อผู้คัดค้านให้ได้ 5,000 คน เพื่อให้ยุติโครงการ เพื่อรักษาถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่านั้น

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กลุ่มลุ่มน้ำวังโตนดได้เร่งดำเนินการสร้างความเข้าใจให้ชาวจ.จันทบุรี สนับสนุนการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด โดยการสร้างเพจ “ลุ่มน้ำวังโตนด จันทบุรี” ให้แสดงความคิดเห็น

สนับสนุนการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด พร้อมทั้งรวบรวมรายชื่อ 100,000 เพื่อแสดงเจตจำนงสนับสนุนการสร้างอ่างเก็บน้ำ เสนอต่อ พล.อ.ประวิตรเช่นกัน โดยมีสมาคมทุเรียนไทย สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก

และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวสวนทุเรียนจันท์ พร้อมให้การสนับสนุนเพราะเป็นประโยชน์กับภาคเกษตรกรรมที่ปลูกผลไม้เศรษฐกิจ ทุเรียน ลำไย ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ

โดยเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 64 ผศ.เจริญ ปิยารมย์ ประธานคณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ได้จัดประชุมกลุ่มสมาชิกลุ่มน้ำวังโตนด เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมทุเรียนไทย

สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีต ส.ส. ที่ประชุมได้นำประเด็นคัดค้านแต่ละข้อมาพิจารณา

ผศ.เจริญ ปิยารมย์ ประธานคณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า การคัดค้านโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังโตนด ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และองค์กรต่าง ๆ

โดยระบุว่าเป็นการทำลายแหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่และพื้นที่ทางเดินช้างป่า แต่สภาพปัจจุบันช้างป่าไม่มี มีแต่ช้างปล่อยเดินทางร่อนเร่ หากินทั่วไปทุกอำเภอของ จ.จันทบุรี ทำลายพืชผลและทำร้ายชีวิตชาวบ้าน

แต่หากสร้างอ่างเก็บน้ำจะกลายเป็นแหล่งที่อยู่ แหล่งน้ำแหล่งอาหารให้ช้าง และเป็นแนวป้องกันช้างลงมารบกวนประชาชนในพื้นที่ ดังเช่นที่อ่างเก็บน้ำคลองประแกดอ.แก่งหางแมว เวลานี้ โขลงช้างไม่ไปไหนเพราะมีน้ำกินตลอดปี มีพืชพันธุ์ธัญญาหารสมบูรณ์

พื้นที่ก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติขุนซ่อง กรมป่าไม้ 7,000 ไร่เศษหมู่ที่ 1 บ้านโป่งเกตุ หมู่ 11 บ้านวังสัมพันธ์ หมู่ 18 บ้านคลองยายไทย อ.แก่งหางแมว เป็นพื้นที่ป่าสงวนทั้งอำเภอ

แต่ปัจจุบันไม่มีป่าไม้หลงเหลืออยู่เลย ไม่มีสัตว์ เป็นป่าเสื่อมโทรม ชาวบ้านเข้าถือครองปลูกยางพารา ทำไร่ ทำสวนผลไม้ ไม่มีเอกสารสิทธิ หมู่ที่ 1 มีผู้อพยพชาวเมียนมา 400-500 หลังคาเรือน ไม่มีที่ดินทำกิน มีอาชีพรับจ้างทุกคนรับทราบโครงการพร้อมย้ายออก

โดยป่าอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจำนวน 7,000 ไร่ แนวอุทยานเพิ่งประกาศปี 2553 ชาวบ้านรุกพื้นที่ใหม่จะถูกผลักดัน แต่ในเขตอุทยานมีสวนยางพาราหลายแปลงปลูกอยู่ก่อนประกาศเขตอุทยาน

ไม่มีไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นป่ามือสอง เช่น ต้นตีนเป็ดต้นตะกู ตะพง มะเดื่อ เถาวัลย์ สัตว์ป่าไม่มี เนื่องจากติดกับหมู่บ้าน

“โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด มีความสำคัญต่อชีวิตและการประกอบอาชีพของชาว จ.จันทบุรี กรมชลประทานวางแผนพัฒนามาร่วม 20 ปี มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม EHIA อย่างละเอียดและชัดเจน ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลั่นกรองเป็นอย่างดี

2 ปีนี้ภาวะการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 เศรษฐกิจทั้งประเทศเสียหาย แต่ผลไม้ภาคตะวันออกสร้างรายได้เป็นแสนล้านบาท แผนบริหารจัดการน้ำมีโครงการนำน้ำจากวังโตนดไปลงแม่น้ำจันทบุรี

แก้ไขปัญหาภัยแล้งในจันทบุรี อ.สอยดาว อ.โป่งน้ำร้อน ช่วยแก้ปัญหาน้ำประปาขาดแคลน น้ำส่วนเกินในช่วงหน้าฝนที่มักจะหลากท่วม สูบผันไปลงอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง สำหรับน้ำอุปโภคบริโภคใน 3 จังหวัด ระยอง ชลบุรี

และฉะเชิงเทรา การลงทุนก่อสร้างมีทั้งการสูญเสียและผลที่ได้รับ ต้องดูประโยชน์ที่ได้รับคืนมาเทียบกับรายได้จำนวนมากของชาวสวนและ จ.จันทบุรี ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผนจัดทำโครงการต่างทดแทน” ผศ.เจริญกล่าว

นายอุดม วรัญญรัฐ สมาชิกวุฒิสภา และประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เขต 3 ที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวสวนทุเรียนจันท์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2561-2562 ชาวสวนจันทบุรีเคยประสบภาวะแล้ง ส่งผลต่อคุณภาพผลไม้เสียหาย

อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม ตรงร่องมรสุม เป็นแหล่งต้นน้ำที่จะกระจายไปพื้นที่อื่น ๆ หากมีแหล่งเก็บน้ำ เกษตรกรมีความมั่นใจ ผลผลิตมีคุณภาพ เป็นโอกาสด้านการผลิต การตลาด และการลงทุนเศรษฐกิจอื่น ๆ เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ซึ่งมีแผนรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อยู่แล้ว

นายธีรภัทร อุ่นใจ นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก และประธานแปลงใหญ่ จ.จันทบุรี กล่าวว่า สนับสนุนการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ ปี 2559 จ.จันทบุรีเคยประสบภาวะภัยแล้งหนัก

ต้องซื้อน้ำรดทุเรียน เงาะ ผลผลิตเสียหายมาก ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนกันมาก แม้กระทั่งอำเภอที่มีปัญหาเรื่องน้ำ เช่น อ.สอยดาว อ.โป่งน้ำร้อน อ.เขาคิชกูฏ จึงจำเป็นต้องสร้างอ่างเก็บน้ำให้ครบ 4 อ่าง

เพื่อการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอทุกอำเภอทั้งจังหวัด และแบ่งปันน้ำไปช่วยพื้นที่ EEC ในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม

นายสมชาย ลินจง นายก อบต.ทุ่งเบญจา อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวว่า อนาคตอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดเสร็จ จะเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญไปช่วยเหลือ อ.สอยดาว อ.โป่งน้ำร้อน อ.เขาคิชกูฏ ที่เป็นแหล่งปลูกลำไย อ.สอยดาว

แม้จะมีอ่างคลองพระพุทธ แต่ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ ลำไยยืนต้นตายทั้งลูก รวมทั้งลุ่มแม่น้ำจันทบุรีที่ยังขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ปริมาณน้ำจากอ่าง 4 อ่าง ถ้าก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 300 ล้าน ลบ.ม. น่าจะเพียงพอ