พิษโควิดป่วนโรงงานใหญ่ 7 จังหวัด หวั่นสะเทือนรายได้ “ส่งออก”

Photo by REUTERS

สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา สถิติกราฟพุ่งขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งตัวเลข ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 พุ่งสูงสุดถึง 6,087 คน ตายเพิ่ม 61 คน และไม่มีแนวโน้มจะลดลง

โรงงานแหล่งแพร่เชื้อ 70-90%

หากพิจารณาข้อมูลที่ลึกลงไปของตัวเลขผู้ติดเชื้อ พบว่าส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อภายในโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ และแคมป์ก่อสร้างเป็นหลัก 70-90% โดยเฉพาะ 10 จังหวัดเสี่ยงที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุด เช่น จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา และกรุงเทพมหานคร อีก 10% พบในที่ทำงาน ส่วนในชุมชนพบน้อยกว่า 10%

ยกตัวอย่างจังหวัดสมุทรสาคร แหล่งรวมโรงงานที่มีมากกว่า 6,000 แห่ง มีข้อมูลปะทุขึ้นมาล่าสุดว่า โรงงานการ์เมนต์ โรงงานอะลูมิเนียม บริเวณอ้อมน้อย เป็นคลัสเตอร์ใหม่ที่มีผู้ติดเชื้อและกระจายสู่ชุมชน เนื่องจากพนักงานของโรงงานส่วนใหญ่เดินทางไป-กลับ ณ ชุมชนละแวกใกล้เคียง

ขณะที่ “สงขลา” หนึ่งในจังหวัดศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคใต้มีโรงงานขนาดใหญ่ตั้งอยู่ราว 1,180 แห่ง แบ่งเป็นโรงงานใหญ่มีพนักงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป 50 กว่าแห่ง ถ้าเป็นคนงานต่างด้าว ทางโรงงานได้จัดที่พักให้ แต่พนักงานคนไทยส่วนใหญ่จะเดินทางไป-กลับเอง

เมื่อเกิดโรคระบาดในโรงงานจึงแพร่กระจายไปเร็ว โดยสาธารณสุขจังหวัดสงขลารายงาน ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2564 พบผู้ติดเชื้อโควิดใน 14 โรงงาน แบ่งเป็นพนักงานติดเชื้อสะสม 1,110 คน ผู้สัมผัสร่วมในบ้านติดเชื้อ 185 คน รวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากคลัสเตอร์ 14 บริษัท มีทั้งสิ้น 1,409 คน

อาทิ 1.บริษัท สยามอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โรงงานผลิตปลากระป๋อง ต.นาทับ อ.จะนะ 2.บริษัท ท้อปโกลฟ เมดิคอล (ไทยแลนด์) จำกัด โรงงานอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ สัญชาติมาเลเซีย 3.บริษัท ไฮแคร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 4.บริษัท เอ.บิล.อาร์ท 5.บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) สาขาหาดใหญ่

6.บริษัท คิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด โรงงานผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง 7.บมจ.สงขลาแคนนิ่ง โรงงานผลิตและส่งออกอาหารทะเล ในเครือ บมจ.ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป (TU) 8.บริษัท แมน เอ ซีฟูดส์ จำกัด โรงงานผลิตแปรรูปอาหารทะเล 9.บมจ.ห้องเย็นโชติวัฒน์หาดใหญ่ หรือ CHOTI เป็นโรงงานผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง ต.นาหม่อม อ.นาหม่อม และ 10.บมจ.ทรอปิคอลแคนนิ่ง (ประเทศไทย) หรือ TC โรงงานปลากระป๋องและอาหารสัตว์กระป๋อง แบรนด์ TCB เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีโรงงานในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อีกหลายแห่งที่น่าเป็นห่วง เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อในโรงงานยังคงเพิ่มขึ้นและขยายสู่วงนอก เช่น บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด โรงงานแปรรูปสับปะรด อ.หัวหิน พบผู้ติดเชื้อรายแรกวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ถึงปัจจุบันวันที่ 2 กรกฎาคมยังพบผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์นี้เพิ่มขึ้นอีก รวมแล้ว 876 คน แบ่งเป็นพนักงานในโรงงาน 786 คน กระจายสู่วงรอบที่ 2 จำนวน 43 ราย และวงรอบที่ 3 จำนวน 2 ราย

ล่าสุด “โดล ไทยแลนด์” ได้ประกาศปิดโรงงานไปแล้ว (แบบชั่วคราว) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

จี้รัฐบาลเร่งจัดสรรวัคซีน

นายธวัชชัย รัตนะพิสิฐ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของจังหวัดยังมีผู้ติดเชื้อระลอกใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน และเป็นจำนวนมากต่อเนื่อง ซึ่งขยายเป็นคลัสเตอร์ทวีความรุนแรงเป็นวงกว้าง

“รอบนี้การระบาดมีเกือบทุกพื้นที่ของสงขลา ทำให้กระทบด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของภาคใต้ไปโดยปริยาย”

จากตัวเลขปัจจุบันสงขลามีจำนวนบริษัททั้งหมด 4,990 บริษัท มีแรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม 187,235 คน แบ่งเป็นแรงงานคนไทย 154,0001 คน แรงงานต่างด้าว 33,234 คน ในจำนวนนี้มีบริษัทที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา 150 บริษัท เกือบทั้งหมดเป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีแรงงานรวมกัน 46,207 คน

ดังนั้นทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาจึงขอให้รัฐบาลและจังหวัดเร่งผลักดันให้ผู้ประกอบการได้รับการจัดสรรวัคซีน เพื่อฉีดให้พนักงานสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็วที่สุด ก่อนปัญหาจะลุกลามต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม

รายงานข่าวระบุว่า ภาพรวมส่งออกปี 2563 มีมูลค่า 231,468.44 ล้านเหรียญสหรัฐ และแนวโน้มปีนี้ที่คาดการณ์ว่าการส่งออกจะขยายตัว 4% รวมมูลค่า 240,727 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น ต้องจับตาดูว่า จะหดตัวลงหรือไม่จากพิษโควิด

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสมุทรสาครเพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับ 2 ของประเทศ นับเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง

โดยเฉพาะการกระจายตัวของผู้ติดเชื้อสู่ชุมชน ซึ่งมีพนักงานแต่ละโรงงานอาศัยอยู่ หากโรงงานใดพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากก็ต้องหยุดการผลิตไปก่อน ส่งผลให้ไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ตามกำหนด

ขณะที่ปัจจุบันในพื้นที่สมุทรสาครประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานอยู่จำนวนมาก หลายโรงงานมีออร์เดอร์แต่ไม่สามารถผลิตให้ได้ทัน ทำให้ประเทศสูญเสียรายได้จากการส่งออกอย่างน่าเสียดาย

ที่สำคัญหากโรงงานต้องหยุดการผลิตจะส่งผลกระทบไปยังจังหวัดอื่น ๆ อีกทั่วประเทศที่จำหน่ายวัตถุดิบเข้าโรงงานในสมุทรสาครด้วย

ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขจัดสรรวัคซีนให้ทางจังหวัดสมุทรสาครตามแผนโดยเร็ว

นอกจากนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดขอให้แต่ละโรงงานแบ่งพื้นที่บางส่วนทำโรงพยาบาลสนามภายในโรงงาน (Factory Quarantine) ที่จัดเตรียมไว้ พร้อมตั้งโรงพยาบาลสนามด้านนอกเพิ่มอีก 4 แห่ง

แหล่งข่าวจากจังหวัดสมุทรสาครกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุดยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นและมาจากการติดเชื้อในโรงงานทั้งสิ้น รวมถึงสถานประกอบการ รวมเป็นสัดส่วน 70%

สาเหตุที่โรงงานติดเชื้อเพิ่มเพราะภายในโรงงานยังออกแบบระบบการจัดการป้องกันไม่เต็มที่ สาธารณสุขแจ้งว่า มีการตรวจโรงงาน 100 แห่ง พบว่ามีโรงงานผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียง 30 แห่งเท่านั้น

“สาเหตุหลักของการติดเชื้อในโรงงานนั้น ยังเป็นปัญหาเดิม ๆ นั่นคือ การอยู่รวมกันของกลุ่มแรงงาน ไม่ได้รักษาระยะห่าง เช่น เวลาพักรับประทานอาหารก็จะมุงกัน คุยกัน ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เมื่อต้องถอดหน้ากากออก และเชื้อก็กระจายจากบุคคล จากโรงงานไปบ้านพัก และเข้าสู่ชุมชน”

ยอมรับว่า ช่วงแรกเชื้อมาจาก “คนต่างด้าว” แต่มาวันนี้กลายเป็นคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นคนไทยด้วยกันเอง