7 วันหลังล็อกดาวน์ ปลวกแตกรัง แห่กลับอีสาน-เร่หางานภาคตะวันออก

7 วันหลังการประกาศ “ล็อกดาวน์” แคมป์คนงานก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลอีก 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม) และชายแดนภาคใต้ 4 จังหวัดตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 

ประชาชาติธุรกิจทำการสำรวจ เพื่อประเมินสถานการณ์การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศไทยพบว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก “ปลวกแตกรัง” อย่างเห็นได้ชัด แรงงานก่อสร้างในสถานประกอบ โดยเฉพาะในเขต กทม.และปริมณฑลทยอยกลับบ้านทันทีที่ถูกสั่งปิด ส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในหลายจังหวัดเพิ่มขึ้นทวีคูณ โดยเฉพาะในจังหวัดภาคอีสาน ภาคตะวันออกที่เป็นแหล่งโรงงาน 

บุรีรัมย์ทะลักกลับบ้านกว่า 2 หมื่น

บุรีรัมย์หนึ่งในจังหวัดภาคอีสานที่มีประชากรเข้ามาขายแรงงานในเมืองหลวงอย่างกทม.ส่งผลให้หลังจากประกาศล็อกดาวน์แคมป์ก่อสร้างในพื้นที่กทม.และปริมณฑล คนบุรีรัมย์กว่า 20,000 คน มุ่งหน้ากลับบ้านทันที

ทำให้วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ให้หลังการประกาศล็อคดาวน์ 3 วัน นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ต้องเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า การประกาศปิดแคมป์เป็นเวลา 1 เดือนใน กทม.และปริมณฑลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 ทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเดินทางกลับมาจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาจำนวนมาก  ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้เกิดการแพร่กระจายของโควิด-19 เป็นบริเวณกว้าง คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์จึงมีมติจัดเตรียมพื้นที่กักกันโรคในระดับจังหวัดและระดับอำเภอในท้องที่ที่กำหนด เพื่อรองรับสถานการณ์โควิดที่อาจจะแพร่ระบาดรุนแรงเป็นบริเวณกว้าง

จากข้อมูลการเฝ้าระวังพบว่ามีคนบุรีรัมย์เดินทางจากพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง จึงได้กักกันตัวอยู่ในพื้นที่กักกันตัวของรัฐทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอเกือบจำนวน 700 ราย และที่ได้เดินทางกลับมาบุรีรัมย์ โดยมีการกักตัวอยู่ที่บ้านเกือบ 20,000 กว่าราย

นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงโดยไม่ผ่านการกักกันตัวตามประกาศของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ 

นายแพทย์พิเชษฐ พืดขุนทด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การที่คนบุรีรัมย์กลับบ้านมาโดยไม่แจ้งไม่กักตัว และเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้เกิดปัญหาซูเปอร์สเปรดเดอร์ เสี่ยงและทำให้ต้องปิดโรงเรียนถึง 5 โรงเรียน ล่าสุดวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ยังมีแรงงานเดินทางกลับภูมิลำเนา ส่งผลให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ในหลายจังหวัด ซึ่งในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการระบาดสู่บุคคลในครอบครัว ชุมชนและหมู่บ้าน 

ล่าสุดเริ่มมีการแพร่ระบาดลงสู่เด็กเล็ก นักเรียน และสถานศึกษา เพื่อเป็นการป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาด คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ จึงสั่งปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และสถานที่รับเลี้ยงเด็กทุกแห่งในพื้นที่ 

นอกจากนี้ ได้ตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มในพื้นที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์ อำเภอนางรอง อำเภอกระสัง และอำเภอบ้านกรวด โดยมีการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (6 ก.ค. 64) บุรีรัมย์มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เพิ่ม 43 คน แยกเป็นคนที่เดินทางมาจากจังหวัดเสี่ยง 30 คน พบติดเชื้อโควิด-19 ก่อนเข้าสถานที่กักตัวที่รัฐจัดให้ (Local quarantine ) 13 คน แบ่งเป็นที่อำเภอสตึก 7 คน, โนนสุวรรณ 6 คน, เมือง 5 คน, คูเมือง 4 คน, หนองกี่ 4 คน,โนนดินแดง 3 คน, ลำปลายมาศ 3 คน, แคนดง 2 คน, บ้านใหม่ 2 คน, ละหานทราย 2 คน, พุทไธสง 2 คน, ประโคนชัย 1 คน, ห้วยราช 1 คน 1 และนาโพธิ์ 1 คน จำนวนผู้เดินทางมาจากพื้นที่สีแดงเข้ม สีแดง และสีส้ม สะสมจำนวน 23,025 คน จำนวนผู้กักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ในท้องถิ่น (Local Quarantine ) 2,219 คน กักตัวที่บ้าน (Home quarantine ) 20,806 คน

โคราชสแกนแคมป์ก่อสร้างสกัด

จังหวัดนครราชสีมาถือเป็นจังหวัดในภาคอีสานที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นจากการเดินทางกลับภูมิลำเนาของแรงงานที่ถูกปิดแคมป์ก่อสร้างจนนายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ต้องกฎเหล็ก คุมโควิด-19 ระบาด หลังพบผู้ติดเชื้อมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจำนวนมากเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

โดยส่วนการเปิดรับผู้ป่วยนอกพื้นที่ เข้ารักษา รพ.โคราช ขอสงวนสิทธิ์ให้ผู้ป่วยที่เกิดในจังหวัดและยังไม่มี รพ.รักษา เป็นอันดับแรก ป้องกันการทะลักเข้าพื้นที่ 

รวมถึงการสั่งสแกนแคมป์คนงานก่อสร้างทุกพื้นที่ ทั้ง 32 อำเภอ สกัดเชื้อโควิด-19 หลังแรงงานทะลัก ออกจาก กทม. จนเป็นเหตุให้เกิดคลัสเตอร์ คนงานทาสีคอนโดฯกลางเมือง แพร่เชื้อติดเพื่อน 

ขณะเดียวกันเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและลดโอกาสในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง มีมติให้สถานศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบของรัฐและเอกชนจำนวน 1,713 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 737 แห่ง ยกเว้นสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยให้ปิดโรงเรียนเป็นกรณีพิเศษ โดยปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์ (On line) เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2564 จนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2564  

แรงงานนับหมื่นแห่หางานแปดริ้ว

ขณะที่นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการประกาศล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยงส่งผลให้มีประชาชนหรือแรงงานเดินทางเข้ามาในฉะเชิงเทราจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 10,000 คน เนื่องจากฉะเชิงเทรามีโรงงานประมาณ 2,000 แห่ง 

นอกจากนี้มีคนงานที่เดินทางไป-กลับระหว่างโรงงานกับพื้นที่เสี่ยงที่มีการสำรวจอีกประมาณ 10,000 คน ซึ่งทางจังหวัดก็ได้มีมาตรกรให้สถานประกอบการนั้น ๆ สุ่มตรวจพนักงานที่เดินทางไปกลับ 10% ทุก 14 วัน โดยการสวอปเพื่อตรวจหาเชื้อโรคโควิด เช่น โรงงานแห่งหนึ่งมีพนักงาน 3,700 คน มีพนักงานเดินทางไปกลับ 500 คน ต้องมีการสวอปเพื่อตรวจหาเชื้อ 50 คน ซึ่งก็พบผู้ติดเชื้อแต่ไม่มาก

และล่าสุดมีพนักงานที่ทำงานอยู่บริษัท ฮอนด้า เดินทางไปกลับระหว่าง อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา กับ ลาดกระบัง จ.สมุทรปราการ  ประมาณ 50 กว่าคน ตอนนี้ติดเชื้อแล้ว 27คน ซึ่งทางจังหวัดได้มีการล็อกดาวน์พื้นที่นั้นแล้ว

“เราไม่ได้มีการล็อกดาวน์จังหวัด เนื่องจากกลัวเศรษฐกิจจะไม่ขับเคลื่อน อย่างไรก็ตามคาดว่าน่าจะมีแรงงานที่เดินทางไปกลับเป็นจำนวนมากที่ทางจังหวัดไม่มีตัวเลข ซึ่งเราก็มีระบบให้แรงงานที่เดินทางไปกลับรายงานตัวผ่าน QR code เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์”

ชลบุรีพบคนต่างถิ่นติดเชื้อ 50%

นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีประชาชนที่เดินทางจากจังหวัดกลุ่มเสี่ยงเข้ามาในพื้นที่ชลบุรีนั้น ไม่สามารถคาดการณ์ตัวเลขได้ แต่มีเข้ามาแน่นอนเพราะว่าคนไม่มีงานทำ 

สำหรับใครที่เดินทางเข้ามา จ.ชลบุรีต้องมาแจ้งกักตัว 14 วัน และมีการตรวจพบคนบางกลุ่มเดินทางเข้ามาติดเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทางเข้ามาในจังหวัดแล้ว ตัวเลขที่พบติดเชื้อน่าจะประมาณ 50% ของคนที่เดินทางเข้ามา ซึ่งเป็นปัจจัยอีกหนึ่งส่วนที่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดชลบุรีเพิ่มมากขึ้น

“อย่างไรก็ตามกลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไม่มีโอกาสแพร่เชื้อให้กับกลุ่มอื่น ๆ เพราะทางจังหวัดใช้วิธีการกักตัวไม่ให้ออกไปจากสถานที่พัก ”

ขณะเดียวกัน ชลบุรียังถือว่าน่าเป็นห่วงเพราะปัจจุบันมีผู้ที่กำลังรักษาอยู่ประมาณ 3,700 คน สำหรับเตียงที่จะองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดง ตอนนี้เหลือประมาณ 10% ซึ่งทางจังหวัดใช้วิธีให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองที่มีอาการดีขึ้น ย้ายไปอยู่โรงพยาบาลที่เป็นกลุ่มสีเขียวซึ่งมีเตียงเพียงพอและรับมือได้ 

ทั้งนี้จากข้อมูลรายงานจังหวัดชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม 64 ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่เดินทางมาพื้นที่เสี่ยง ทั้งหมด 33 ราย แบ่งออกตามจังหวัด ได้แก่ กทม. 13 ราย, นครปฐม 1 ราย,  สมุทรปราการ 10 ราย, ปทุมธานี 7 ราย, นนทบุรี 2 ราย