สาธารณสุขภูเก็ตยัน 13 วันเปิดแซนด์บอกซ์พบติดโควิด 61 คน

สาธารณสุขภูเก็ตยัน 13 วันเปิดแซนด์บอกซ์พบติดโควิด 61 คน ไทย 54 คน ต่างชาติ 7 คน กักตัวกลุ่มเสี่ยง 313 คน ยันวางมาตรการเข้ม ยังเอาอยู่ เผยผลตรวจ Antigen Test Kit ใช้ผ่านด่านไม่ได้ ต้องมีใบรับรองจาก รพ.-คลินิกมายืนยัน

วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตกล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 จังหวัดภูเก็ตถึงวันนี้ (14 ก.ค.) มียอดผู้ป่วยสะสม 789 คน ส่วนมากรักษาหายกลับบ้านไปแล้ว 723 คน ยังรักษาตัวที่โรงพยาบาล 72 คน เสียชีวิตสะสม 9 คน

สัปดาห์นี้มีผู้เสียชีวิต 2 คน คนแรกอายุ 57 ปี นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล 1 เดือนครึ่ง มีโรคประจำตัว มีการติดเชื้อที่ปอดอย่างรุนแรง วานนี้มีผู้ป่วยชีวิตเพิ่มอีก 1 คน เป็นผู้ป่วยติดเตียง อายุ 92 ปี นอนอยู่ที่โรงพยาบาลเกือบ 2 เดือนครึ่ง โดยส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตจะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว เป็นผู้ป่วยอายุมาก ติดเตียง ทำให้เสี่ยงเสียชีวิต

นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล

วานนี้ (13 ก.ค. 64) พบผู้ป่วยโควิดรายใหม่ 2 คน คนแรกเป็นคนไทยที่เดินทางมาจาก กทม.ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยง ถึงจะมีการคัดกรอง แต่มีโอกาสพบการติดเชื้อ และพบจากชาวแอฟริกาใต้ที่เข้ามาในระบบแซนด์บอกซ์ 1 คน

ตั้งแต่เปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์ 1-13 กรกฎาคม 2564 พบผู้ป่วยทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวผ่านระบบแซนด์บอกซ์ รวมกันเพียง 61 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยคนไทยในพื้นที่ 54 คน ผู้ป่วยผ่านโครงการแซนด์บอกซ์ 7 คน โดยชาวต่างชาติที่พบ 7 คนนี้ พบในการตรวจวันแรกที่เดินทางมาถึงเพียง 1 คน อีก 6 คน เป็นการพบจากการตรวจครั้งที่ 2 หรือวันที่ 6 ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ต โดยทั้ง 7 คน แบ่งเป็นคนสหรัฐเอมิเรตส์ 1 คน เมียนมา 3 คน แอฟริกาใต้ 2 คน สวิตเซอร์แลนด์ 1 คน

มาตรการการรักษาและควบคุมโรคใช้มาตรการเดียวกับคนไทย ไม่มีการให้อภิสิทธิ์อะไรที่แตกต่างจากคนไทย ผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล 14 วัน ส่วนในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องแยกกักกันตัวในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ ต้องแยกห้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ในส่วนสถานที่กักตัวได้แยกผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไปกักตัวทั้งหมด 313 คน ใช้โรงแรม 3 แห่ง

ปัจจุบันมีผู้เดินทางผ่านระบบแซนด์บอกซ์ถึงวันที่ 14 ก.ค. 64 ทั้งหมด 5,368 คน ตรวจพบเชื้อ 7 คน หรือคิดเป็นพบผู้ติดเชื้อ 0.14 คน ถือว่าน้อยมาก และถือว่าเป็นภาวะที่พบได้ปกติอยู่แล้ว ในจำนวนผู้ป่วยไม่เกิน 10 คน ทางสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลวชิระมีศักยภาพสามารถบริหารจัดการอยู่ในสภาพปกติ สามารถสร้างความมั่นใจให้ทุกคนได้

ยกตัวอย่างกระบวนการดำเนินการเมื่อตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อรายแรกในแซนด์บอกซ์กรณีชาว UAE 1 คน เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินภูเก็ตวันแรกจะถูกตรวจที่สนามบินก่อน หลังจากนั้นนั่งรถโดยสารที่ทางโรงแรมจัดไว้ให้แยกต่างหากไปเข้าพักที่โรงแรมรอฟังผล ห้ามออกจากห้องจนกว่าจะทราบผลแน่นอนว่าไม่ติดเชื้อ จึงสามารถออกจากห้องพักได้ ทั้งนี้คณะที่มาด้วยกับชาว UAE รวมผู้ป่วยด้วยมีทั้งหมด 15 คน

หลังจากผลตรวจออกมาทราบว่าติดเชื้อ ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้ประสานไปยังผู้จัดการโรงแรม SHA Plus แจ้งกับผู้ป่วยว่า ติดเชื้อห้ามออกมาจากห้อง ทางสาธารณสุขจังหวัดประสานกับทางโรงพยาบาล เพื่อนำรถพยาบาลไปรับตัวไปรักษาที่โรงพยาลาล

ส่วนกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงทางทีมงานสาธารณสุขจังหวัดได้ลงไปสอบสวน ซึ่งพบตั้งแต่วันแรกสถานที่เสี่ยงมีเฉพาะที่โรงแรมกลุ่มสัมผัสสูงมีไม่มาก เช่น พนักงานที่ขับรถที่ไปรับ พนักงานโรงแรมได้ตรวจหาเชื้อและกักตัว 14 วัน  ส่วนกลุ่มเพื่อน และครอบครัวที่เดินทางมาด้วยกัน 14 คนตั้งแต่ต้นทาง ทางสาธารณสุขถือเป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงต้องแยกกักตัวอีก 14 วันถึงจะออกมาจากห้องได้ โดยมีการอธิบายให้นักท่องเที่ยวทราบ แต่เพื่อนร่วมกลุ่ม 14 คนตัดสินใจที่จะเดินทางกลับ UAE

ตามเงื่อนไขนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาภูเก็ต ต้องอยู่ในภูเก็ต 14 วัน ต้องถูกตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง คือ 72 ชั่วโมงก่อนขึ้นเครื่อง วันแรกที่มาถึงสนามบินภูเก็ต เที่ยวในภูเก็ต 6 วัน ตรวจหาเชื้ออีกครั้ง และถึงวันที่ 13 ตรวจหาเชื้ออีก 1 ครั้ง วันที่ 15 ถึงจะสามารถเดินทางออกจากภูเก็ตได้ เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในภูเก็ตยังไม่ถึง 14 วันไม่สามารถเดินทางออกจากภูเก็ตได้ แต่ถ้าอยู่ไม่ถึง 14 วัน สามารถบินออกจากประเทศไทยได้ถ้าไม่พบการติดเชื้อ ถ้าคนติดเชื้อไม่ปล่อยออกไป

สำหรับนักท่องเที่ยวที่บินกลับออกจากภูเก็ตก่อน 14 วัน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มเสี่ยงสูงชาว UA ต้องการบินกลับบ้านไม่ต้องการกักตัว 14 วัน กลุ่มที่ 2 เข้าแซนด์บอกซ์มาเพื่อทำธุรกิจ 2-3 วัน และบินกลับ กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่ตั้งใจจะมาอยู่ 6-7 วัน เนื่องจากมีจำนวนวันได้พักจำกัด กลุ่มเหล่านี้จะบินกลับก่อน 14 วัน ซึ่งภูเก็ตดูแลนักท่องเที่ยวเต็มที่

นอกจากนี้ เพื่อการเฝ้าระวังทางสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตร่วมกับทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร่วมกับทางโรงพยาบาลวชิระได้ทำการสุ่มตรวจหาเชื้อในประชาชนกลุ่มเสี่ยง 11 กลุ่ม เช่น กลุ่มให้บริการส่วนหน้า กลุ่มโรงงาน สถานที่เสี่ยงต่าง ๆ อาชีพเสี่ยง โดยจะดำเนินการทุกสัปดาห์ ตอนนี้ได้ดำเนินการไป 5 จุด โดยสุ่มตรวจไปประมาณเกือบ 1,000 คน ยังไม่พบเชื้อ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเชื้อโควิด-19 ยังมีแฝงอยู่ในชุมชนทั่วไป โดยคนที่ติดเชื้อส่วนมากจะไม่มีอาการ แต่ถือเป็นการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหญ่ไปติดในสถานที่เสี่ยงต่าง ๆ

ในเรื่องมาตรการเฝ้าระวังโควิด-19 ในภูเก็ตมีมาตรการเฝ้าระวังในภาวะปกติ และแซนด์บอกซ์ ประการแรกคือการเตรียมความพร้อมเรื่องวัคซีน สร้างความมั่นใจให้กับคนในพื้นที่ว่า ได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 72% ของประชาชนทั้งจังหวัด ถือเป็นจังหวัดที่ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนมากที่สุดในประเทศไทย ตรงนี้เสริมสร้างความมั่นใจให้คนภูเก็ตเอง และนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา แต่การฉีดวัคซีนแล้วยังติดเชื้อได้ เพราะฉะนั้นมาตรการที่ดีที่สุดต้องใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างในการทำกิจกรรม แต่วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไม่ให้มีอาการหนัก และเสียชีวิตได้เกือบ 100%

ประการที่ 2 ที่สาธารณสุขได้ร่วมทำกับฝ่ายปกครองและทุกภาคส่วนคือ การคัดกรองกลุ่มคนที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ตทั้งคนไทย และต่างชาติ ประการที่ 3 มาตรการการเฝ้าระวัง คือ การสุ่มตรวจต่าง ๆ ประการที่ 4 เพิ่มศักยภาพการตรวจแลปต่าง ๆ ซึ่งทางสาธารณสุขสามารถตรวจเคสได้ถึง 4,000 เคสต่อวัน ทำให้เสริมศักยภาพในการค้นหาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ประการที่ 5 เรื่องการรองรับการรักษาเรื่องจำนวนเตียงต่าง ๆ สามารถขยายได้เกือบ 800 เตียง ซึ่งขณะนี้ในสภาพปกติมีเตียง 400 เตียง แต่ขยายได้ถึง 800 เตียง ซึ่งสามารถเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่ไม่พึ่งประสงค์

กรณีที่มีพระราชกฤษฎีกาให้ประชาชนทั่วไปสามารถหาซื้อชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบรวดเร็ว และตรวจเองที่บ้านได้ เรียกว่า Antigen Test Kit เป้าหมายเป็นการตรวจคัดกรองตัวเอง ในกรณีที่ไม่สามารถไปตรวจที่โรงพยาบาลได้ โดยประชาชนสามารถคัดกรองด้วยตัวเองว่าติดเชื้อหรือไม่ หากมีอาการมากไปโรงพยาบาล ถ้าไม่มีอาการอาจจะแยกดูแลตัวเองที่บ้านได้ และไม่ไปสัมผัสกับคนในครอบครัว

ซึ่งการตรวจ Antigen Test Kit มีเทคนิคในการแไม้เข้าไปในจมูกต้องลึกประมาณเกือบ 10 เซนติเมตร ค่อนข้างต้องใช้ความชำนาญ ถ้าแย่เพียงเล็กน้อยไม่ได้ผลทดสอบจริง เพราะเชื้อจะอยู่หลังโพรงจมูกมากกว่า ถ้าแย่จมูกไม่ถึงตำแหน่ง ผิดทิศทางหรือบางคนมีโรคภูมิแพ้ หรือมีแผลอาจทำให้เลือดออกเกิดความเจ็บปวดได้ เพราะปกติในรูจมูกมีเส้นเลือดฝอยมาก

ประเด็นสำคัญบางคนคิดว่า ซื้อชุดตรวจโควิดมาใช้เอง เมื่อตรวจไม่พบเชื้อจะนำมาแสดงเป็นหลักฐานในการผ่านด่านท่าฉัตรไชยว่า การตรวจดังกล่าวต้องมีใบรับรองจากสถานพยาบาล คลินิก หรือห้องแล็บยืนยัน  ถ้าไม่มีใบรับรองไม่สามารถผ่านหน้าด่านได้ เพราะเทคนิคในการทำค่อนข้างยาก