หอการค้า 5 ภาค ชี้เศรษฐกิจทรุดหนัก จี้รัฐพักหนี้-ผ่อนเกณฑ์ซอฟต์โลน

เศรษฐกิจ

ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทยด้วยตัวเลขการติดเชื้อรวมเฉียดหมื่นคน ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ การค้า การดำรงชีวิตของผู้ประกอบการ ประชาชนทุกหย่อมหญ้า

“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจผลกระทบภาวะเศรษฐกิจในแต่ละภาคสะท้อนผ่านหอการค้า 5 ภาค

หอฯกลางจี้รัฐผ่อนเกณฑ์เงินกู้

นายธวัชชัย เศรษฐจินดา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลางเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจภาคกลางน่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าภาคอื่น

เพราะอยู่ในพื้นที่ 10 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง ตอนนี้ไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ แม้มีมาตรการเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการและพนักงาน

โครงการคนละครึ่ง โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งมีวิธีการใช้และเงื่อนไขค่อนข้างยุ่งยาก คิดว่ามาตรการทั้งหมดไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้

“การระบาดของโควิด-19 ค่อนข้างสูงขณะที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ มีข้อจำกัดการเดินทาง ร้านเปิดได้เฉพาะบางส่วน ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้บริโภคหดหาย ประชาชนส่วนใหญ่งดกิจกรรมลดค่าใช้จ่าย มีข้อจำกัดการเดินทาง ทำให้กำลังซื้อหายไปค่อนข้างมาก”

รัฐบาลควรช่วยเหลือผู้ประกอบการเรื่องเงินทุน ประคับประคองให้รอดผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ หากธุรกิจปิดตัวลง กระทบต่อการจ้างงานสูงมาก ส่วนมาตรการสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูยังช่วยเหลือได้ค่อนข้างน้อย

อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนเงื่อนไขการตั้งเกณฑ์กับธนาคารพาณิชย์ เช่น ผู้ประกอบการที่จะปล่อยกู้ต้องไม่มี NPL เป็นไปได้ยากมาก

ธุรกิจอีสานเหลือลมหายใจ 10%

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

และภาคธุรกิจยังไม่มีความชัดเจน ส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ เดินหน้าต่อไม่ได้ และผู้ประกอบการต้องหาวิธีการดูแลตัวเอง บางรายธุรกิจล้มไป การช่วยเหลือเรื่องซอฟต์โลน มาตรการผ่อนชำระหนี้ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ

คาดการณ์ว่าภาวะหนี้เสียน่าจะเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ โครงการต่าง ๆ ของภาครัฐที่หวังกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นนัก อย่างโครงการคนละครึ่งไม่ได้คึกคักเหมือนตอนเริ่มโครงการ

ตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจของภาคอีสานได้ คนส่วนใหญ่ไม่ออกมาจับจ่ายใช้สอยทำให้กำลังซื้อหายไป เงียบไปหมด โดยเฉพาะในตัวเมืองของจังหวัดต่าง ๆ ได้รับผลกระทบมาก ส่วนรอบนอกตัวเมืองได้รับผลกระทบน้อยกว่า

รัฐบาลต้องชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรต่อไป ที่ผ่านมาภาครัฐมีแค่การแก้ปัญหาระยะสั้นแต่ไม่มีความยั่งยืน จังหวัดภาคอีสานตอนนี้้มีสภาพไม่ต่างกัน วางแผนให้รอดไปวันต่อวัน

แทบไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้เลย ตอนแรกทุกคนคิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นแล้ว แต่มาเจอกับการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ทำให้ผู้คนเดินทางกลับบ้าน เป็นการกระจายโควิดลงไปในพื้นที่ต่าง ๆ มีตัวเลขพุ่งอย่างต่อเนื่อง

ทุกอย่างจึงหยุดชะงักไปอีก แม้แต่ธุรกิจดีลิเวอรี่ก็ไม่ช่วยอะไร เพราะทุกพื้นที่ทุกจังหวัดมีความเสี่ยงหมด

ปัจจุบันยังดูไม่ออกเลยว่าจะมีอะไรมาฟื้นเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ ตอนนี้มีธุรกิจที่เหลือลมหายใจทางเศรษฐกิจประคองตัวอยู่สักประมาณ 10% แหล่งท่องเที่ยวหรืองานเทศกาลหลายแห่งที่เตรียมตัวจะเปิดก็หยุดไป

และวัคซีนก็ยังไม่มา มาก็ไม่มาก นโยบายต่าง ๆ มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมากเกินไป ความเชื่อมั่นจึงลดลงเพราะเบื้องต้นเฉลี่ยทั้งภาคอีสานสามารถฉีดวัคซีนได้เพียง 11% เท่านั้น การเปิดประเทศ 120 วันตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศน่าจะเกิดได้ยากหากทำได้คงไม่ได้ทุกจังหวัด

ฉะนั้น เรื่องที่ชุลมุนที่สุดคือเรื่องวัคซีนและเรื่องแรงงานกลับบ้าน ที่ปล่อยมาจนตัวเลขผู้ติดเชื้อในจังหวัดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้แผนการทุกอย่างถูกปรับเปลี่ยนเป็นรายวัน

แต่จะใช้มาตรการเดียวกันกับพื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัดคงไม่ได้ แม้หลายจังหวัดจะอยากให้ล็อกดาวน์เหมือน กทม. แต่ในภาคบริหารยังไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะทุกพื้นที่ในภาคอีสานตอนนี้เงียบ

บางจังหวัดทุกคนกักตัวและล็อกดาวน์ตัวเองโดยไม่ต้องประกาศอะไรแล้วไม่ล็อกดาวน์ก็เหมือนล็อกดาวน์อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม คาดว่าช่วงปลายปีภาคอีสานอยู่ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ผู้คนจะมีกำลังซื้อมากขึ้น และมีโอกาสเป็นไปได้สำหรับการฟื้นเศรษฐกิจ แต่หากวัคซีนมาไม่ทันและพลาดจากตรงนี้ไปจะไม่มีโอกาสและเป็นปัญหาไปอีกยาว

หอฯตะวันออกจี้รัฐหยุดดอกเบี้ย

นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้จังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทุกจังหวัดทั้งชลบุรี ฉะเชิงเทรา

ระยองตัวเลขผู้ติดโควิดเพิ่มขึ้นทุกจังหวัด ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มทรุดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ทางออกในการแก้ปัญหารัฐบาลต้องเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการ

“ผมคิดว่าทางออกในการช่วยเหลือผู้ประกอบการตอนนี้ต้องหยุดเวลา ทุกอย่างนิ่งเหมือน “กบจำศีล” จะให้ดอกเบี้ยเดินแบบปัจจุบันไม่ได้ ถ้าหยุดภาระชั่วคราวตรงนี้ได้ จะทำให้ภาระของทุกคนน้อยลง

โดยแยกการช่วยเหลือสำหรับคนที่เป็นลูกหนี้ที่ดีมาก่อนได้ ถ้าช่วงก่อนโควิดลูกหนี้รายนี้จ่ายหนี้สม่ำเสมอ แต่ในสถานการณ์ตอนนี้จะให้ทุกคนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามปกติคงทำได้น้อย ขณะนี้ซอฟต์โลนก็เข้ากันไม่ถึง หลายธุรกิจพยายามเจรจากับแบงก์หลายรอบก็ไม่ได้รับการพิจารณา คนเริ่มหมดกำลังใจ”

ด้านโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ที่ออกมาก็ไม่ตอบสนองภาคธุรกิจ ทำได้เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีระบบ แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังได้น้อย และผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 90% ในประเทศถูกจัดธุรกิจอยู่ประเภทหนี้ส่วนบุคคลไม่ใช่หนี้ธุรกิจไม่เข้ามาตรฐานการช่วยเหลือของธนาคาร

“ผมเชื่อว่าทุกวันนี้ที่รัฐบาลนำเงินไปช่วยไปอุดหนุน เช่น 3,000-5,000-7,000 บาทต่อคน แต่ถ้าสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดไประดับนี้ ผมคิดว่าคงช่วยได้ไม่หมด ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ได้มากกว่า รัฐบาลต้องเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการ”

หอฯเหนือชี้กำลังซื้อต่ำไม่ถึง 5%

นายสมบัติ ชินสุขเสริม ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผยว่า รายงานภาวะเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือเดือนพฤษภาคม 2564

เห็นได้ชัดว่าเศรษฐกิจหดตัวลงมากเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะกำลังซื้อภาคการท่องเที่ยว การบริโภคของภาคเหนือยังต่ำไม่ถึง 5% ส่วนการลงทุนนั้นชะลอตัว มีเพียงการค้าชายแดน การเกษตรและอุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวได้อยู่

“ตอนนี้คนมีความกังวลมากโดยเฉพาะโควิดสายพันธุ์เดลต้า และจำนวนวัคซีนที่ได้รับไม่มาตามเป้าหมาย ซึ่งในภาคเหนือฉีดวัคซีนได้ไม่เกิน 10% จึงอยากให้ภาครัฐกระจายวัคซีนให้ได้มากกว่านี้

และสถานการณ์ที่มีการล็อกดาวน์ในพื้นที่เสี่ยงก็มีการเดินทางกลับต่างจังหวัด ทำให้เกิดความเสี่ยงในพื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่สามารถประเมินได้”

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลทำเรื่องภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ทำให้ภาคเหนือมีความหวังว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามามากขึ้น และภาคเหนือน่าจะมีความคึกคักขึ้นบ้าง

อย่างไรก็ตาม หอการค้าภาคเหนือได้วางยุทธศาสตร์ฟื้นเศรษฐกิจไว้บ้างแล้ว แต่ต้องฟังความคิดเห็นจากหลายจังหวัดประกอบกันอีกครั้ง ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันน่าจะมีความชัดเจนในปี 2565

เพราะในปีนี้คงติดอยู่ที่เรื่องบริหารจัดการโควิด-19 และการกระจายวัคซีน เรื่องการเยียวยาธุรกิจกันอยู่ อยากให้ภาครัฐช่วยเร่งเรื่องนี้ ถึงอย่างนั้นก็ต้องรอดูสถานการณ์ที่ทางหอการค้าไทยจะประเมินกันอีกครั้ง

หอฯใต้ชี้เศรษฐกิจจะดีขึ้นกับวัคซีน

นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจตอนนี้กำลังซึม ๆ แม้เปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย

ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ที่กำลังจะเปิดเมืองในเดือนสิงหาคมยังได้รับวัคซีนไม่ครบตามแผน อาทิ กระบี่ พังงา ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 20% ขณะที่มีความต้องการอีก 2-3 แสนโดส การที่เศรษฐกิจจะกลับมาดีได้ขึ้นอยู่กับวัคซีน

ส่วนกำลังซื้อส่วนใหญ่ในภาคใต้อยู่ที่ภาคการเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มีราคาดีอยู่สามารถทำให้เศรษฐกิจในภาคใต้ขับเคลื่อน ตอนนี้ภาคใต้มีสัดส่วนรายได้จากภาคเกษตรประมาณ 21%


แต่ไม่สามารถแบกเศรษฐกิจของทั้งภาคใต้ไว้ได้ เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่อยู่ในประชาชนระดับฐานราก อีกทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวก็หายไป ปกติรายได้ของภาคใต้แต่ละปีประมาณ 8 แสนกว่าล้านบาท ตอนนี้คาดว่าเปิดภูเก็ต 3 เดือนน่าจะมีรายได้ประมาณหมื่นล้านบาท”