“ชาธิป” เน้นทำโปรเจ็กต์ยั่งยืน หัวหอกนักธุรกิจรุ่นใหม่สมุทรสาคร ลุยปั้นแบรนด์สปาเกลือ

คอลัมน์ New Gen 4.0

หลังจากหอการค้าไทยมีโครงการรวบรวมนักธุรกิจรุ่นใหม่ภายใต้หอการค้าจังหวัดขึ้นมา เช่นเดียวกับ จ.สมุทรสาคร ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้เจาะลึกแง่คิดการทำงานของ “ชาธิป ตั้งกุลไพศาล” ประธานนักธุรกิจรุ่นใหม่ หรือ YEC สมุทรสาคร นักธุรกิจไฟแรงที่มาพร้อมกับตำแหน่งรองประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ที่ดูแลด้านธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงตำแหน่งภายในจังหวัดอีกมากมาย

ขณะที่หมวกอีกใบคือ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟล็กซ์โซ กราฟฟิก จำกัด ผู้ประกอบการเบอร์ 1 ด้านดิจิทัลแพ็กเกจจิ้ง และดิจิทัลพรินติ้งครบวงจร ซึ่งปัจจุบันมีสาขาโรงงานมากถึง 10 แห่ง ทั้งในไทย เวียดนาม มาเลเซีย และกำลังจะลงทุนเพิ่มที่เมียนมา

“ชาธิป” กล่าวว่า เริ่มแรกมีสมาชิกประมาณ 40 คน หลังจากที่ได้เข้ามารับตำแหน่งประธาน YEC สมุทรสาคร จึงได้เปลี่ยนแนวคิดจากประกาศรับทั่วไป มาเป็นรับสมัครเป็นรุ่น ซึ่งจะต้องประกาศรับสมัคร สัมภาษณ์ รวมถึงผ่านการอบรมระยะเวลา 2 เดือนเกี่ยวกับการพัฒนาด้านธุรกิจ และบทบาทภารกิจของ YEC ต้องทำอะไรบ้าง

ปัจจุบันสมุทรสาครมีสมาชิก YEC ประมาณ 100 คน ซึ่งเกือบ 2 ใน 3 เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่สานต่อธุรกิจของครอบครัว ส่วนที่เหลือสร้างธุรกิจด้วยตัวเอง ในขณะเดียวกันสมุทรสาครมีความแตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ เนื่องจากสมาชิกบางส่วนไม่ได้พักอาศัยอยู่ใน จ.สมุทรสาคร เพราะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ แต่เน้นย้ำว่าสมาชิกทุกคนต้องประกอบธุรกิจหรือกิจการใน จ.สมุทรสาคร

ปั้นแบรนด์สปาเกลือ

สำหรับสไตล์การทำงาน “ชาธิป” บอกว่า จะมุ่งเน้นทำโครงการที่ยั่งยืน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการใหญ่ ทำงานร่วมกับภาครัฐทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.การสนับสนุนความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจของสมุทรสาคร ภายใต้หอการค้าจังหวัด เช่น ปี 2559 ได้ประกาศยุทธศาสตร์เกลือร่วมกับหอการค้าจังหวัด และเสนอเข้าสู่จังหวัด จึงกลายเป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่ให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันทำ อาทิ พาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด และสหกรณ์ 2 แห่ง เนื่องจากขณะนั้นเกลือสมุทรราคาตกต่ำมาก จากราคาเกวียนละ 1,500 บาท เหลือเพียง 500-600 บาท/เกวียน (1 เกวียน เท่ากับ 1,500 กิโลกรัม) เพราะมีผลผลิตมากกว่าปกติ ประกอบกับปีก่อนหน้านี้ภาคประมงมีปัญหา จึงมีความต้องการใช้เกลือดองปลาน้อยลง

ทั้งนี้ได้ร่วมกันทำการตลาดด้วยการเอ็มโอยูกับหลายองค์กรในหลายจังหวัด อีกทั้งแปรรูปผลิตภัณฑ์และพัฒนาเป็นสปาเกลือภายใต้แบรนด์ Samutsakorn Sea Salt โดยปีที่ผ่านมาได้กลายเป็นสินค้าปีใหม่ของหน่วยงานในจังหวัด และหอการค้าจังหวัด ทำให้ราคาเกลือสมุทรสูงขึ้นมาอยู่ที่เกวียนละ 3,000 กว่าบาท ขณะเดียวกันเป็นการสร้างอาชีพให้กับแม่บ้านด้วย โครงการนี้ทำให้ได้รับรางวัลหอการค้าดีเด่นโครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์การเกษตร

พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว-อควาเรียม

ส่วนด้านที่ 2 เรื่องการท่องเที่ยว YEC ได้เข้าไปร่วมกับยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเข้าไปพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ 3 แห่ง คือ 1) บริเวณพันท้ายฯ-โคกขาม ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยว ได้แก่ ศาลพันท้ายนรสิงห์ พระพุทธสิหิงค์องค์ที่ 4 ของไทย นาเกลือ และที่ปลูกป่าชายเลน 2) บริเวณดอนไก่ดี แหล่งผลิตเบญจรงค์ ซึ่งได้ร่วมกับบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีสมุทรสาคร (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบใหม่ ๆ ทำให้มีสีสันสดใสมากขึ้น นำธีมเข้าไปจับ เป็นเบญจรงค์สีสันฤดูร้อน เปลี่ยนสีสันจากน้ำเงิน แดง เป็นเขียวอ่อน เหลืองอ่อน ฟ้าอ่อน รวมถึงร่วมกับพัฒนาการจังหวัดเข้าไปพัฒนาสถานที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการวาดสตรีตอาร์ต และ 3) บริเวณท่าฉลอม ซึ่งเป็นเมืองสมัยรัชกาลที่ 5

นอกจากนั้น ในปี 2561 ได้เตรียมทำเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกับงานวิ่งสมุทรสาครพันท้ายนรสิงห์ ที่คาดว่าจะมีคนต่างถิ่นเข้ามาร่วมงาน 3,000-5,000 คน และจะทำอย่างไรให้คน 500-1,000 คน เมื่อวิ่งเสร็จแล้วยังอยู่ในพื้นที่ จึงอาจจะมีแพ็กเกจท่องเที่ยวและกินอาหารทะเลในราคา 399, 499 หรือ 599 บาท เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ก็ได้เข้าไปพัฒนาศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ (อควาเรียม) ตำบลโคกขาม ซึ่งอควาเรียมแห่งนี้เป็นของท้องถิ่น แต่ไม่มีงบประมาณเข้ามาดูแล กำลังจะถูกปิดตัวลง จึงถูกส่งมอบคืนให้กับกรมประมง ซึ่งเราได้เข้าไปดูแลและเขียนโปรเจ็กต์จนได้งบประมาณจากส่วนกลางมาเกือบ 50 ล้านบาท ซึ่งวางแผนที่จะเข้าไปเพิ่มพื้นที่ ปรับปรุงภูมิทัศน์ ซื้อพันธุ์ปลามาเพิ่ม สร้างบ่อเต่า ศูนย์เรียนรู้ และพัฒนาให้เป็นแหล่งออกกำลังกายด้วย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเดือนพฤศจิกายน 2560 ใช้เวลา 1 ปีจึงจะแล้วเสร็จ

ปั้น ร.ร.ต้นแบบ-ดันลำไยนอกฤดู

สำหรับด้านการเกษตรตอนนี้กำลังมาดูเรื่องลำไยนอกฤดู แม้จะมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงหน้าสวน แต่ราคาไม่สูงอยู่ที่ 60-70 บาท/กก. ซึ่งน่าจะขายได้ราคามากกว่านี้ ล่าสุดได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อผลักดันให้คนรู้จักว่าจังหวัดสมุทรสาครมีลำไยที่ขึ้นชื่อ และขายปลีกมากขึ้น ราคาเริ่มตั้นอย่างน้อย 150-200 บาท/กก. อีกทั้งทำงานร่วมกับเกษตรจังหวัด เข้าพูดคุยกับโรงพยาบาลของรัฐในจังหวัดทั้งหมด กลุ่มเกษตรอินทรีย์ และยังสมาร์ตฟาร์มเมอร์ ผลักดันผักปลอดสารให้เป็นเกษตรอินทรีย์

ขณะเดียวกัน ก็ยังพัฒนาด้านสังคมด้วย โดยเข้าไปทำโครงการอาหารให้โรงเรียนบ้านสับดาบ มีการพัฒนาโรงเรียนให้น่าอยู่ ทำสวนผัก แปลงเห็ด เลี้ยงไก่ ปลา เพื่อให้โรงเรียนมีวัตถุดิบมาทำเป็นอาหารเช้าและเที่ยงให้กับนักเรียน ทำให้เป็นโรงเรียนที่ยั่งยืนและเป็นแบบอย่างให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป

“ผมคาดหวังว่า YEC จะเป็นกำลังขับเคลื่อนจังหวัด ไม่เป็นแค่การสร้างความเข้มแข็งในกลุ่ม แต่ YEC ต้องเป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้หอการค้า ที่ทำหน้าที่ให้หอการค้าเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัด ซึ่งเราต้องทำงานร่วมกับจังหวัดเพื่อพัฒนาจังหวัดเรา”

“ชาธิป” ยังย้ำอีกว่า YEC ต้องทำงานในเชิงสร้างสรรค์ ยั่งยืน และต้องส่งไม้ต่อกันอย่างเข้มแข็งที่จะทำงาน เพราะถ้าส่งไม้ต่ออย่างไม่เข้มแข็ง สิ่งที่ทำมามันจะไปไม่ได้ เพราะทุกโครงการหรือทุกโปรเจ็กต์ที่เราทำ มันเป็นโครงการที่ต่อเนื่องยั่งยืน 5 ปี 10 ปี 20 ปี