ดัน “นครสวรรค์” ฮับเกษตร-แปรรูป เร่งออกแบบเมืองฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วประเทศ ซึ่งการพลิกฟื้นเศรษฐกิจคงเป็นโจทย์ต่อไปที่ต้องวางแผนและดึงศักยภาพของแต่ละเมืองออกมา “คณะกรรมการกฎบัตรแห่งชาติ” ได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “โครงการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ของกฎบัตรนครสวรรค์” เมื่อเร็ว ๆ นี้

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย กล่าวว่า นครสวรรค์ถือว่าเป็นเมืองที่ได้เปรียบในเรื่องตำแหน่งที่ตั้งเป็นศูนย์รวมในหลาย ๆ เรื่อง และชี้ให้เห็นว่าตำแหน่งที่ตั้งนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการเกษตร

และเกษตรอุตสาหกรรมจะต้องยกระดับเศรษฐกิจฐานรากโดใช้ดิจิทัล ซึ่งไม่ใช่เพียงนำมาใช้ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโรคโควิด-19 อย่างเดียว แต่เชื่อว่าภาคการเกษตรจะเป็นตัวเพิ่มความสามารถการแข่งขันทางการค้าได้ในระยะยาว

นอกจากนี้ การคมนาคมของจังหวัดนครสวรรค์ไม่ใช่เป็นเพียงศูนย์กลางภาคเหนือตอนล่าง หรือภาคกลางตอนบนแต่สามารถเป็นศูนย์กลางอนุภูมิภาคได้ด้วย หากสามารถวางโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมต่อในหลาย ๆ เรื่องได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนการวางผังเมืองภาคและการวางผังเมืองในพื้นที่

ทั้งนี้ ด้านทรัพยากร หากดูจากข้อมูลหลักเกือบทุกจังหวัดมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ส่วนใหญ่มาจากภาคการเกษตร ยกเว้น กรุงเทพฯ และจังหวัดโซนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)

อาทิ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ซึ่งเมืองนครสวรรค์มี GPP ภาคเกษตร ร้อยละ 30 หากสามารถยกระดับการเกษตรขึ้นมา รายได้จะลงไปที่ฐานรากและกระจายรายได้ไปทุกภาคส่วนในแต่ละพื้นที่

ขณะเดียวกัน สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันทั่วโลกกำลังประสบปัญหาโรคโควิด-19 ซึ่งนครสวรรค์เป็นแหล่งผลิตสมุนไพรและอาหารเกษตรที่สำคัญ เพราะฉะนั้น ควรจะผลิตสินค้าสมุนไพร

เช่นกระชายขาว ไปป้อนตลาดและนำตรงนี้มาเป็นจุดแข็ง สุดท้ายหากพุ่งไปเรื่องการเกษตรจะได้ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากขนาดใหญ่ แต่ถ้าจะทำเรื่องสุขภาพจะพุ่งไปที่มูลค่า

“การเกษตรถือว่ายกระดับเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดี แต่ลักษณะการแข่งขันค่อนข้างสูง ส่วนงานระดับสุขภาพถ้าสามารถเจาะได้จะได้มูลค่าเพิ่ม ตอนนี้กฎบัตรจับทั้งสองตัว

ฉะนั้น หัวจักรของนครสวรรค์ในอนาคต คือ งานเกษตรกรรม อุตสาหกรรมเกษตร และโลจิสติกส์ เมื่อได้ผลสรุปแล้วจะต้องดำเนินการขั้นตอนต่อไป คือ ต้องมีการออกแบบเมือง ออกแบบเศรษฐกิจ ออกแบบสุขภาพ”

แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคือ เรื่องออกแบบผังเมือง เมืองที่เป็นศูนย์เศรษฐกิจในปัจจุบันหลายเมืองไม่ตอบโจทย์ ไม่ตอบสนองระบบแบบเมืองที่ได้มาตรฐาน

เช่น เขตเทศบาลนครสวรรค์ เป็นพื้นที่ที่ถูกควบคุมความสูง แต่เมื่อเลยเขตควบคุมไปก็สามารถสร้างตึกขนาดใหญ่ได้ มันจึงชี้ให้เห็นว่ากระบวนการออกแบบเมืองผิดมาโดยตลอด

ฉะนั้นเราจะต้องดูศูนย์กลางของเมืองที่ระบบกายภาพเพื่ออำนวยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในสาขาที่เราสนใจที่จะลงทุน

ด้าน นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเชีย จำกัด เปิดเผยว่า จังหวัดนครสวรรค์เป็นเมืองที่ประชากรมีเงินออมอันดับ 2 ในภาคเหนือรองจากเชียงใหม่

เพราะเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ มีพืชผักเศรษฐกิจจำนวนมาก รวมถึงการเป็นศูนย์กลางการคมนาคม และศูนย์กลางการแพทย์ การที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสามารถแบ่งออกได้ 2 กลุ่ม คือกลุ่มคนภายนอก และกลุ่มคนภายใน

“นครสวรรค์โชคดีที่จะมีการทำถนนบายพาสผ่านเมือง แต่หลาย ๆ เมืองเมื่อมีเรื่องคมนาคมที่เปลี่ยนแปลงไปมีทั้งผลทางบวกและทางลบ หลายเมืองเศรษฐกิจแย่ลงเพราะมีการทำบายพาส เช่น สระบุรี สิ่งที่เราจะทำคือต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้เราอยู่กับการเปลี่ยนแปลง”

สำหรับกลุ่มคนภายนอก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำอย่างไรให้นครสวรรค์เป็นเมืองที่ทุกคนต้องมา ซึ่งปัจจุบันนครสวรรค์มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย อาหารราคาถูกซึ่งเราต้องดึงจุดเด่นตรงนี้ออกมาให้ได้

สิ่งที่จะเกิดในอนาคตคือ รถไฟเส้นกรุงเทพฯ-นครสวรรค์ รถมินิบัสหรือสมาร์ทบัส ตอนนี้ถนนดี รถไฟดี มีทุกอย่างพร้อมรองรับ อีกทั้งยังเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพถูก

หากพูดถึงการรักษาหรือโรงพยาบาล สมมุติว่าผมอยู่สระบุรี มี 2 ทางเลือกคือเลี้ยวขวามานครสววรค์ เลี้ยวซ้ายเข้ากรุงเทพฯ หากบุคลากรทางการแพทย์ที่นครสวรรค์มีศักยภาพเท่ากรุงเทพฯ เราก็เลือกมานครสวรรค์

เพราะมีค่ารักษาที่ถูกกว่า ถ้าสามารถดึงจังหวัดที่อยู่กึ่งกลาง อาทิ ลพบุรี สระบุรี เข้ามาจะสามารถสร้างเศรษฐกิจได้มากยิ่งขึ้น

ส่วนกลุ่มคนภายในจังหวัด คือการคมนาคมในเมือง ต้องยอมรับว่าการที่มีรถสาธารณะโดยเฉพาะรถที่มีคุณภาพดีขึ้น แต่ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ขาดทุนน้อยที่สุด สิ่งที่อยากจะให้เป็นแนวคิดอย่างหนึ่งคือ

ดึงศักยภาพเรื่องอาหาร ค่าครองชีพถูก ศูนย์กลางการเกษตร ศูนย์กลางการแพทย์ ออกมาให้ได้

ขณะที่ นายภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า นครสวรรค์เป็นเมืองธุรกิจด้านการเกษตร ปัจจุบันมีประชากรที่เป็นแรงงานประมาณ 526,638คน จากประชากรทั้งหมด 1,059,887 คน มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 126,679 บาทต่อปี

สิ่งที่สร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจตอนนี้ คือ ภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีการจ้างงานอยู่ 278,274 คน สร้างรายได้ 35,991 ล้านบาทต่อปี ซึ่งที่ผ่านมาเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดปี 2561-2565 คือ

เป็นศูนย์กลางด้านเกษตรและอุตสาหกรรมการแปรรูป สำหรับ GPP สูงสุด 5 อันดับแรกของจังหวัด ได้แก่ ภาคเกษตร 30.58% การผลิต 16.62% การค้า 15.14% การศึกษา 7.20% การเงิน 6.61%

หากจะผลักดันให้นครสวรรค์เป็นศูนย์กลางเกษตรและอุตสากรรมการแปรรูป สิ่งที่ตามมาจะต้องมีระบบรองรับ โดยจะเน้นไปที่เศรษฐกิจอัจฉริยะ (smart economy) เนื่องจากเป็นเมืองค้าขาย

ทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมค้าขายที่เป็นด้านเกษตรเป็นจุดพลิกฟื้นให้เมืองอยู่รอดได้ ซึ่งจะต้องสร้างภาคเกษตรให้เข้มแข็งขึ้น หรือเกษตรอัจฉริยะ (smart farmer) การเพิ่มขีดความสามารถตลอดห่วงโซ่ หมุนธุรกิจดิจิทัลเกษตรใหม่ ๆ และสร้างศูนย์กลางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า