4 จังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์วูบ เครื่องยนต์ เศรษฐกิจดับ-ข้าวค้างสต๊อกอื้อ

หลายจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรงขึ้น หลังรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์แคมป์คนงานก่อสร้าง มีแรงงานบางส่วนหนีกลับบ้าน

และในที่สุดนำมาซึ่งนโยบายเปิดรับผู้ติดโควิดกลับไปรักษาตัวที่บ้านเกิดอย่างเป็นทางการ สถานการณ์โควิดที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อภาพเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัด “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจภาวะเศรษฐกิจ 4 จังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์“ร้อยเอ็ด-ขอนแก่น-มหาสารคาม-กาฬสินธุ์” ซึ่งมีทั้งหัวเมืองหลัก และเมืองรองต่อสถานการณ์หนักทีเดียว

ขอนแก่น GPP วูบ 5%

นายกมลพงศ์ สงวนตระกูล ประธานหอการค้ากลุ่มอีสานตอนกลาง หรือ “ร้อยแก่นสารสินธุ์” (ประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด-ขอนแก่น-มหาสารคาม-กาฬสินธุ์) และประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดขอนแก่น

เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทำให้โครงการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง หรือกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ อยู่ในภาวะชะลอตัวเกือบทั้งหมด เพราะการแก้ปัญหาโควิด-19 ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนอันดับแรก ต้องวางแผนและนำงบประมาณลงไปแก้ปัญหาก่อน

“ตอนนี้การวางแผนการทำงานการทำธุรกิจต้องคิดให้เหมาะสมสอดคล้องกับมาตรการด้านสาธารณสุขให้ได้ จะมุ่งสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งคงไม่ได้ อย่างจังหวัดขอนแก่น ผู้ว่าราชการจังหวัดได้พูดคุยกับผู้ประกอบการถึงมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19

เพื่อประคับประคองธุรกิจให้ไปได้ โดยภาพรวมคาดว่าภาวะเศรษฐกิจพื้นที่ภาคอีสานอาจจะไม่ชะลอตัวลงมากนัก คิดว่าเป็นเพียงการชะลอตัวด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยเท่านั้น

เพราะช่วงไตรมาสแรกมีการเติบโตค่อนข้างดี ยังมีการทำธุรกรรมอยู่มาก อีกทั้งสถานการณ์ยังไม่หนักเหมือนกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล”

ขณะเดียวกัน ทั้ง 4 จังหวัดเริ่มมองเห็นว่า การพัฒนาพื้นที่ถ้าดำเนินเฉพาะจังหวัดตัวเองเพียงลำพังไม่ประสบความสำเร็จนัก ทุกจังหวัดในกลุ่มต้องจับมือกันในการแก้ปัญหาต่าง ๆ

ยกตัวอย่าง จังหวัดขอนแก่น มีประชากร 1.8 ล้านคน เมื่อรวมกับจังหวัดอื่นในกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ ทำให้มีประชากรมากถึง 5 ล้านคน ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความโดดเด่นแตกต่างกันไป

“ตอนนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (จีพีพี) ของจังหวัดขอนแก่นในปี 2563 ที่อยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท ปัจจุบันหายไปประมาณ 5% แต่ได้วางแผนงบประมาณไว้สำหรับ 2-3 ปีในอนาคต โดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ว่าจะมีแนวโน้มและทิศทางเป็นอย่างไรต่อไป”

สารคามจี้รัฐอัดซอฟต์โลน

นายโฆษิต เหล่าสุวรรณ ประธานหอการค้าจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ด้านเศรษฐกิจของจังหวัดมหาสารคามต้องปรับตัวกันอย่างหนัก เศรษฐกิจชะลอตัวมาก

เพราะทุกอย่างเงียบไปหมด แม้แต่ธุรกิจที่เป็นปัจจัย 4 ของการดำรงชีวิตยังเหนื่อยอยู่มาก คาดว่าเศรษฐกิจจังหวัดน่าจะติดลบ เพราะการระบาดระลอก 4 มีความต้องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากพื้นที่สีแดงกลับสู่ภูมิลำเนา

แผนกระจายวัคซีนถูกเลื่อนและเปลี่ยน เป้าหมายการประกาศ 120 วันจะเปิดประเทศของนายกรัฐมนตรีเป็นไปได้ยาก ในสิ้นปีนี้แผนงานต่าง ๆ ต้องเลื่อนออกไป ภาคธุรกิจต้องปรับตัวอยู่ให้ได้

เพื่อให้เศรษฐกิจเดินไปได้ เพราะถ้าปรับตัวไม่ได้ปัญหาต่าง ๆ จะตามมามาก ทั้งความเป็นอยู่ อาชญากรรม เบื้องต้น

ในช่วงโควิด-19 โครงการพัฒนาพื้นที่ของจังหวัดสารคามหลายโครงการถูกระงับไปจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการในปี 2563-2564 ยกตัวอย่างท่องเที่ยวและกีฬาของมหาสารคามของบประมาณเพื่อจัดกิจกรรมไปประมาณ 10 ล้านบาท

ใน 4 กิจกรรม 1.ไหลเรือไฟท่าขอนยาง 2.งานกลองยาววาปี 3.ขบวนแห่งานกาชาดและ 4.งานพระธาตุนาดูน นอกจากนี้ ยังมีงบฯจังหวัดอีกหลายล้านบาทที่เตรียมจัดอีกหลายงาน

แต่การระบาดของโควิด-19 ทำให้จัดงานไม่ได้ สุดท้ายจึงถูกยกเลิกไป ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ผู้ประกอบการ อย่างธุรกิจร้านอาหารนอกจากไม่มีงานกระตุ้นแล้วยังถูกจำกัดเวลาปิด-เปิด โรงแรมถูกงดการจัดกิจกรรมทั้งงานสัมมนา งานรื่นเริงต่าง ๆ

“ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐช่วยหาแหล่งเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้ดำรงธุรกิจให้อยู่ได้ ลดส่งเงินประกันสังคมช่วยผู้ประกอบการอีกทาง สุดท้ายขอให้มีการจัดสรรวัคซีนสำหรับธุรกิจเพื่อที่จะเปิดบริการได้ ถ้าวัคซีนไม่มา ทุกอย่างจะขับเคลื่อนได้ยาก”

สำหรับงบประมาณการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดสำหรับจังหวัดมหาสารคาม ส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านการตลาด พาณิชย์จังหวัดจะของบฯส่วนนี้เป็นประจำทุกปีเพื่อนำมาจัดโครงการหรือกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ

รวมถึงพัฒนาชุมชนจังหวัด ที่นำงบประมาณไปสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าชุมชน สินค้า OTOP สมุนไพร ของใช้ และอีกหลายอย่าง แต่ก็มีโครงการใหญ่นอกเหนือจากนี้ เช่น โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ของแก่งเลิงจาน

เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ขยายเลนถนน สร้างทางรถสัญจรรอบแก่ง โครงการถนนเส้น 2040, 2045 เชื่อมกลุ่มจังหวัดจากจังหวัดสารคามไปยังจังหวัดบุรีรัมย์

ร้อยเอ็ดเศรษฐกิจติดลบ 60%

นายเรืองศักดิ์ รัตนโภคาสถิต ประธานหอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า สภาวะเศรษฐกิจร้อยเอ็ดปี 2564 นี้คาดว่าน่าจะติดลบไปประมาณ 60% ตอนนี้ภาคธุรกิจที่เหลือพยายามประคองตัวอยู่ด้วยกำลังของตัวเอง

ภาพความเสียหายคาดการณ์ไม่ได้ชนิดที่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นเลย ร้านอาหารหายไปประมาณ 95% ภาคโรงแรมและการท่องเที่ยวลดไป90% การค้าขายชะลอตัวประมาณ 50% การซื้อขายรถยนต์ลดไป 30%

ด้านการเกษตรยังประเมินไม่ได้ โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัด ขายได้น้อยมาก เหลือค้างสต๊อกจำนวนมาก ขณะเดียวกัน แนวโน้นธุรกิจที่จะเห็นต่อไปหลังจากนี้คงต้องเคร่งครัดเรื่องสุขภาพและอนามัย ภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องพัฒนาและเสริมสร้างทักษะ เพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงานเพิ่มขึ้นถึงจะไปรอด

“ทั้งหมดคือสภาพที่จังหวัดร้อยเอ็ดกำลังเผชิญ และคงเป็นเหมือนกันกับจังหวัดอื่น ๆ เราต้องมองดูว่าจังหวัดเราทำอะไรได้บ้าง โดยสิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังมีสินค้าด้านการเกษตรที่มีข้าวและอ้อยเป็นตัวหลัก

และเราผลักดันเรื่องนี้อยู่ทุกปีขณะนี้เราพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เร่งการระบายข้าวช่วยเหลือเกษตรกรและสหกรณ์ ทำการตลาดขายผ่านออนไลน์ รวมถึงผลักดันธนาคารให้ช่วยปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ตอนนี้หากจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ วัคซีนต้องมาเร็ว

สถานการณ์ปัจจุบันเรียกว่าทุกคนทุกฝ่ายต่างเร่งช่วยเหลือจังหวัดตัวเอง จังหวัดร้อยเอ็ดกำลังเร่งหาทางฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงนี้ให้ได้ก่อน

เนื่องจากประชาชนขาดความเชื่อมั่น การจับจ่ายใช้สอยลดลง บรรยากาศการค้าขายเงียบมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งในตัวเมือง การเดินทางท่องเที่ยวแทบไม่มี”

กาฬสินธุ์ดันเกษตร-อาหารสู้

นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า เมื่อเกิดโควิด-19 ภาพรวมจังหวัดกาฬสินธุ์ชะงักไปมาก การขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ อาจจะต้องปรับเปลี่ยน

จากที่เคยผลักดันเรื่องกิจกรรมท่องเที่ยวรวมถึงกิจกรรมอีเวนต์ที่หยุดไปโดยปริยาย ต้องหันมาเน้นเรื่องเกษตรและอาหารจึงจะสามารถสร้างเศรษฐกิจกลับขึ้นมาได้ แต่มีโครงการใหญ่คงไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจอยู่

เช่น โครงการสร้างสนามบินสารสินธุ์ ที่อำเภอยางตลาด ซึ่งได้จัดงบประมาณศึกษาความเป็นไปได้แล้ว และหากสามารถทำได้จริง ๆ จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และลงทุนได้อีกหลายโครงการ

“การพัฒนาสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดกาฬสินธุ์ยังไม่ได้มีมูลค่ามากนัก ทางภาคเอกชนต้องยกระดับแนวทางความรู้ให้กับผู้ประกอบการในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะภาคบริการได้รับผลกระทบอย่างหนัก

แม้บางแห่งพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเริ่มทำการค้าขายทางออนไลน์ได้บ้างก็ตาม นอกจากนี้ ต้องมาพิจารณาแผนพัฒนาที่พอเป็นไปได้ เช่น กาฬสินธุ์มีพิพิธภัณฑ์ที่มีซากประวัติศาสตร์สมบูรณ์ที่สุดในอาเซียน จุดเด่นข้อนี้ต้องผลักดันต่อไป

ซึ่งทาง ททท.ก็สนับสนุนอยู่ คิดว่าปีนี้งบฯที่มาจากส่วนกลางจะเน้นรูตเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเกี่ยวกับไดโนเสาร์ ซากฟอสซิล ซากดึกดำบรรพ์ ระหว่างแหล่งฟอสซิลในจังหวัดกาฬสินธุ์กับพิพิธภัณฑ์สิรินธร เป็นเส้นทางขอนแก่น-กาฬสินธุ์”

ขณะเดียวกันอยากให้รัฐบาลจัดสรรโควตาวัคซีนเพิ่มเติมให้กับภาคเอกชนนอกเหนือจากเสียเงินซื้อกันเอง โดยปีนี้สถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะตัวลงอย่างแน่นอน

ถ้าปลายปี 2564 ได้วัคซีนมาตามกำหนด คาดว่าปี 2565 ทุกฝ่ายน่าจะปรับตัวได้และเห็นทิศทางบวกชัดขึ้น และจังหวัดกาฬสินธุ์คงค่อย ๆ ประคับประคองตัวขึ้น โดยหันมาทำเรื่องเกษตรปลอดภัยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเสริมกันไป

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนร่วมกับกลุ่มภาคอีสานตอนกลาง ได้มีการประชุมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหอการค้ากลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ปี 2564-2565 เมื่อไม่นานมานี้

โดยมีแผนในระยะสั้นและระยะยาว ตั้งแต่ยังไม่เปิดประเทศจนไปถึงช่วงที่เปิดประเทศ ทั้งด้านการค้า การลงทุน ด้านเกษตร อาหาร การท่องเที่ยวและบริการ เป็นต้น