สมาพันธ์ SME เชียงใหม่ชูงาน JobFair เจาะตลาดฮังการี

สมาพันธ์เอสเอ็มอีเชียงใหม่ดิ้นแก้ปัญหาวิกฤตหนี้ เดินหน้าหารือแบงก์ชาติแก้ผ่านโครงการหมอหนี้-จับมือออมสิน-SME Bank จัดช่องสินเชื่อด่วนรายย่อย เตรียมจัดงาน SME Job Fair-Low Cost Franchise แก้ปัญหาตกงาน-ว่างงานพุ่ง

พร้อมกระตุ้นส่งออกไปฮังการีและยุโรปตะวันออก ดัน Cross Border e-Commerce สู่จีน จับมือ อบจ.เชียงใหม่เร่งปรับช่องทางแสดงสินค้า SMEs-OTOP สู่ virtual trade fair และ online business matching

นายอาคม สุวรรณกันธา ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ขณะนี้ได้รับผลกระทบสูงมาก ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ไม่สามารถอยู่รอดได้

เพราะส่วนใหญ่พึ่งพาเกี่ยวโยงกับภาคการท่องเที่ยวและการเกษตร ภาพรวมเชียงใหม่สูญเสียรายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000 ล้านบาท และยอดขายลดลง 20-80% ทำให้ประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ภาระหนี้ การว่างงานและตกงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคตจะส่งผลระยะยาวถึงกลางปี 2565

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนวิสาหกิจ SMEs ทั้งหมดประมาณ 95,000 ราย มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยมี SMEs ที่เป็นนิติบุคลจำนวน 24,641 ราย เป็นอันดับ 7 ของประเทศ

เป็นส่วนบุคคลจำนวน 75,000 ราย เป็นอันดับ 2 ของประเทศ มีวิสาหกิจชุมชน เป็นอันดับ 4 ของประเทศ จำนวน 2,855 ราย สามารถจ้างงานได้มากกว่า 400,000 คน และสร้างรายได้หมุนเวียนให้เชียงใหม่มากกว่า 40% หรือ 1 แสนล้านบาทต่อปี

“สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดเชียงใหม่ทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยได้เร่งจัดหาแหล่งเงินทุนหมุนเวียนเพื่อมาเสริมสภาพคล่องและแก้ไขหนี้ให้เร็วที่สุดก่อน

โดยได้เข้าพบกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อจะใช้กระบวนการหมอหนี้เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการ จากนั้นจึงค่อยเติมสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยร่วมมือกับธนาคารออมสิน

และธนาคารเอสเอ็มอีแบงก์ในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (softloan) การพักหนี้ และดอกเบี้ย รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอัตราพิเศษถึงสิ้นปีนี้”

ประธานสมาพันธ์เอ็มอีไทยจังหวัดเชียงใหม่กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัญหาการสร้างรายได้ใหม่ทดแทนจำเป็นจะต้องสร้างอาชีพใหม่ พัฒนาทักษะเดิมและสร้างใหม่ให้เพิ่มขึ้น

ทางสมาพันธ์จึงเตรียมจัดงานเชียงใหม่ SMEs Job Fair : Low Cost Franchise ภายในเดือนตุลาคม 2564 ในแบบไฮบริดขึ้น เพื่อให้เป็นที่สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับกลุ่มที่กำลังหารายได้

โดยจะนำแฟรนไชส์ที่จับต้องได้มาให้เลือกครอบคลุมด้านอาหาร การบริการจัดส่งสินค้า โลจิสติกส์ เครื่องดื่ม เป็นต้น

นอกจากนั้นยังได้ประสานกับทางพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ในการคัดเลือกสินค้าของ SMEs ครอบคลุมด้านอาหารและเครื่องดื่ม เกษตรแปรรูป เพื่อส่งออกไปยังประเทศฮังการีที่ได้ประสานเครือข่ายไว้

รวมถึงส่งไปประเทศจีนผ่านรูปแบบ cross border e-Commerce ผ่านทางเชียงของ หรือ R3A รวมถึงการพัฒนาการค้าแบบอีคอมเมิร์ซ รวมถึงได้ประสานทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ดำเนินโครงการพัฒนายกระดับผู้ประกอบการ SMEs-OTOP จังหวัดเชียงใหม่

สู่รูปแบบการแสดงสินค้าแบบ virtual trade fair และ online business matching เพื่อช่วยสนับสนุนการขายในแบบ virtual ของผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่การค้ายุค next normal ต่อไป