โรงงานสมุทรสาคร 233 แห่ง ตรวจ ATK ผลบวกโควิด-กลุ่มเสี่ยง 5,845 คน

โรงงานสมุทรสาคร 233 แห่งติดโควิด

โรงงานสมุทรสาคร 233 แห่งพบพนักงานติดโควิด ตรวจ ATK พบผลบวก-กลุ่มเสี่ยง 5,845 คน ส่งเข้า FAI หวั่นกระทบการผลิตทั้งระบบ เพราะเจอทั้งโรงงานขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก จี้รัฐบาลเร่งหาวัคซีนมาให้

วันที่ 14 สิงหาคม 2564 รายงานข่าวจากสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ทางจังหวัดได้รายงานความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมและการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อแยกกักตัวผู้ติดเขื้อโควิด-19 ของสถานประกอบการ (Factory Accommodation Isolation – FAI ) ว่า ที่ผ่านมามีโรงงานดำเนินการจัดตั้ง FAI ทั้งหมด 1,581 แห่ง มีจำนวนเตียง 44,733 เตียง

ปรากฎว่า ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2564 มีโรงงานรับผู้ถูกกักตัว 233 แห่ง ใช้เตียงไป 3,512 เตียง รวมมีเตียงที่เหลือพร้อมใช้งาน 41,221 เตียง ทั้งนี้ มียอดสะสมผู้ถูกกักตัวเข้ามาใช้งานตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม ถึง 13 สิงหาคม 2564 มียอดผู้เข้ามากักตัว 5,845 ราย มียอดผู้กักตัวออกไป 2,333 ราย มียอดผู้มากักตัวคงเหลือ 3,512 คน

แหล่งข่าวจากจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผย ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โรงงานส่วนใหญ่ลงทุนหาซื้อชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตัวเอง ( Antigen Test Kits -ATK ) มาใช้ และจะแยกพนักงานที่ผลตรวจเป็นบวกมาเข้า FAI ซึ่งขณะนี้พบว่า มีโรงงานทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก จำนวน 233 แห่ง และมีในทุกอุตสาหกรรม โดยพบพนักงานที่มีผลเป็นบวก และกลุ่มเสี่ยงสูงถึง 5,845 คน ซึ่งสถานการณ์นี้น่าเป็นห่วงมาก เกรงส่งผลกระทบต่อการผลิตของแต่ละโรงงาน จึงอยากให้รัฐบาลต้องเร่งจัดหาวัคซีนมาให้พนักงาน

“แม้ชุดตรวจ ATK บางครั้งอาจจะมีผลคลาดเคลื่อนกว่าการตรวจด้วยวิธี RT-PCR แต่ไม่ได้คลาดเคลื่อนมากนัก เช่น หากพนักงานในแผนก 20 คน ผลเป็นบวก 15 คน ที่เหลืออีก 5 คนผลเป็นลบ ต้องนำ 5 คนนี้ไปตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งส่วนใหญ่ผล 5 คนนี้ออกมาเป็นบวก เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่ทำงานด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม จำนวนตัวเลขพนักงานผลบวกเหล่านี้ ทางจังหวัดไม่ได้นำไปรวมในตารางรายวัน แต่แนวโน้มตัวเลขที่สูงขึ้นหวั่นเกรงผลกระทบต่อการภาคการผลิต

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 13 สิงหาคม 2564 เวลา 24.00 น. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 1,847 ราย แบ่งเป็น 1.ผู้ติดเชื้อจากการค้นหาเชิงรุก 427 ราย 2.โรงพยาบาล 1,420 ราย แบ่งเป็นในจังหวัด 1,090 ราย และนอกจังหวัด 330 ราย เสียชีวิต 11 ราย รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสม 67,207 ราย ขณะนี้มีผู้ป่วยอยู่ระหว่างรักษา 19,620 ราย รักษาหาย 30,037 ราย