เปิดแนวรบ “ไทยคูน เวิลด์ไวด์ กรุ๊ป” สกัดโควิด ใน 16 โรงงาน จ.ระยอง

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ได้ทวีความรุนแรง สร้างความเสียหายต่อทุกภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะการระบาดที่แพร่กระจายไปสู่คลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกสำคัญของประเทศ

แทบจะไม่มีโรงไหนรอด ไม่พบผู้ติดเชื้อ แต่มีบางโรงงานมีพนักงานเกือบพันคน แต่พบผู้ติดเชื้อเพียง 4 คน และสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี

หนึ่งในนั้นคือ โรงงานผลิตและจำหน่ายเหล็กลวด เหล็กเส้น ของบริษัท ไทยคูน เวิลด์ไวด์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TYCN อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง หนึ่งในผู้ประกอบการผลิตเหล็กยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย

ที่ตั้งแต่มีการระบาดของโควิดรอบแรกจนถึงปัจจุบันพบพนักงานติดเชื้อโควิดเพียง 4 ราย เนื่องจากมีการวางมาตรการควบคุมได้อย่างเข้มงวด

“นางสาวอรุณ อาสินวิริยะ” ผู้จัดการอาวุโสส่วนบริหาร บริษัท ไทยคูน เวิลด์ไวด์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน ) หรือ TYCN กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบแรกจนถึงปัจจุบัน บริษัทได้มีการวางแผนมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไว้อย่างเข้มงวด ทำให้พบพนักงานติดเชื้อเพียง 4 ราย

จากจำนวนพนักงานทั้งหมด 850 คน แบ่งออกเป็น 4 สัญชาติ ได้แก่ ไทย ไต้หวัน จีน กัมพูชา นอกจากนี้ ยังมีผู้รับเหมาอีกประมาณ 96 คน

บริษัทมีพื้นที่ 300 กว่าไร่ มีโรงงานทั้งหมด 16 โรง ซึ่งมีทั้งพนักงานที่เดินทางไป-กลับ และพักอยู่ในหอพักของโรงงาน

“พนักงานที่เดินทางไป-กลับส่วนใหญ่อาศัยอยู่ต่างอำเภอในจังหวัดระยอง อาทิ อำเภอเมือง อำเภอบ้านค่าย อำเภอปลวกแดง อำเภอบ้านฉาง ส่วนที่เดินทางข้ามจังหวัดมีน้อยมาก

ส่วนพนักงานที่พักในหอพักส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานกัมพูชา มีอยู่ประมาณ 100 กว่าคน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีคนคอยควบคุมตลอด”

สำหรับมาตรการต่าง ๆ ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดรอบแรก เมื่อเข้ามาถึงโรงงานจะมีการตรวจวัดอุณหภูมิทุกครั้ง มีการตั้งอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อล้างพื้นรองเท้า เอกสารต่าง ๆ พยายามให้ส่งผ่านทางอีเมล์เพื่อลดการสัมผัส

ขณะเดียวกัน เอกสารที่จำเป็นต้องตรวจสอบ ต้องเซ็นอนุมัติ จะมีการกำหนดพนักงานที่มาส่งเอกสารต้องมีการสวมใส่ถุงมือทุกคน ซึ่งแต่ละโรงจะมีการทำตะกร้าด้านหน้าไว้รับ-ส่งเอกสาร รวมถึงมีตู้ฆ่าเชื้อก่อนที่จะนำเอกสารมาส่งต่อให้แผนกที่เกี่ยวข้อง

พนักงานทุกคนจะต้องมีการเขียนไทม์ไลน์ส่งทุก 7 วัน งดการทำงานข้ามแผนก

การรับประทานอาหารจะมีโรงอาหารกลางให้พนักงานแต่ละโรงงานไปซื้อกลับมารับประทานที่โรงงานของตัวเอง ไม่ให้นั่งรับประทานที่โรงอาหาร และกำหนดเวลาพักของพนักงานแต่ละโรงงานไม่ให้ตรงกัน

โดยแต่ละโรงงานมีการจัดสถานที่ให้พนักงานนั่งรับประทานอาหาร โดยกำหนดชื่อไว้ชัดเจนว่า ที่ของนาย A นาย B รวมถึงการดื่มน้ำบริษัทมีการตั้งคูลเลอร์น้ำดื่มไว้ให้ ทุกคนต้องมีแก้วน้ำเป็นของตนเอง

ส่วนห้องน้ำมีการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อทำความสะอาดวันละหลายครั้ง และมีการจำกัดการใช้ห้องน้ำ สมุมติ 1 แผนก มีห้องน้ำ 4 ห้อง มีการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม เช่น กลุ่ม A เข้าห้องน้ำที่ 1

และห้องที่ 2 ส่วนกลุ่ม B เข้าห้องน้ำที่ 3 และห้องน้ำที่ 4 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด เพราะที่ผ่านมาห้องน้ำถือว่าเป็นสถานที่แพร่เชื้อเร็วมาก หากกลุ่ม A ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่ม B ก็สามารถมาทำงานแทนได้

สำหรับบุคคลภายนอกที่เข้ามาติดต่อ หรือผู้รับเหมาก่อสร้างที่เข้ามาทำงานในบริษัท ได้มีการเช่าตู้สุขาเคลื่อนที่ไว้รองรับอีกด้วย เพื่อไม่ให้มาใช้ปะปนกับพนักงานภายในบริษัท

ทั้งนี้ ในออฟฟิศจะมีการฉีดฆ่าเชื้อวันเว้นวัน งดคนภายนอกเข้ามาในออฟฟิศ ซึ่งเมื่อก่อนบริษัทลูกค้าเข้ามารับเช็คที่บริษัท ตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็นการส่งไปที่บริษัทแทน และตามถนนทางเดินต่าง ๆ จะพ่นยาฆ่าเชื้อทุกวัน

สำหรับพนักงานแต่ละคนเมื่อกลับบ้านแล้ว เพื่อป้องกันให้ตัวเองปลอดภัย ทางบริษัทจะให้ข้อมูลความรู้และให้ตระหนักถึงผลกระทบ หากพนักงานไม่มีวินัยและเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิดขึ้นมา

โรงงานก็ต้องหยุดงานจะขาดรายได้ คนในครอบครัวกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง ถ้าไม่อยากให้เกิดปัญหาทุกคนต้องดูแลตัวเอง

ที่ผ่านมาเพื่อเป็นการป้องกัน ทางบริษัทได้ใช้เงินลงทุนในด้านสุขอนามัยมีมูลค่าค่อนข้างสูง เพราะเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เช่น การตรวจหาเชื้อพนักงานทั้งหมด 2 รอบก็ประมาณ 1 ล้านกว่าบาท หน้ากากอนามัยแจกให้ทุกวันประมาณ 4 แสนบาท

นอกจากนี้ ก็มีการจองวัคซีนซิโนฟาร์มมาฉีดให้กับพนักงาน ปัจจุบันมีพนักงานที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วประมาณ 400 คน ส่วนพนักงานที่เหลือก็ได้มีการจองฉีดในรอบถัดไป

ทั้งนี้ บริษัทจะมีการเตรียมความพร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามไว้ภายในโรงงานประมาณ 10% หรือเบื้องต้นอาจจะประมาณ 50 เตียง ปัจจุบันได้มีการจองเต็นท์ไว้แล้ว

หากเกิดเหตุการณ์พบพนักงานติดเชื้อก็สามารถแยกกักตัวได้ทันที แต่ปัจจุบันการติดเชื้อของบริษัทตอนนี้ก็ยังน้อยอยู่ และต้องดูสถานการณ์วันต่อวัน

สำหรับจุดอ่อนหรือจุดรั่วไหลที่ทำให้มีการแพร่ระบาดในโรงงานหลาย ๆ แห่ง จากที่สังเกตจะเห็นได้ว่าบางทีไม่ได้มีมาตรการเหมือนของเรา

เช่น ห้องน้ำก็ยังใช้ร่วมกัน หรือการรับประทานอาหารมีโอกาสติดกันได้ แต่เราไม่ประมาทและค่อยดูจุดต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงมาตรการต่าง ๆ ให้อย่างเข้มงวด