โอท็อปแสนล้านวูบวอนรัฐยืดหนี้-หาซอฟต์โลนพยุง

โควิด-19 ถล่มยอดขายสินค้า “โอท็อป” 100,000 ล้านวูบ เหลือไม่ถึง 1,000 ล้านบาท วอนรัฐยืดหนี้ หาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำหนุนสภาพคล่องต่อลมหายใจผู้ประกอบการรากหญ้าดำรงชีพในครัวเรือน พร้อมเร่งส่งเสริมอาชีพใหม่ทดแทน

นายพงศ์สวัสดิ์ ยอดสุรางค์ ประธานเครือข่ายโอท็อปไทย ประธานเครือข่ายโอท็อปภาคใต้ และประธานคณะกรรมการเครือข่ายโอท็อป (OTOP) จังหวัดสงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ปี 2564 ส่งผลกระทบอย่างหนักมากต่อยอดขายสินค้าโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 มาถึงปัจจุบัน

ยอดขายหายไปประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ จากยอดขายรวมสินค้าผลิตภัณฑ์โอท็อปทั้งปีทั่วประเทศประมาณ 100,000 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 1,000 ล้านบาท เนื่องจากไม่สามารถจำหน่ายสินค้าในช่องทางการตลาดต่าง ๆ เช่น งานอีเวนต์ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน ตลาดประชารัฐ ร้านค้า

“สำหรับผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อปที่ขายได้เป็นสินค้าจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ข้าวสาร อาหาร ปลาแห้ง ปลาเค็ม กุ้ง อาหารทะเลแปรรูป ส่วนสินค้าประเภทที่ไม่จำเป็นและฟุ่มเฟือย

แฟชั่น เสื้อผ้า ขนมเบเกอรี่ ขนมหวาน อาหารอื่น ๆ ไม่สามารถขายได้ จะชะลอการซื้อไว้ก่อน เพราะว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคคนชั้นกลางกลับอ่อนลง ส่วนพนักงานประจำพวกบริษัทก็เกิดความไม่มั่นคงในงานที่ทำ ต้องเก็บเงินไว้ก่อน ยังเหลือแต่ข้าราชการที่มีเงินประจำ”

นายพงศ์สวัสดิ์กล่าวต่อไปว่า ผลประกอบการช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ของผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อป ได้รับความเสียหาย ขาดเงินทุนหมุนเวียนที่จะนำมาต่อยอดเพื่อดำเนินธุรกิจสินค้า

และมีกำไรมาดำรงชีพในครัวเรือนรวมประมาณ40,000-50,000 ล้านบาท เมื่อรายได้ส่วนนี้ขาดหายไป กระทบอย่างมาก เพราะเงินทุนที่นำมาลงทุนส่วนใหญ่เป็นการกู้เงิน ต้องมีต้นทุนค่าดอกเบี้ยด้วย

“ตามปกติผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์โอท็อปจะมีเงินทุนสำรองเพียงประมาณ 3 เดือน แต่เมื่อมาประสบปัญหาลากยาวนานเกิน 3 เดือน ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์โอท็อปที่มีสายป่านสั้นขาดลงทันที

เพราะประสบปัญหามาแล้วกว่า 8 เดือน และยังมีแนวโน้มที่ไม่สิ้นสุดในระยะอันใกล้ จึงหมดหนทางในที่สุด เนื่องจากผู้ประกอบการโอท็อปส่วนมากเป็นคนรากหญ้า เป็นเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

สถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวม ปรากฏว่าผู้ประกอบการโอท็อปประสบภาวะขาดทุน ไม่มีรายได้ ไม่มีงานทำ และทางรัฐบาลเองก็ไม่ได้ดูแลกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อปแต่อย่างใด”

นายพงศ์สวัสดิ์กล่าวต่อไปว่า เครือข่ายโอท็อปไทยต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน แบ่งเป็น 2 ส่วน 1.โครงการเร่งด่วน ได้แก่

1) เร่งเข้ามาส่งเสริมอาชีพใหม่ขนาดเล็กที่สอดรับสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มผู้ผลิต 2) ขอให้ทุกธนาคารปรับโครงสร้างหนี้ โดยยืดระยะเวลาการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยที่มีอยู่ออกไป

3) ขอความอนุเคราะห์จากธนาคารของรัฐ หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไม่เกินร้อยละ 3 ให้เป็นวงเงินค่าใช้จ่ายในครัวเรือนรายละ 200,000-300,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระคืน 3-5 ปี

2.โครงการระยะฟื้นฟูกิจการผลิตภัณฑ์โอท็อป ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง จำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูผลิตภัณฑ์โอท็อปให้กลับคืนมา โดยให้วงเงินรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 3 มีระยะเวลาชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 10 ปี

นายพงศ์สวัสดิ์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันยอมรับว่าผู้ประกอบการสินค้าโอท็อปส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์ เนื่องจากยังขาดความรู้ความเข้าใจ

และปัจจุบันตลาดสินค้าออนไลน์มีการแข่งขันกันสูง ขณะเดียวกันผู้บริโภคบางส่วนยังนิยมมาดู และจับต้องสินค้าด้วยตัวเองผ่านหน้าร้าน การจัดงานกิจกรรม แต่สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเกือบ 2 ปี ทำให้การจัดงานต่าง ๆ ไม่สามารถทำได้

“ก่อนเกิดโควิดตลาดขนาดใหญ่ที่สร้างยอดขายสินค้าโอท็อปได้มาก คือ การจัดกิจกรรมออกบูทที่ศูนย์ประชุมต่าง ๆ เช่น เมืองทองธานี กรุงเทพฯ และศูนย์ประชุมนานาชาติของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จ.สงขลา ตอนนี้ไม่สามารถจัดได้”