จีนหนุน “เชียงของ” ฮับโลจิสติกส์เชื่อมคุนหมิง เร่งพัฒนารถไฟ-ถนน

จีนหนุน ”ด่านเชียงของ” เป็น ”ฮับโลจิสติกส์” และเขตศุลกากรพิเศษพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน เชื่อมจีนผ่านรถไฟที่ด่านบ่อหาน- ทางด่วน R3A  ลดเวลาเดินทางเหลือ 1 ชม.ชี้มูลค่าสินค้าผ่านแดน’มณฑลยูนนาน’โตก้าวกระโดดคาดยอดปี 64 ทะลุ 1,500 ล้านหยวน

วันที่ 1 กันยายน 2564 อ.ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ  หัวหน้าศูนย์ China Intelligence Center วิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในการสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “เขตศุลกากรพิเศษพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนมณฑลยูนนานและรถไฟลาว-จีน โอกาสของภาคเหนือและอำเภอเชียงของสู่การเชื่อมโยงเศรษฐกิจอาเซียน-จีน” ที่จัดขึ้นวันนี้ (1 กันยายน2564) ว่า ประเทศจีนให้ความสำคัญกับรูปแบบการค้าแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน หรือ Cross Border E-Commerce อย่างมาก โดยให้สิทธิพิเศษการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน ซึ่งถือว่าภาคเหนือของประเทศไทยมีความได้เปรียบสูง เนื่องจากปัจจุบันเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่มีคนจีนพำนักอยู่ประมาณ 2 หมื่นคน ส่วนใหญ่เป็น KOL (Key Opinion Leader) หรือ Influencer มีผู้ติดตามมากกว่าตั้งแต่ 1 แสน – 1 ล้านคน จะเป็นส่วนช่วยส่งเสริมสินค้าไทยทำตลาดที่จีนได้สูงมาก สามารถส่งสินค้าไปจีนผ่านชายแดนทางด่านเชียงของ จังหวัดเชียงรายโดยใช้เส้น R3A

ทั้งนี้ ในมณฑลยูนนานมีด่านการค้าข้ามแดน 3 แห่งที่เมืองเต๋อหง สนามบินนานาชาติคุนหมิง และด่านบ่อหาน ชายแดนลาวและจีน ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งการส่งออกสินค้าไทยในอนาคตจึงมุ่งไปที่ด่านบ่อหาน โดยสามารถขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟหรือทางถนนตรงไปยังศูนย์ปลอดภาษีพิเศษที่คุนหมิงได้ และในอนาคต ไทยยังสามารถขยายโอกาสไปยังด่านด่านผิงเสียง และมณฑลไห่หนานได้ โดยมีเป้าหมายจะเชื่อมโยงผ่านทางรถไฟไปยังด่านอารซันโข่ว ทางตะวันตกของจีน ไปสู่ยุโรปได้  

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อำเภอเชียงของได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลไทยให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border e-Commerce: CBEC)  โดยนำสินค้าผ่านเส้นทาง R3A (ที่เชื่อมระหว่าง จีน สปป.ลาว และไทย ที่ในอนาคตจะมีการสร้างทางด่วน ซึ่งร่นระยะทางได้มาก จากปัจจุบันใช้เส้นทางวิ่งรถ 220 กิโลเมตร ถ้ามีทางด่วนจะเหลือ 180 กิโลเมตรใช้ระยะเวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมงสามารถส่งสินค้าสู่คุนหมิงได้ โดยด่านศุลกากรเชียงของเป็นจุดที่สำคัญในการส่งสินค้าของไทยไปสู่ตลาดจีน เชื่อมต่อไปสู่พื้นที่จีนตอนเหนือ และยุโรป ในอนาคต” 

Mr.Liw Yang ผู้อำนวยการเขตปลอดภาษีพิเศษคุนหมิงครบวงจร มณฑลยูนนาน ประเทศจีน กล่าวว่า พื้นที่เขตปลอดภาษีตั้งอยู่บริเวณเดียวกับสนามบินนานาชาติคุนหมิง ตั้งขึ้นเมื่อปี 2018 แห่งแรกของมณฑลยูนนาน เป็นพื้นที่ Pilot Free Zone Area ที่จะรองรับสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออกในระบบ Cross Border E-Commerce เพื่อให้เกิดเพิ่มมูลค่าการค้า พร้อมอำนวยความสะดวก ซึ่งในพื้นที่จะมีทั้งการบริการด้านสินค้าแปรรูป โลจิสติกส์ และการบริการ 

โดยในปี 2020 มีสินค้าทั้งหมด 9.16 ล้านชิ้น มูลค่ารวม  900 ล้านหยวน และในครึ่งปี 2021 นี้ มีสินค้าเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวประมาณ 8 ล้านชิ้น คิดเป็นมูลค่า 700 ล้านหยวน คาดว่าทั้งปีจะมีสินค้าทั้งหมด 15 ล้านชิ้นรวมมูลค่า  1,500 ล้านหยวน  นอกจากนั้นยังมีการให้บริการด้าน Cargo flight โดยประเทศไทยมีการบินเชื่อม 18 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

นอกจากนี้ ทางจีนยังสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางบกจากยูนนานไปที่เวียดนาม ไปสปป.ลาว บ่อหาน บ่อเต็น และไปยังเมียนมา ซึ่งถือว่าไทยเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในอาเซียน โดยพบว่าสินค้าไทยได้รับความนิยมจากจีนมาก และพร้อมจะสนับสนุนให้สินค้าไทยเข้าสู่เขตปลอดภาษีเพิ่มขึ้น  

ทั้งนี้ ได้กำหนดวงเงินต่อธุรกรรมไม่เกิน 5,000 หยวนต่อครั้ง หรือ 25,000 หยวนต่อปี โดยต้องเป็น  Positive Lists for CBEC อาทิ ผลไม้อบแห้ง ชา กาแฟ เครื่องสำอาง ซึ่งจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ 70 ของอัตราภาษีปกติ ถือว่าการซื้อขายสินค้าที่เป็น SMEs ไปสู่จีนทำได้ง่ายขึ้น  เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ระบบออนไลน์มากขึ้น และเส้นทางการขนส่งเอื้อต่อการค้ามากขึ้น เห็นด้วยที่ไทยจะทำให้พื้นที่เชียงของให้เป็นเขตอิเลคทอนิกส์การค้าชายแดนจะเอื้อต่อการค้าชายร่วมกันได้

Mr.Zhoa Wen  ผู้แทน Investment Promotion and Cooperation Bureau of Kunming Comprehensive CBEC Free Zone Management Committee, กระทรวงพาณิชย์แห่งมณฑลยูนนาน กล่าวว่า การค้าผ่านระบบ E-Commerce ของยูนนานในปี 2019   มีมูลค่าการค้า 1.8 ล้านล้านหยวน  เติบโต 2 เท่าทุกปี ในปี 2020 มูลค่าส่งออกนำเข้ามากกว่า 2,450 ล้านรายการ เพิ่ม 60% ในอนาคตทางกระทรวงฯ จะเพิ่มส่วนของ B2B เพิ่มขึ้น  และทางรัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับเขตเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคเชื่อมกับเศรษฐกิจเอเชียใต้ ผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานได้แก่ รถไฟความเร็วสูง การขนส่งสินค้าทางแม่น้ำโขง และทางอากาศ

Mr. Huang Zhonghua Assistant Director of the Provincial Free Trade Office, กระทรวงพาณิชย์แห่งมณฑลยูนนาน กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการนำนวัตกรรมทางการเงินมาใช้ เพื่อให้สอดรับกับการเติบโตของการค้าแบบ CBEC ได้แก่การส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น ทำให้การค้าขายสะดวกรวดเร็วขึ้น ต้นทุนถูกลง  โดยเฉพาะเงินสกุลบาทและหยวน  มี 9 ธนาคารที่สามารถทำธุรกรรมระหว่างกันได้  

สำหรับโครงการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน Cross Border E-Commerce อยู่ภายใต้ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจข้ามพรมแดนในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง-ล้านช้าง ที่ผลักดันให้ด่านเชียงของเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน  และ ยกระดับการค้าสู่พื้นที่จีนตอนเหนือ และยุโรป  

โดยล่าสุดรัฐบาลได้อนุมัติโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (ข้ามแม่น้ำโขง) แห่งที่ 4 ประชิดด่านพรมแดนเชียงของ รองรับกิจกรรมการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศบนเส้นทางสาย R3A ให้เป็นสถานีปรับเปลี่ยนการขนส่งระหว่างประเทศสู่ภายในประเทศ 

รวมถึงเพื่อเชื่อมต่อระบบการขนส่งทางถนนไปสู่ทางรถไฟ ซึ่งโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายฯ ระยะที่ 1 จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2565 ขณะที่โครงการระยะที่ 2 ซึ่งครม.เพิ่งเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 เมษายน2564 เป็นการสร้างอาคารเปลี่ยนถ่ายและบรรจุสินค้า และลานกองเก็บตู้สินค้า ที่จะรองรับเส้นทางรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย คาดจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568