โรงงานอาหารทะเลใต้วูบโควิด TU-TC-โชติวัฒน์เช่า 20 โรงแรมซีลคนงาน

4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังอ่วมโควิด แพร่ในชุมชนหนัก กำลังซื้อลด ธุรกิจปิดกิจการ พืชผลเกษตร ทุเรียน-มังคุด-ลองกอง ราคาดิ่ง เล็งเสนอโครงการ “ลองกอง” แลกกับ “ลำไย”โรงงานอาหารทะเลใต้วูบโควิด TU-TC-โชติวัฒน์เช่า 20 รร.ซีลคนงาน

ภาคเหนือด้านส่งออกชายแดนไทย-มาเลย์ชะงักขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ด้านโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ “สงขลาแคนนิ่ง-ทรอปิคอลแคนนิ่ง-ห้องเย็นโชติวัฒน์” แก้เกมโควิด หันเช่ายกโรงแรมให้พนักงานอยู่ ไม่ให้กระทบออร์เดอร์ส่งออก

นายกวิศพงศ์ สิริธนนนท์สกุล ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดฝั่งอ่าวไทย เปิดเผย“ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์แพร่ระบาดของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลายังสูงอยู่ และถูกจัดอยู่ในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ประชาชนมีกำลังซื้อน้อยลง

ขณะที่ราคาผลผลิตทางการเกษตรราคาลดลง ทั้งยางพารา ทุเรียน มังคุด ลองกอง

ส่วนการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย มีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์มาต่อเนื่องเช่นเดียวกับการขนส่งทางเรือ ทำให้สินค้าบางส่วนไม่สามารถส่งออกได้

“สาเหตุที่ผู้ติดเชื้อโควิดยังสูงวันละหลายร้อยคนส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อจากชุมชน เพราะพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนบางกลุ่มยังคงจับกลุ่มกัน ไม่ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข และหลายคนไม่ยอมฉีดวัคซีน ขณะที่การติดเชื้อภายในโรงงานดีขึ้น โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ได้ใช้วิธีการไปเช่าโรงแรมให้พนักงานอยู่ไม่ให้กลับบ้าน มีรถรับส่ง เพื่อไม่ให้กระทบออร์เดอร์ที่มีอยู่”นายกวิศพงศ์กล่าวและว่า

ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจที่เดินไปได้ค่อนข้างจะดีในพื้นที่ คือของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน สินค้าบริโภคอุปโภค ข้าวสาร อาหาร อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง น้ำมันพืช เป็นต้น

ส่วนภาคเกษตรสินค้าที่ขายได้ แต่ราคาไม่ดีมากนัก เช่น ทุเรียน เป็นต้น ส่วนลองกองยังไม่มีผู้รับซื้อ จึงมีนโยบายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส กับผลไม้ลำไยของภาคเหนือ เป็นนโยบายช่วยชาติ

แหล่งข่าวจากกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภาวะเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ผู้ประกอบการธุรกิจท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย และธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนัก มีโรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร ร้านค้าหลายราย ฯลฯ ต้องปิดตัวลง

รวมถึงแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซียหลายหมื่นคนเช่น ทำงานร้านอาหารต้มยำกุ้ง กรีดยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน ฯลฯ

ขณะที่ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจด้านเกษตร เช่น ทุเรียน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยเฉพาะผลผลิตทุเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกผลผลิตทีหลังจากจังหวัดอื่น ๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวผลผลิต และจะไปสิ้นสุดประมาณเดือนตุลาคม ราคาเคลื่อนไหวประมาณ 80-100 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วนเกษตรกรชาวสวนยางพารา จะแปรรูปผลิตเป็นยางก้อนถ้วยประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ น้ำยางสดประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ และยางรมควันประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปาล์มน้ำมันปริมาณน้อยในปีนี้

“สำหรับการแพร่ระบาดของโควิดในชุมชนที่ส่งผลกระทบกับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะที่ผลิตและส่งออกอาหารทะเลกระป๋อง เช่น บริษัทสงขลาแคนนิ่ง จำกัด (มหาชน) ในเครือไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป(TU), บริษัท ทรอปิคอลแคนนิ่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน)(TC), บริษัท ห้องเย็นโชติวัฒน์หาดใหญ่ จำกัด (มหาชน)ได้แก้ปัญหาโดยเข้าไปเช่าเหมาโรงแรมให้พนักงานอยู่ โดยไม่ต้องกลับบ้าน เพื่อความปลอดภัยอย่างน้อย 20 โรงแรมในหาดใหญ่เช่น โรงแรมลีการ์เด้นท์ เป็นต้น”

“รูปแบบการค้าชายแดนเปลี่ยนไป ทางออกเพื่อให้ธุรกิจการค้า โรงแรม ร้านอาหาร ภายใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีเงินหมุนเวียน การอนุญาตให้จัดงานประชุม สัมมนาในพื้นที่ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและรัฐบาลปลดล็อกแล้ว” แหล่งข่าวระบุ

นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการ กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ สถาบันเกษตรกรแปรรูปผลิตส่งออกยางรายใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าภาพรวมเศรษฐกิจ 3 จังหวัดภาคใต้ ปัจจุบันภาคการเกษตรยังดำเนินธุรกิจไปได้ ทั้งทุเรียน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน แต่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวการค้าการค้าชายแดนได้รับผลกระทบทั้งหมด

“ตอนนี้ประเทศมาเลเซีย มีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีคนใหม่ สถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมภายในมาเลเซีย เริ่มมีการเดินเครื่อง โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมยางพารา ส่งผลให้ 3 จังหวัดภาคใต้ ยางพาราเริ่มส่งออกไปบางวันละหลายร้อยรถพ่วง

โดยเฉพาะยางก้อนถ้วยที่มีความต้องการสูงมาก และได้ราคาอยู่ที่ 59 บาท/กก. ขณะที่ราคาใน 3 จังหวัดภาคใต้ อยู่ที่ 48-49 บาท/กก. ส่วนน้ำยางสด ราคากว่า 50 บาท/กก. ปาล์มน้ำมันกว่า 6 บาท/กก. ทุเรียนกว่า 100 บาท/กก.”

นายศิริชัย ปิติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีธุรกิจที่ยังสามารถสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ ได้แก่ อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ซึ่ง จ.ปัตตานี เป็นแหล่งอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลรายใหญ่และธุรกิจในภาคเกษตร แม้ว่าราคาผลผลิตจะไม่ดีมากนัก เช่น ทุเรียน มังคุดเงาะ และลองกอง ผลผลิตใกล้จะออกมายังไม่ทราบราคา

ส่วนยางพาราเดินไปได้แม้ว่าราคาจะไม่สูง แต่ไม่ต่ำมาก ส่วนปาล์มน้ำมันมีผลผลิตเพียงเล็กน้อย แม้ว่าราคาจะอยู่ในเกณฑ์ดี ในส่วนภาพรวมการค้าและธุรกิจอื่น ๆ ก็ต้องติดตามประเมินผลภายหลังจากการปลดล็อกโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564

นายกฤษณ์ เชาว์บวร ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกลุ่มภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบไปทุกกลุ่ม สถานประกอบการบางธุรกิจต้องปิดกิจการลง แต่ในภาคเกษตรยังมีรายได้จากการปลูกพืชผัก ผลไม้ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า ได้รับทราบปัญหาในส่วนของผลไม้ เช่น อุปสรรคการส่งออกไปจำหน่ายในพื้นที่ต่าง ๆ จากมาตรการต่าง ๆ การป้องกันโควิด-19 ที่หลายพื้นที่ปิดการเข้า-ออก ระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศและระหว่างประเทศเกิดความขัดข้อง การขนส่งทางน้ำ ท่าเรือปลายทางปิดทำการหลายแห่งสินค้าจึงตกค้างอยู่บนเรือ ทำให้การหมุนเวียนตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน

อีกทั้งสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศจีนทำให้การใช้จ่ายของคนจีนลดลงเศรษฐกิจตกต่ำ โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปแช่แข็งทุเรียนในประเทศ ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้อย่างเต็มที่

“จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นช่วงที่มีผลผลิตทางการเกษตรออกมาสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทุเรียน ที่ในปีนี้มีปริมาณกว่า 75,000 ตัน”