ธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย นำ “กะตะกรุ๊ป” ฝ่าวิกฤตหนักรอบ 40 ปี

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ขึ้นสู่จุดวิกฤตในจังหวัดภูเก็ต ด้วยยอดผู้ติดเชื้อคนไทย และแรงงานต่างด้าวภายในจังหวัดทะลุวันละกว่า 200 คน ต่อเนื่องมาเกือบ 2 สัปดาห์

ขณะที่คนต่างชาติที่บินเข้ามาพบติดเชื้อสะสมเพียง 88 คน แต่สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความสั่นคลอนในการเดินหน้า “โครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ซึ่งผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมในจังหวัดภูเก็ต พยายามผลักดันกันมา เพื่อให้เป็นโครงการนำร่องในการเปิดประเทศไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย” อดีตประธานคณะกรรมาธิการท่องเที่ยว วุฒิสภา และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดภูเก็ต ซึ่งนั่งตำแหน่งรองประธานโรงแรมในเครือกะตะกรุ๊ป 8 แห่ง ใน 4 จังหวัดภาคใต้

ได้สะท้อนสถานการณ์และมุมมองในวันที่มรสุมโควิดถาโถมเข้ามาระลอกแล้วระลอกเล่า ถือเป็นวิกฤตหนักที่สุดตั้งแต่ดำเนินธุรกิจโรงแรมมาเกือบ 40 ปี

วิกฤตหนักสุดในรอบ 40 ปี

“คุณธันยรัศม์” เล่าว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่หนักที่สุดในรอบเกือบ40 ปี ที่ทำธุรกิจโรงแรมมา ปัจจุบันเครือกะตะกรุ๊ปมีโรงแรมในเครือทั้งหมด 8 แห่ง ตั้งอยู่ใน 4 จังหวัดภาคใต้

แบ่งเป็นจังหวัดภูเก็ต 5 โรงแรม ได้แก่ 1.โรงแรมบียอนด์ รีสอร์ท กะตะ มีห้องพักจำนวน 275 ห้อง 2.โรงแรมบียอนด์ รีสอร์ท กะรน มี 81 ห้องพัก 3.โรงแรมภูเก็ต ออร์คิด รีสอร์ท

ตั้งอยู่หาดกะรน มี 525 ห้องพัก 4.โรงแรมประมุกโก้ ตั้งอยู่หาดกะตะ มี 512 ห้องพัก5.โรงแรมบียอนด์ รีสอร์ท ป่าตอง มี 161 ห้องพัก

จังหวัดพังงา 1 แห่ง คือ โรงแรมบียอน ด์รีสอร์ท เขาหลัก มี 177 ห้องพัก, จังหวัดกระบี่ 1 แห่ง คือ โรงแรมบียอนด์ รีสอร์ท กระบี่ ตั้งอยู่หาดคลองม่วง มี 211 ห้องพัก และโรงแรมกานดา บูรี สมุย จ.สุราษฎร์ธานี มี 183 ห้องพัก รวมห้องพักทั้งหมดประมาณ 2,000 กว่าห้อง

ตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรก เราได้เริ่มปรับตัว ปิดให้บริการบางโรงแรม เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ทำให้กระทบต่อรายได้ลดลงเยอะมาก แถมช่วงปลายปี 2562 บริษัทเอเย่นต์ที่พาลูกค้ามาใช้บริการเข้าพักแล้วเราเก็บหนี้ไม่ได้ เนื่องจากบริษัทเอเย่นต์บางรายปิดหนีหนี้ไปเลย รายได้มีแค่ตัวเลข แต่ไม่เห็นเม็ดเงิน

โรงแรม 8 แห่งต้องแบกรับค่าใช้จ่าย 200 กว่าล้านต่อปี เราเริ่มปรับลดพนักงานในเครือจากทั้งหมด 2,000 กว่าคนลงบางส่วน โดยทยอยเลิกจ้าง ส่วนพนักงานที่เหลือต้องจ้างเป็นรายวันไม่สามารถให้เงินเดือนเต็มได้โรงแรมที่ปิดให้บริการยังมีการจ้างพนักงานเพื่อดูแลทรัพย์สิน และเตรียมรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต

จริง ๆ ก่อนเกิดโควิด ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มไม่ดีอยู่แล้ว ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมรายได้ลดลง แต่ยังมีภาระดอกเบี้ยสถาบันการเงินจำนวนมาก

ช่วงโรคโควิดระบาดหนักที่ผ่านมาไม่มีโรงแรมไหนมีรายได้ โดยเฉพาะโรงแรม 3-4 ดาว น่าเป็นห่วง เพราะที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี บางโรงแรมต้องปิดชั่วคราว ให้พนักงานออก เพราะพยุงกิจการต่อไปไม่ไหว เปิดให้บริการไปก็ขาดทุน เป็นภาวะที่ลำบากน่าเป็นห่วง

“ในชีวิตทำธุรกิจโรงแรมมาตั้งแต่รุ่นบุกเบิกในภูเก็ต ผ่านประสบการณ์มาตั้งแต่คลื่นยักษ์สึนามิ โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส ยังไม่หนักหนาเท่ากับ 2 ปีนี้ โรงแรมไม่มีรายได้ เป็นวิกฤตที่หนักสุดในรอบ 40 ปี และหนักกว่าสึนามิ 10 เท่า”

ยื้อ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” รอ Q4

“คุณธันยรัศม์” บอกต่อไปว่า การที่รัฐบาลประกาศเปิดเมือง 120 วัน โดยมีภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง ภายใต้โครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” เริ่มเดินโครงการวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โครงการนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่สุด ภาคเอกชนกับประชาชนสามัคคีกันผลักดันขึ้นมา ตอนแรกคิดว่าจะเป็นโอกาสให้เรามีรายได้ ซึ่งถ้าไม่ทำก็ไม่มีจุดเริ่มต้น

เรามีโรงแรมเข้าร่วมโครงการ 2 แห่ง ได้แก่ 1.โรงแรมบียอนด์ รีสอร์ท กะตะ 2.โรงแรมบียอนด์ รีสอร์ท กะรน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการบ้าง แต่เมื่อเทียบภาพรวมระหว่างเปอร์เซ็นต์ห้องพักกับรายจ่าย ปรากฏว่าเปอร์เซ็นต์การเข้าพักยังน้อย แต่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาให้สบายใจขึ้น ขณะที่ห้องพักราคาถูกมาก

ยกตัวอย่าง โรงแรมบียอนด์ รีสอร์ท กะตะ มี 2 ตึก แต่เปิดให้บริการเพียง 1 ตึก ส่วนพนักงานจากเดิมมี 300 คน ปัจจุบัน 60-70 คน ขณะเดียวกัน บางกลุ่มมองว่าการเปิดแซนด์บอกซ์ เจ้าของโรงแรมได้ประโยชน์ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ โรงแรมที่เปิดบริการได้รับอานิสงส์แต่ไม่มาก

นอกจากนี้เรามองว่า ถ้าภูเก็ตแซนด์บอกซ์เดินได้ โรงแรมที่เขาหลักน่าจะเริ่มมีรายได้ จากช่วงที่ผ่านมาโรงแรมที่เขาหลักไม่มีแขกเลย ดังนั้นต้องเดินหน้าโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ต่อ ต้องช่วยประคองกันไป เพื่อรอช่วงเดือนตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม ที่ปกติเป็นช่วงไฮซีซั่นที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามา

ตอนนี้ยังมีความหวังจากนักท่องเที่ยวรัสเซีย ที่กระทรวงสาธารณสุขอนุมัติให้คนที่ได้รับการฉีดวัคซีน “สปุตนิก วี” เข้ามาโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ได้ ซึ่งนักท่องเที่ยวรัสเซียจะบินแบบเช่าเหมาลำเข้ามา ถ้าเข้ามาประมาณ 30-50% คิดว่าโชคดีแล้ว และคิดว่าคนรัสเซียที่เข้ามาจะช่วยกระจายรายได้ไปตามโรงแรมต่าง ๆ

ภูเก็ตวิกฤตกระทบทั้งห่วงโซ่

“คุณธันยรัศม์” เล่าว่า “เคยมีซินแสดูดวงคนหนึ่งบอกว่า ภูเก็ตจะเป็นรถไฟขบวนสุดท้ายของประเทศไทย ถ้าภูเก็ตไปไม่รอด ประเทศไทยก็ไม่รอด เพราะภาคการท่องเที่ยวไม่ใช่รายได้เฉพาะโรงแรม แต่มันกระจายเกี่ยวพันเป็นห่วงโซ่ไปเกือบทุกอาชีพ อาทิ แม่ค้า คนขับรถแท็กซี่ได้รับผลกระทบเสียหายไปเป็นลูกโซ่

“ยกตัวอย่างวัตถุดิบที่นำมาทำอาหารในโรงแรม เช่น ไข่ไก่ ภูเก็ตไม่มีแหล่งผลิตเอง ต้องสั่งมาจากกรุงเทพฯ อย่างเครือกะตะกรุ๊ปเคยซื้อผลไม้จ่ายเดือนละแสนกว่าบาท ตอนนี้เหลือไม่กี่พันบาทต่อเดือน”

ตอนนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ โรงแรมในภูเก็ตที่มีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติ มีการปรับลดราคาห้องพักจากหลักหมื่นบาทเหลือพันกว่าบาท

เครือกะตะกรุ๊ปเองตอนนี้ก็เหนื่อย ไม่รู้จะสู้ไปได้นานแค่ไหน รายได้ลดลงมาเหลือประมาณ 5% เทียบรายได้ 100 บาทเหลือ 5 บาท เมื่อก่อนลูกค้าส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ เวลาชำระค่าใช้จ่ายจะโอนเงินมาจากต่างประเทศ

ซึ่งเราต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โรงแรม 1 แห่งจ่าย VAT ประมาณ 30-40 ล้านต่อปี แต่ปัจจุบันจ่ายไม่กี่หมื่นบาท ถ้าคิดโดยรวมโรงแรมทั้งเกาะภูเก็ตจะเหลือจ่ายภาษีกันเท่าไหร่

สะท้อนรายได้แต่ละโรงแรมลดลงไปจำนวนมาก แล้วกรมสรรพากรจะนำเงินจากตรงไหนไปให้รัฐบาล

สำหรับมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐออกมาช่วยผู้ประกอบการ เช่น โครงการพักทรัพย์พักหนี้ เท่าที่คุยกับผู้ประกอบการในวงการด้วยกัน มีทั้งที่สนใจ และไม่สนใจเข้าโครงการ ขณะที่แบงก์เองก็กลัวผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการก็กลัวแบงก์ยึดทรัพย์สิน แบงก์เองก็เลือกลูกค้าที่จะเข้าร่วมโครงการเช่นเดียวกัน

ส่วนเครือกะตะกรุ๊ปได้มีการศึกษาและมองว่าโครงการนี้ดี อนาคตอาจจะเข้าร่วม เนื่องจากเป็นลูกค้าชั้นดี หากเข้าร่วมโครงการ ธนาคารเสนอมาอาจจะคิดดอกเบี้ยเหลือ 1%

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของธนาคารที่ให้ลูกค้าแต่ละรายอาจจะให้ไม่เท่ากัน แล้วแต่ประวัติการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาด้วย บางโรงแรมต้องจ่ายให้กับธนาคาร 6-7%

สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือในโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ คือการจัดตั้งคนมาเป็น CEO แซนด์บอกซ์ โดยเฉพาะ เนื่องจากที่ผ่านมาเวลามีปัญหาเกิดขึ้น ภาคเอกชนในภูเก็ตต้องวิ่งไปประสานเรื่องต่าง ๆ

หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในความเป็นจริงควรจะมีการแต่งตั้งคนที่รับผิดชอบเพื่อไปประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้ ไม่ใช่ให้ทางภูเก็ตต้องไปวิ่งประสานกับกระทรวงต่าง ๆ เอง

ต่างชาติจีบซื้อ รร.ภูเก็ต-สมุย

“คุณธันยรัศม์” ยอมรับว่า ภาระหนักที่แต่ละโรงแรมแบกรับกันอยู่ทำให้ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการบางส่วนประกาศขายโรงแรม ขณะเดียวกันมีกองทุนทั้งจีน สิงคโปร์ ให้ความสนใจในการซื้อกิจการโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต

และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นอย่างมาก เพราะมองว่าเป็นทำเลที่มีศักยภาพในอนาคต หากการท่องเที่ยวฟื้นกลับมามันก็เป็นโอกาส หากจะซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงแรมเอง เช่น หาดป่าตอง ตอนนี้โลเกชั่นที่จะสามารถสร้างได้ก็ไม่มีแล้ว

“เครือกะตะกรุ๊ปเองไม่ได้มีการบอกขายกิจการเลย แต่มีกองทุนติดต่อเข้ามาเสนอขอซื้อ โดยนักลงทุนต่างชาติสนใจเลือกซื้อที่เป็นโรงแรม 4-5 ดาว พร้อมเข้าบริหาร แต่ตอนนี้ยังไม่มีการซื้อขายเป็นรูปธรรม

ตอนนี้เจ้าของโรงแรมทุกรายคงคิดเหมือน ๆ กัน หากมีใครเสนอราคาที่ดี เราอาจสนใจพิจารณา อย่างไรก็ตาม อนาคตน่าเป็นห่วงโรงแรมที่อยู่ในมือคนไทยน่าจะเหลือน้อย

“มีคนจีนลงพื้นที่เดินสำรวจโรงแรมเจาะจง 3 ทำเลหลักแถวชายหาดป่าตอง หาดกะตะ หาดกะรน ของจังหวัดภูเก็ต และมีความสนใจโรงแรมของเรา เขาก็ติดต่อจะขอซื้อ

แต่เราก็ไม่อยากจะขาย กว่าเราจะกู้ธนาคารมา กว่าจะผ่อนหมดเราก็เสียดาย ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากให้ไปอยู่ในมือของต่างชาติ

เป็นเรื่องพิจารณาก่อนหน้าที่เราเคยพูดในสภาเกี่ยวกับกรณีการเสียภาษีว่า หากโรงแรมที่มีเจ้าของเป็นคนไทยมีหนี้ 200 ล้าน ก็ต้องไปจ่ายแบงก์ชาติ 7%

แต่ถ้าเป็นโรงแรมที่ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ ไม่จำเป็นต้องโอนเงินทั้งหมด 200 ล้าน เข้ามาในประเทศไทย เจ้าของต่างชาติอาจจะโอนเพียง 100 ล้านบาท

เพื่อจ่ายแค่ค่าใช้จ่ายภายในโรงแรม ส่วนที่เหลือเขาจ่ายกันที่เมืองนอก รายได้จากนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาเข้าประเทศแค่นิดเดียว

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือรายได้จากการท่องเที่ยว มีสัดส่วนเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ซึ่งมันมีแต่ตัวเลข แต่เงินไม่เข้าประเทศเลย และเวลาเกิดเหตุการณ์น้อยมากที่โรงแรมต่างชาติจะเข้ามาช่วยเหลือภูเก็ต แต่กลายเป็นภาระของคนภูเก็ตท้องถิ่น”