ผู้เลี้ยงหมูอ่วมต้นทุนยาฆ่าเชื้อ-วัตถุดิบขยับขึ้น 10 บาท/กก.

ผู้เลี้ยงหมูใต้อ่วม ต้นทุนการผลิตขยับขึ้น 67 บาท/กก. ส่วนราคาขายหมูเป็น 50 บาทเศษ/กก. ราคาวัตถุดิบขยับขึ้นทุกตัว ทั้งโปรตีน วิตามิน เฉลี่ยประมาณ 10 บาท/กก. โควิดยอดบริโภคหาย 30 เปอร์เซ็นต์ขั้นต่ำ ส่งผลชะลอเลี้ยง 40% เปิดจุดพ่นยาฆ่าเชื้อป้องกัน “โรคอหิวาต์แอฟริกัน” หรือ ASF สุกรพัทลุง

นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะการเลี้ยงสุกรภาคใต้ได้หดตัวประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ จากภาพรวมสุกรประมาณ 1.2 ล้านตัว

เนื่องจากการระบาดของโรคเพิร์สในสุกร ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ราคาหมูขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มได้ขยับลงมาอยู่ที่กว่า 50 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนการผลิตขยับขึ้นที่ 67 บาท/กก. ส่งผลให้ผู้เลี้ยงต้องประสบภาวะขาดทุนมาหลายเดือนแล้ว

“สถานการณ์การเลี้ยงสุกรต้องประสบภาวะขาดทุนมาหลายเดือนแล้ว โดยเฉพาะผู้เลี้ยงที่ซื้อลูกสุกรมาขุนจะประสบขาดทุนมาก แต่ผู้เลี้ยงที่มีแม่พันธุ์ผลิตลูกสุกรเอง จะประสบการขาดทุนปริมาณน้อยกว่า ตอนนี้ทุกคนต่างชะลอการลงทุนรอดูสถานการณ์ ทั้งจากโรคเพิร์สในหมู และจากโรคโควิด-19

ส่วนภาวะการตลาดก็เช่นกัน ได้หดตัวลงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นขั้นต่ำ จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ประเทศต้องล็อกดาวน์ มีการปิดตลาด ร้านค้า ฯลฯ ส่งผลต่อการผลิต การซื้อขาย การบริโภคและอีกประการในการส่งออกไปยังต่างประเทศ

เช่น ประเทศกัมพูชา เวียดนาม ก็ต้องชะลอตัว แต่การคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาลน่าจะมีการขับเคลื่อนได้ มีการซื้อขายเกิดขึ้น แต่คงไม่มากนัก เพราะผู้บริโภคกำลังซื้อยังอ่อนตัวอยู่มาก”นายปรีชากล่าว

สำหรับผู้เลี้ยงสุกร จ.พัทลุง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทำให้มีรายได้จากการทำสวนมาชดเชยรายได้จากการเลี้ยงสุกรที่ขาดทุน

แหล่งข่าวจากฟาร์มสุกรรายใหญ่ จ.พัทลุง เปิดเผยว่า สถานการณ์สุกรยังประสบปัญหาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2564 จากโรคระบาดจากไวรัส เฉพาะทางภาคใต้ก็ยังมีอยู่ในพื้นที่บางจังหวัด

เช่น จ.ชุมพร เป็นต้น ได้ส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงสุกรมาก และประการสำคัญ วัตถุดิบสุกร อาหาร โปรตีน วิตามิน และทุกตัวต่างขยับราคาขึ้นมาตลอด ไม่มีแนวโน้มทางลง อาหารสุกรทุกตัวปรับราคาขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 10 บาท/กก. ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสุกรขยับขึ้นจาก 57-58 บาท/กก. เป็น 67 บาทต่อ กก.

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า ส่วนราคาสุกรที่ประกาศขายของสมาคมการค้าเลี้ยงสุกรภาคใต้ อยู่ที่ 69 บาท/กก. แต่ราคาที่ซื้อขายจริงประมาณ 62 บาทและ 63 บาท/กก. และราคาส่งออก ประมาณกว่า 50 บาท/กก.

และยังส่งออกยากมาก และการค้าขายก็ยาก เพราะต้องมีวิธีการหลายขั้นตอน ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด และตรวจฟาร์มสุกร ค่าต้นทุนตรงนี้ไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท/ครั้ง ประเภทส่งออกรายย่อย 20 ตัว ก็ต้องประสบภาวะขาดทุน แต่หากส่งออกเป็นลอตขนาด 100 ตัว สามารถเฉลี่ยได้

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับผู้เลี้ยงรายเล็ก รายย่อยประสบปัญหาหนัก แต่รายขนาดใหญ่ไม่ประสบปัญหา เพราะมีอาหารวัตถุดิบสุกรเก็บสต๊อกไว้ในโกดัง และซื้อวัตถุดิบปริมาณมากได้ส่วนลด ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไม่สูง

“ตอนนี้ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย รายเล็ก รายขนาดกลาง ต้องประสบภาวะขาดทุนประมาณ 10 บาท/กก. ถ้ามีสุกรในฟาร์มประมาณ 200 ตัว ขนาดตัวละ 100 กก. จะขาดทุนตัวละประมาณ 1,000 บาท จำนวน 200 ตัว ก็จะขาดทุน 200,000 บาท/รุ่น รุ่นละ 4 เดือน และเมื่อครบ4 เดือน จำเป็นต้องขายออก เพราะหากเลี้ยงสุกรขนาดใหญ่จะบริโภคอาหารปริมาณมาก ต้นทุนการผลิตจะเพิ่มขึ้นอีก จึงจำเป็นต้องออกขาย เพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด”

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชรนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง (อบจ.) เป็นประธานในพิธีเปิดจุดทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ในพื้นที่ จ.พัทลุง โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการเลี้ยงสุกรของจังหวัดพัทลุง ได้ร่วมกันจัดขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อการทำความสะอาด ทำลายเชื้อให้แก่ยานพาหนะทุกคันที่จะต้องเข้าไปในฟาร์มสุกรทุกพื้นที่ สถานที่เกี่ยวกับธุรกิจการเลี้ยงสุกรของจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงและโอกาสของการเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรตามพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดพัทลุงได้

และหลังจากนี้จะมีการจัดตั้งจุดดังกล่าวเพิ่มขึ้น ในพื้นที่ อ.ป่าบอน จ.พัทลุง รอยต่อ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อีกแห่งหนึ่ง

ทั้งนี้ จากการระบาดของโรคดังกล่าวในประเทศไทย ในปี 2563 ได้มีการระบาดในสุกรในหลายจังหวัดของประเทศไทย จนทำให้มีสุกรป่วยและตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมาก

สำหรับในพื้นที่ จ.พัทลุง มีสุกรที่ติดเชื้อดังกล่าว และเสียชีวิตไปบ้างแล้วเช่นกัน

ทางด้านนายสมศักดิ์ จิตตวิสุทธิวงศ์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า จังหวัดพัทลุงเป็นพื้นที่ที่เลี้ยงสุกรมากเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ และเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ โดยในปี 2563 มีมูลค่าสัตว์มีชีวิตที่เคลื่อนย้ายออกจากจังหวัดพัทลุง เป็นเงินมากกว่า 5,464 ล้านบาท