หอการค้าเหนือเร่งรับมือ PM2.5 ปี’65 จี้มาตรการกีดกันการค้าแก้ฝุ่นข้ามแดน

ไฟป่า-เผาป่า

หอการค้า 17 ภาคเหนือผนึกสภาลมหายใจภาคเหนือ เร่งรับมือวิกฤต PM 2.5 ปี’65 ผลักดัน 8 แนวทางแก้ไขผ่านกลไก กรอ.จังหวัด และกลุ่มจังหวัด พร้อมเสนอบรรจุหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษาปัญหามลพิษทางอากาศไว้ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน พร้อมเร่งกระบวนการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน จี้นำมาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุนที่กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

นายสมบัติ ชินสุขเสริม ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หอการค้าจังหวัดภาคเหนือ และสภาลมหายใจภาคเหนือได้มีความร่วมมือระหว่างกันในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศฝุ่นควัน PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงราวเดือนมกราคม-พฤษภาคม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควันในปี 2565

จำเป็นต้องเร่งวางแนวทางแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ โดยหอการค้าภาคเหนือจะผลักดันให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจนผ่านข้อเสนอเชิงนโยบาย 8 ข้อที่สำคัญ ได้แก่

1.การให้ความสำคัญกับดัชนีชี้วัดทางสุขภาพ โดยเฉพาะตัวเลขประชาชนที่ป่วยจากปัญหาฝุ่นควันภายในแต่ละจังหวัดจนนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจ เพื่อประเมินสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น กลาง และยาว

2.การปรับเปลี่ยนวิธีจัดการไฟในเขตป่า หาสาเหตุข้อปัญหาอุปสรรคของสถิติการเกิดไฟในพื้นที่ป่าของรัฐทั้งสองส่วนอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดชุดมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพขึ้น

3.การบริหารจัดการเผาในพื้นที่เกษตร เร่งรัดทุกมาตรการ เปลี่ยนการเผาภาคเกษตรให้เป็นวิธีการอื่นที่ยั่งยืน

4.การจัดแผนโซนนิ่งพื้นที่เกษตรที่สูง โดยขอให้มีแผนโซนนิ่งพื้นที่เกษตรที่สูงทั้งหมดในภาคเหนือ เปลี่ยนจากการเกษตรใช้ไฟไม่ยั่งยืนให้เป็นเกษตรนิเวศยั่งยืน โดยมีแผนมาตรการร่วมกับชุมชนท้องถิ่น

5.การบริหารจัดการเชื่อมโยงกับชุมชนและท้องถิ่น ผลักดันให้เกิดกระบวนการเพิ่มบทบาทของชุมชนท้องที่และท้องถิ่นในการร่วมออกแบบวางแผน กำหนดมาตรการระดับพื้นที่ สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี

6.การจัดหาเครื่องวัดคุณภาพอากาศที่ครอบคลุมพื้นที่ โดยเพิ่มจำนวนเครื่องวัดคุณภาพอากาศในทุกตำบล ครอบคลุมทั้งภาคเหนือ

7.การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหา โดยเชื่อมโยงกับภาควิชาการและมหาวิทยาลัยในพื้นที่

8.การเร่งกระบวนการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน โดยนำมาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุนที่กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแบบค่อยเป็นค่อยไป หากการขอความร่วมมือยังไม่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ

นายสมบัติกล่าวต่อว่า ความร่วมมือครั้งนี้ได้ยกระดับการสร้างกลไกผลักดันระดับภาคและระดับจังหวัด เพื่อผลักดันเชิงนโยบาย อาทิ การบรรจุหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษาไว้ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน,

การผลักดัน การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศฝุ่นควัน โดยใช้กลไกของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)จังหวัด และกลุ่มจังหวัด, คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดและกลุ่มจังหวัด เป็นต้น

ปัจจุบันได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมหอการค้าจังหวัดภาคเหนือ และสภาลมหายใจภาคเหนือร่วมกัน โดยกำหนดให้มีตัวแทนหอการค้าจังหวัด และ YEC หอการค้าจังหวัดเข้าร่วมผลักดันและสนับสนุนการดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพในพื้นที่ เช่น โครงการให้ความรู้การสู้ฝุ่นในระดับโรงเรียน เป็นต้น

ด้านนายวิทยา ครองทรัพย์ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนกิจกรรมเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ และผู้แทนสภาลมหายใจภาคเหนือ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการลงนามความร่วมมือสภาลมหายใจภาคเหนือในระดับ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนเห็นว่าควรจะมีการประสานเครือข่ายภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของภาคเหนือร่วมกัน

เป็นที่น่ายินดีที่ได้รับการตอบรับจากคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย ที่ประกอบด้วย หอการค้า 17 จังหวัดภาคเหนือที่ให้ความสำคัญและมองว่าเป็นประเด็นที่สร้างผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ รวมถึงเยาวชนในพื้นที่ในอนาคตร่วมกัน

โดยจะได้ผลักดันโครงการนำร่อง ได้แก่ โครงการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้รู้เท่าทันกับปัญหาสาเหตุและผลกระทบ เพื่อจะได้ผลักดันการแก้ไขที่ถูกทางต่อไปในทุกจังหวัดให้เป็นทิศทางเดียวกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ ได้มีการหยิบยกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลไกการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ในภาคเหนือ ได้แก่ การบริหารจัดการเชิงโครงสร้างทั้งกายภาพและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน การปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ที่ใช้ไฟในการเผาวัสดุทางการเกษตร การผลักดันการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน การใช้กลไกการแก้ไขปัญหาผ่านระดับตำบล

การนำศักยภาพในพื้นที่มาสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหา ลดการเผาพื้นที่แปลงใหญ่ข้ามคืนเป็นต้น ทั้งนี้ ทางคณะทำงานร่วมกันทั้งสองจะได้วางแผนและดำเนินการผลักดันแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องต่อไป