“สมุทรสาคร” จังหวัดแรกในไทย ติดเครื่องวัดอากาศทุกตำบล

ฝุ่น PM 2.5 (3)

“สมุทรสาคร” ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 หนักในช่วงปลายปีต้นปี โดยเฉพาะบริเวณริมถนนคู่ขนานพระราม 2 อ.เมืองสมุทรสาคร ค่าดัชนีคุณภาพอากาศพุ่งสูงเกินค่ามาตรฐาน ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งต้นตอของปัญหาไม่ชัดเจนว่า มาจากการจราจรหนาแน่น การก่อสร้าง หรือมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีกว่า 6,000 แห่งทั่วจังหวัด

นายสุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ประธานบริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมืองฯเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นจากการรวมตัวของนักธุรกิจในจังหวัด 20 คน ลงหุ้นคนละ 1 ล้านบาท

เพื่อทำงานช่วยเหลือสังคม มีการหารือกันว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของคนในจังหวัด จึงอยากเข้ามาช่วยหาแนวทางในการแก้ปัญหา

จึงคิดว่า หากมีการติดตั้งเครื่องวัดอากาศให้ได้ทุกตำบลในจังหวัด ซึ่งมีทั้งหมด 40 ตำบล อย่างน้อยก็น่าจะสามารถทราบต้นตอของปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้นได้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เข้าไปแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

จากปัจจุบันทั้งจังหวัดมีเครื่องวัดคุณภาพเพียง 2 เครื่อง ของกรมควบคุมมลพิษ ติดตั้งอยู่บริเวณอำเภอเมืองและอำเภอกระทุ่มแบน

ที่ผ่านมาบริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมืองฯได้รับเงินทุนสนับสนุนจากทางมูลนิธิกำลังใจ ซึ่งก่อตั้งโดย ดร.ละมูล ลือสุขประเสริฐ จัดทำโครงการติดเครื่องวัดอากาศตำบลละ 1 เครื่องทั่วจังหวัดทั้งหมด 40 เครื่อง ราคาเครื่องละ 44,000 บาท

ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทยที่มีการติดเครื่องวัดครบทุกตำบล ตอนนี้ดำเนินการติดตั้งไปแล้วประมาณ 10 กว่าตำบล คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนติดตั้งครบทุกพื้นที่

“เดิมที่จังหวัดสมุทรสาครมีเพียง 2 เครื่อง ติดที่อยู่อำเภอเมืองและอำเภอกระทุ่มแบน ซึ่ง 2 จุด รู้เพียงค่าอากาศ แต่ไม่สามารถบอกจุดต้นตอสาเหตุของปัญหาได้ว่าเกิดขึ้นจากตรงไหน ถ้าติดทุกตำบล

เราก็จะทราบได้ว่าสถานที่ตรงไหนมีปัญหา จะได้เข้าช่วยกันแก้ไขได้ เครื่องวัดอากาศตำบลละ 1 เครื่อง จำนวน 40 เครื่อง คิดเป็นเงินรวมประมาณ 1,760,000 บาท

จังหวัดสมุทรสาครจะเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทย และเป็นจังหวัดนำร่องที่ติดเครื่องวัดอากาศทุกตำบล เพื่อแนวทางให้กับหน่วยงานภาครัฐ อาจจะขยายผลติดตั้งเพิ่มในแต่ละตำบล”

ทั้งนี้ได้มีติดต่อประสานกับทางจังหวัด เพื่อติดต่อกับทางองค์บริหารส่วนตำบล (อบต.) และให้ทาง อบต.เลือกจุดในการติดตั้ง และคาดว่าแต่ละ อบต.จะซื้อเพิ่ม เพราะจะได้ครอบคลุมพื้นที่ เพราะ 1 เครื่อง ไม่สามารถควบคุมพื้นที่ได้หมด

อย่างไรก็ตาม การติดเครื่องวัดอากาศ 40 เครื่อง แม้จะไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด แต่ถือว่าเป็นการกระตุ้น และเป็นการนำร่องให้ภาครัฐได้เห็นความสำคัญจากการติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศแล้ว

ตอนนี้สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น air sense เพื่อดูข้อมูลได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ เพื่อให้มีการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในลักษณะเครือข่าย ในการแก้ปัญหาคุณภาพอากาศของจังหวัดต่อไป

นอกจากนี้ บริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมืองฯมีโครงการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อพัฒนาเมือง โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตนเอง ซึ่งได้มีการเลือกพื้นที่นำร่องคือ ตำบลท่าฉลอม

เนื่องจากเคยมีประวัติศาสตร์เป็นสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรก และเป็นชุมชนที่เก่าแก่ เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ และได้มีการตั้งเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า บ้านท่าฉลอม ซึ่งโครงการนี้ได้มีการก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2561 หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง คงจะได้ผลักดันเรื่องการท่องเที่ยวกันต่อไป