ลำไยราคาดิ่ง! “จันทบุรี-เชียงใหม่” อ่วม ล้งจ่ายเช็คเด้ง

ลำไยนอกฤดูจันทบุรีเจอ 2 เด้ง ผลผลิตล้นราคาดิ่ง-ล้งเช็คเด้ง ทิ้งสัญญาเลือกเก็บเบอร์ 1, 2 ป้อนตลาดจีน อ้างตลาดตาย ลำไยไร้คุณภาพ ชาวสวนกว่า 300 ราย บุกทวงเงิน “หงษ์จิ่ว ไท้จง เม๊ายี่” ลุ้น 3 สัปดาห์จ่ายเงินครบ

นายคมศักดิ์ หลิวทวีศรีประกาย นายกสมาคมชาวสวนลำไยจังหวัดจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ลำไยนอกฤดูผลิตเพื่อส่งออกลำไยผลสดป้อนตลาดจีนทั้งหมด ซึ่งจำหน่ายได้ราคาสูงมาตลอด แต่ขณะนี้เกษตรกรชาวสวนลำไยนอกฤดูกำลังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาราคาลำไยตกต่ำ และไม่มีตลาดระบาย เนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นมากและออกมาประดังในช่วงปลายเดือนตุลาคม-ธันวาคม อีกทั้งเจอปัญหาคุณภาพลำไย เนื่องจากฝนตกทำให้ผิวลำไยไม่สวย ตกเกรด ราคาต่ำ บางสวนปล่อยทิ้ง หรือขายเป็นลำไยร่วงกิโลกรัมละ 6-7 บาท ล่าสุดยังประสบปัญหาล้งขอลดราคาและทิ้งสวน โดยอ้างว่าต้องการซื้อเฉพาะลำไยคุณภาพเบอร์ 1 และ 2 ตามความต้องการของตลาดจีนเท่านั้น สร้างความเสียหายให้เกษตรกรชาวสวนลำไยอย่างหนัก

นายชรัตน์ เนรัญชร ผู้ช่วยเลขาธิการหอการค้าจังหวัดจันทบุรี เจ้าของสวนลำไย อ.สอยดาว จ.จันทบุรี กล่าวว่า ปีนี้ผลผลิตลำไยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 25% ทำให้ลำไยล้นตลาด และมีลำไยที่ไม่ได้คุณภาพออกสู่ตลาดจีนด้วย ทำให้พ่อค้าจะเลือกซื้อเฉพาะลำไยคุณภาพ ส่วนลำไยที่ถูกคัดออกเป็นเกรด 3 และ 4 ถูกกดราคาต่ำมาก จากกิโลกรัมละ 35-40 บาท เหลือ 20-25 บาท และอาจจะถูกตีเป็นลำไยร่วงตกเกรดเหลือกิโลกรัมละ 3-8 บาท

ด้านนายสุชาติ จันทร์เหลือง หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจันทบุรี กล่าวว่า ลำไยของ จ.จันทบุรีทำรายได้อันดับ 2 รองจากทุเรียน อยู่ที่ 11,000 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลประมาณการผลผลิตปี 2560 อยู่ที่ 328,458 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีจำนวน 296,275 ตัน เพิ่มขึ้น 32,183 ตัน หรือร้อยละ 10 โดยผลผลิตจะออกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ จำนวน 221,000 ตัน หรือ 69% ซึ่งปกติช่วงพีกสุดที่ลำไยจะออกสู่ตลาดมากถึง 70% ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ประกอบกับปีนี้มีลำไยนอกฤดูภาคเหนือออกมาพร้อมกันด้วย

สำหรับราคาเหมาในสวนเฉลี่ยกิโลกรัมละ 38-45 บาท ส่วนใหญ่ล้งจะเลือกซื้อเบอร์ 1 และ 2 ซึ่งเป็นลำไยเกรดคุณภาพมีปริมาณราว 10% ราคากิโลกรัมละ 40-50 บาท แต่ที่เป็นปัญหาตอนนี้คือ ลำไยเบอร์ 3 และ 4 มีขนาดเล็ก ไม่สวย พ่อค้าบางล้งจึงซื้อรวมกับลำไยร่วงเพียงกิโลกรัมละ 3-5 บาทเท่านั้น ปัจจุบันมีล้งรับซื้อลำไย 50 ล้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.จันทบุรี ว่า ขณะนี้เกษตรกรชาวสวนลำไยเจอปัญหาการจ่ายเงินของล้ง หรือเช็คเด้ง โดยชาวสวนลำไยประมาณ 300 ราย ที่ทำสัญญาซื้อขายกับบริษัท หงษ์จิ่ว ไท้จง เม๊ายี่ จำกัด ที่อำเภอโป่งน้ำร้อน ได้รวมตัวกันไปเรียกร้องให้บริษัทจ่ายเงินตามสัญญา ซึ่งตัวแทนบริษัทชาวจีนได้ชี้แจงผ่านล่ามคนไทยว่า บริษัทยอมรับเรื่องเช็คเด้ง โดยมีสาเหตุ 2 ประการ คือ การค้าลำไยประสบภาวะขาดทุนมาก เพราะซื้อในราคาที่สูงกว่าบริษัทอื่น ๆ และเรือที่ขนส่งลำไยต้องลอยลำอยู่ในทะเลเพื่อรอราคาตลาด จึงทำให้เงินหมุนเวียนไม่ทัน รวมทั้งการจดทะเบียนชื่อบริษัทใหม่และนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ยังไม่เสร็จเรียบร้อย

นอกจากนั้นยังชี้แจงอีกว่า บริษัทเริ่มทยอยจ่ายเงินให้ชาวสวนคู่สัญญาที่ได้รับเช็คเด้งแล้ว คาดว่าภายใน 3 สัปดาห์จะจ่ายได้ครบแน่นอน ส่วนคู่สัญญาที่เก็บลำไยเสร็จในช่วงนี้และระยะถัดไปจากนี้จะได้รับเงินภายใน 2 เดือน

นายอรรธวุฒิ เวชปรีชา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 ต.คลองใหญ่ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ตัวแทนชาวสวนลำไยที่เข้าประชุม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า บริษัท หงษ์จิ่ว ไท้จง เม๊ายี่ จำกัด เป็นบริษัทใหญ่อันดับต้นของจังหวัดจันทบุรีที่เข้ามาซื้อลำไย 2-3 ปีมาแล้ว มีลูกค้าจำนวนมากทั้งรายเล็ก-รายใหญ่ในพื้นที่ อ.โป่งน้ำร้อนและ อ.สอยดาว และซื้อโดยการจ่ายเช็คล่วงหน้า 3 เดือน ซึ่งไม่เคยมีปัญหาหยุดซื้อ หรือค้างเงินชำระ แต่ปีนี้บริษัทอ้างว่าตลาดจีนไม่ซื้อ ตลาดไม่เดิน และบริษัทอยู่ในระหว่างการนำเข้าตลาดหลักทรัพย์

ตอนนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อใจว่าจะได้เงินตามกำหนดครบถ้วนหรือไม่ และเกษตรกรจำนวนมากที่ทำสัญญาไว้กับบริษัทอื่นอีกหลายราย ที่ยังไม่ได้เก็บผลลำไยช่วงเดือน พ.ย. 60-มี.ค. 61

“ปัญหาเรื่องล้งผิดสัญญายังคงมีอยู่แบบเดิม ๆ ทั้งขอลดราคา ไม่มาเก็บตามสัญญา เลือกเก็บเฉพาะเบอร์สวย ทิ้งสวน หรือขอเงินมัดจำ แต่รุนแรงที่สุดในปีนี้คือเช็คเด้ง ฉะนั้นการทำสัญญาระหว่างล้งกับเกษตรกรควรมีเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานภาครัฐร่วมอยู่ด้วย เพราะวงเงินสูงตั้งแต่ 3 แสนถึง 15 ล้านบาท” นายอรรธวุฒิกล่าว

ด้านนางกาญจนา พงศ์พฤกษทล รองประธานกรรมการ บริษัท อาร์.เค.ฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกลำไยอบแห้งทั้งเปลือกรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปลูกลำไยนอกฤดูในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนขยายตัวมากขึ้นในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีตลาดจีนรับซื้อเพียงตลาดเดียว

“สถานการณ์ปีนี้ ลำไยนอกฤดูอยู่ในสภาวะตลาดตาย ผลผลิตออกมาปริมาณมาก ทำให้ไม่สามารถขายได้เร็ว ด้วยเพราะเป็นผลลำไยสด เมื่อส่งออกไปจีนจึงมีระยะเวลาในการขาย”


นางกาญจนากล่าวอีกว่า บริษัทเน้นทำลำไยอบแห้งทั้งเปลือกในฤดู 100% มีตลาดส่งออกคือจีน ส่วนการทำลำไยอบแห้งทั้งเปลือกนอกฤดูมีสัดส่วนเพียง 25% ซึ่งปีนี้มีออร์เดอร์ลำไยอบแห้งทั้งเปลือกนอกฤดูจากจีนเข้ามา โดยลำไยเกรด AA รับซื้อกิโลกรัมละ 17.50-18 บาท เกรด A รับซื้อ 12 บาท/กก. และเกรด B รับซื้อ 9 บาท/กก. โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมารับซื้อลำไยนอกฤดู 5 หมื่นกิโลกรัม ขณะที่สามารถรับซื้อได้ถึง 3 แสนกิโลกรัม