ทุนญี่ปุ่นผวาน้ำท่วมใหญ่ 5 นิคมอุตฯอยุธยา สั่งเตรียมแผนเผชิญเหตุรับมือ

นักลงทุนญี่ปุ่นกังวลน้ำท่วมแถบอยุธยา หวั่นซ้ำรอยปี’54 ด้านสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเผย 5 นิคมอุตสาหกรรมใหญ่ “นครหลวง-โรจนะ-ไฮเทค-บางปะอิน-แฟคตอรี่แลนด์” เตรียมแผนเผชิญเหตุตั้งรับกรณีเลวร้ายที่สุด (worst case scenario)

วันที่ 27 กันยายน 2564 นางสาวบงกช แจ่มทวี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีพายุเตี้ยนหมู่ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดขณะนี้ ได้สร้างความกังวลใจให้ผู้ประกอบการไทย และนักลงทุนต่างชาติมาก โดยเฉพาะโรงงานของญี่ปุ่นได้มีการสอบถามข้อมูลเข้ามา เนื่องจากเคยประสบปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อปี 2554

ตอนนี้ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดได้ติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อน และได้รับแจ้งข้อมูลจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดวันละหลายรอบ แต่ขณะเดียวกันภาคเอกชนได้เตรียมตั้งรับกรณีเลวร้ายที่สุด (worst case scenario) โดยการเตรียมแผนการบริหารความพร้อมในสภาวะวิกฤต (BCP) แผนเผชิญเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นไว้

แม้ทางราชการได้แจ้งว่า ปริมาณน้ำในปีนี้ไม่เท่ากับปี 2554 ประกอบกับแต่ละนิคมอุตสาหกรรมได้ก่อสร้างสันเขื่อนไว้สูงประมาณ 5-6 เมตรตั้งแต่เกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้น รวมถึงมีการอุดรอยรั่วต่าง ๆ จะทำให้น้ำซึมเข้าไปในตัวนิคมได้ ซึ่งทั้งหมดทำให้มั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ ซึ่งทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นค่อนข้างมั่นใจ

“ผู้ประกอบญี่ปุ่นกังวลก็ถามผู้ประกอบการคนไทยว่าจะเอาอย่างไร เราเองเคยผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 กันมา ก็กังวลมีการติดตามสถานการณ์น้ำกันทุกวัน แม้ทางราชการจะบอกน้ำไม่มากเหมือนครั้งนั้น แต่ทุกคนไม่ได้นิ่งนอนใจ โซนนิคมของใครต่างช่วยกันดู น้ำจะไหลมาอย่างไร จะเข้าโซนพื้นที่เขาเมื่อไหร่ ได้มีการทำแผนการบริหารความพร้อมในสภาวะวิกฤตกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เส้นทางน้ำจะไหลมาจากนิคมนครหลวงก่อน ถัดมากี่นาทีถึงนิคมโรจนะ จะอีกกี่นาทีน้ำจะไหลมาถึงนิคมไฮเทค ตามด้วยนิคมบางปะอินจะรับต่อมา ชมรม องค์กรต่าง ๆ ของภาคเอกชนจะมีการสื่อสารกันตลอด เราต้องมอง worst case จะได้ตั้งรับได้ถูก” นางสาวบงกชกล่าว

นางสาวบงกชกล่าวต่อไปว่า ทางนายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับคำสั่งจากส่วนกลางแจ้งให้เตรียมรับสถานการณ์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทางจังหวัดได้แจ้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและประชาชนรับทราบตลอด ทั้งนี้ประสบการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 เป็นผลมาจากการบริหารจัดการน้ำด้วย ดังนั้น ทางจังหวัดได้มีการจัดทำแผนการบริหารจัดการเส้นทางไหลของน้ำไว้พร้อม โดยเฉพาะบริเวณที่เคยเป็นคอขวดต่าง ๆ ได้ตัดให้มีการไหลผ่านเส้นทางตรงได้สะดวก

ปัจจุบันจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดหลัก 5 แห่งออกเป็นของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 3 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 2.นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค บ้านหว้า 3.นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง ส่วนของเอกชนมี 2 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และ 2.นิคมอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์

มีโรงงานทั้งจังหวัดประมาณ 2,700 แห่ง โดยส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานต่างประมาณ 60% ซึ่งมีทั้งญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ และประเทศโซนยุโรป ตอนนี้นักลงทุนต่างชาติค่อนข้างให้ความสนใจกับการลงทุนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากมีสิทธิประโยชน์ในการลงทุนที่ค่อนข้างน่าสนใจ รวมถึงทางจังหวัดได้สร้างความมั่นใจในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทำให้มีนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นมาก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลในตอนนี้คือภัยแล้งถึงแม้ฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วม แต่ฝนที่ตกคือตกท้ายเขื่อน ทำให้น้ำไม่ไหลลงเขื่อนเพื่อกักเก็บ ทางภาคเอกชนได้มีการวางแผนตั้งแต่ปี 2563 เพื่อหาวิธีการการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในช่วงเกิดปัญหาภัยแล้ง ซึ่งก็มีการขุดบ่อในนิคมด้วย ขณะเดียวกันจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถือว่าว่าเป็นทั้งเมืองเกษตรและอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นรัฐบาลควรให้ความสำคัญเท่า ๆ กัน

นายธนากร ตันติกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 27-28 กันยายนนี้ ร่องมรสุมจะเลื่อนลงพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อาจส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้น

วานนี้ (26 ก.ย. 64) ได้ทำการตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จังหวัดนครสวรรค์ พบว่ามีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,320 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ระดับ +16.41 ม.รทก. ระดับท้าย +15.15 ม.รทก. ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 2,349 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จังหวัดนครสวรรค์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กรมชลประทานมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน คาดว่าจะระบายน้ำเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 2,450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน บริเวณตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ ตำบลบ้านกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง ตำบลบ้านแพน อำเภอเสนา ตำบลบ้านคลัง ตำบลบางชะนี ตำบลวัดยม ตำบลมหาพราหมณ์ ตำบลไทรน้อย ตำบลกบเจา ตำบลสะพานไทย ตำบลบางหัก ตำบลบางหลวงโดด ตำบลบางหลวง ตำบลท่าช้าง ตำบลวัดตะกู ตำบลน้ำเต้า อำเภอบางบาล ตำบลบ้านแป้ง ตำบลกระแชง อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้ระดับเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีก 0.90 เมตร ในช่วง 2-3 วันนี้

ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ จึงแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น งานก่อสร้าง เขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้ยกของขึ้นบนที่สูง

นอกจากนี้ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ดูแลพระตำหนักสิริยาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา หากมีการปรับการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มากกว่า 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยาจะแจ้งให้ทราบต่อไป