โรงพยาบาลม.วลัยลักษณ์ เปิดรับผู้ป่วยเเล้ว เตรียมพัฒนาต่อเนื่อง เสร็จสมบูรณ์ ปี64

โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช เปิดให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา แต่ยังไม่เต็มรูปแบบ พร้อมพัฒนาต่อเนื่องจนเสร็จสมบูรณ์ในปี 2564

ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ รับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้แล้ว โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นบุคลากรของ ม.วลัยลักษณ์ และได้เริ่มรับผู้ป่วยจากภายนอกเข้ามารับการรักษาแล้วเช่นกันในช่วงระยะ 9 เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้เปิดรับขึ้นทะเบียนการจ่ายตรงสำหรับข้าราชการด้วย

“ความคืบหน้าของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 30% มีความคืบหน้าไปเรื่อย ๆ ในปี 2562 อาคารต่าง ๆ จะก่อสร้างแล้วเสร็จ และปี 2563 จะมีการตกแต่งภายใน หลังจากนั้นในปี 2564 จะเปิดอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบต่อไป ขณะนี้รับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาวันละ 50 คน มีการผ่าตัดเล็ก เปิดคลินิกนอกเวลา โดยจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั้งสิ้น 1 ล้านคนต่อปี”

สำหรับการรักษาผู้ป่วยในขณะนี้มีหลายแผนก รวมทั้งการรักษาโรคทั่วไป โรคตาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และในเดือนธันวาคม 2560 นี้จะเปิดแผนกอายุกรรม กุมารเวช สูตินรีเวช การรักษาเต้านม รักษาภูมิแพ้ ฯลฯ และจะมีการพัฒนาต่อเนื่องไปจนกว่าการก่อสร้างโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ จะแล้วเสร็จทั้งหมด ในขณะที่เครื่องมือทางการแพทย์นั้นมีความพร้อมและทันสมัยมาก และทีมอาจารย์แพทย์ยังมีการทำวิจัยโรคควบคู่กันไปด้วย

ทั้งนี้ ในอนาคตจะร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนบริการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ถือว่าเป็นโรงพยาบาลที่ประชาชนคาดหวังมาก และมั่นใจว่าโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ จะเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนในภาคใต้ตอนบน โดยมีแพทย์พยาบาลและบุคลากรที่มีคุณภาพ ต่อไปจะเป็นโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศ นอกจากจะรับการรักษาโรคแล้ว ทีมอาจารย์แพทย์ยังมีการทำวิจัยโรคควบคู่กันไปอีกด้วย

ด้านนายแพทย์จรัส จันทร์ตระกูล รักษาการแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ กล่าวว่า การสร้างศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ นอกจากจะรับการรักษาแล้ว ยังมีการสร้างงานสร้างอาชีพควบคู่กันไป โดยชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์แห่งนี้ และมั่นใจเป็นอย่างมากว่าจะทำให้เขตพื้นที่ อ.ท่าศาลา รวมทั้ง จ.นครศรีธรรมราช เศรษฐกิจจะดีขึ้นตามลำดับด้วย

“ในอนาคตจะมีบุคลากรไม่น้อยกว่า 30,000 คน หลังเปิดบริการอย่างเป็นทางการจะเพิ่มจำนวนเตียง 750 เตียง และเปิดให้บริการรักษาในระดับตติยภูมิ คือ ให้บริการดูแลรักษาโรคที่ซับซ้อน และใช้เครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงใหม่ล่าสุด รวมถึงการศึกษาวิจัยการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ด้วย มีการจัดศูนย์ความเป็นเลิศ 5 ด้าน คือ ด้านศูนย์หัวใจ, ศูนย์มะเร็ง, ศูนย์ผัวหนัง, ศูนย์ผู้สูงอายุ และศูนย์รับส่งผู้ป่วยจากโรงพยาบาลในเขตภาคใต้ตอนบน” นายแพทย์จรัสกล่าว